“Miss Universe Thailand 2021 goes to MUT 27 แอน แอนชิลี!”
ทันทีที่พิธีกรประกาศผลผู้ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 ชื่อของ แอน–แอนชิลี สก็อต–เคมมิส (Anchilee Scott-Kemmis) หญิงสาววัย 22 ปี ก็เป็นที่พูดถึงพร้อมเทรนด์ทวิตเตอร์ #MissUniverseThailand ที่ทะยานขึ้นอันดับ 1 ของประเทศ
เธอคือมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ของปีนี้ ที่ต้องเดินทางไปยังเวที Miss Universe 2021 ครั้งที่ 70 เวทีใหญ่ระดับโลกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ที่เมืองไอรัต ประเทศอิสราเอล และนั่นทำให้เธอเป็นนางงามที่มีเวลาน้อยมากในการเตรียมความพร้อมทุกด้าน
แต่ท่ามกลางเวลาอันรัดตัว The Momentum ก็มีโอกาสพิเศษ ได้พูดคุยกับแอนชิลีก่อนเธอจะบินไปยังอิสราเอล
แอนชิลีสร้างความประทับใจแรกให้กับพวกเราได้ไม่ยาก เธอปรากฏตัวด้วยรอยยิ้ม เปี่ยมด้วยความมั่นใจ และพร้อมตอบทุกคำถาม ไม่ว่าความเป็นมาในอดีต การเผชิญหน้ากับคำสบประมาทมากมายมหาศาลเกี่ยวกับเรือนร่างของเธอ รวมถึงความมุ่งมั่นที่น่าจะทำให้ผู้หญิงทุกคนที่ถูกตำหนิติติง กลับมามั่นใจและรักในตัวตนของตัวเอง
แอนชิลีไม่มีอะไรตรงตามค่านิยมไทยเลย but I don’t care.
เมื่อแอนชิลีกลายเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ แน่นอนที่ประวัติของเธอได้ถูกเล่าถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เธอเป็นเด็กสาวลูกครึ่งไทย–ออสเตรเลีย ที่เคยเป็นกัปตันทีมวอลเลย์บอลสองปี เป็นนักกีฬาในทีมบาสเกตบอลและซอฟต์บอลในโรงเรียนนานาชาติ ก่อนบินไปเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
หากใครที่เป็น ‘คอนางงาม’ หรือพอจะรู้เรื่องราวก่อนเข้าสู่เวทีมิสยูนิเวิร์สของแอนชิลีมาก่อน ก็คงจะรู้ลึกลงไปอีกว่า เธอมักถูกตำหนิเรื่องสรีระอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังเคยถูกให้ลดน้ำหนักกว่าสิบกิโลกรัม และไม่ใช่เพียงเรื่องของเรือนร่าง ความแตกต่างจากการที่ไม่ได้เป็น ‘ไทยแท้’ อันที่จริงคำคำนี้คืออะไรแน่ — ก็ยากจะนิยาม แต่มันก็สร้างความรู้สึกให้เธอกลายเป็น ‘คนนอก’ มาโดยตลอด
“ตอนอยู่ออสเตรเลียจะโดนเหยียดหน่อยๆ ว่าเรามีความเป็นเอเชีย แต่ถือว่ายังไม่โดนเยอะ เพราะเราก็เป็นลูกครึ่ง เป็นคนออสเตรเลียเหมือนกัน พอมาเมืองไทยก็โดนทักเรื่องภาษาแทนแบบประชดประชัน เช่น ‘อุ๊ย พูดภาษาไทยได้เหรอ’ หรือ ‘อุ๊ย เป็นลูกครึ่งพูดภาษาไทยชัดจังเลย’ แอนมองว่านี่อาจไม่ใช่การบูลลี่ แต่เป็นสิ่งที่ได้ฟังแล้วทำให้รู้สึกว่าเราไม่ใช่คนไทยแท้
“จริงๆ แอนว่ามันไม่เกี่ยวเลย เราเป็นคนไทย เราพูดไทยได้ บางคำอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ความเป็นไทยในตัวเราหายไปไหน ความเชื่อ ความคิดของเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทย ก็เป็นผลที่หล่อหลอมมาจากสังคมไทย เป็นคุณค่าที่แอนมีอยู่ในตัว”
ส่วนเรื่องรูปร่างที่ถูกตำหนิตอนอยู่ไทย บางทีครอบครัวฝั่งไทยมักทักเรื่องรูปร่าง อ้วนขึ้นบ้าง ผอมลงบ้าง ซึ่งแอนรู้สึกว่าไม่ต้องพูดถึงรูปร่างเราก็ยังมีเรื่องอื่นให้คุยกันได้อยู่นะ แต่อาจเพราะเขาไม่เคยโดน เขาเลยไม่รู้ว่ามันเจ็บขนาดไหน
“แอนคิดว่าคนที่ไม่เคยโดนมาก่อนจะไม่ค่อยเข้าใจว่าเมื่อถูกติ จิตใต้สำนึกเราจะคิดเรื่องนี้อยู่เสมอ เราจะไม่กล้าทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการดื่มน้ำหรือกินขนมเวลาไปห้างฯ คำพูดที่ว่า ‘คนนี้ตัวใหญ่กว่าเพื่อน ก็เหมาะแล้วที่จะกินเยอะ’ มันมักจะวนอยู่ในหัว แต่ตอนอยู่ต่างประเทศแอนจะไม่คิดถึงเรื่องพวกนี้เลย เราอยู่กับตัวเอง เห็นอะไรแล้วอยากกินก็กิน แต่ตอนนี้เรากลับต้องมาสร้างจิตสำนึกใหม่เสียอย่างนั้น แล้วถามว่าใครจะอยากอยู่กับชีวิตแบบนั้นบ้าง เรื่องนี้เป็นสิ่งเล็กๆ แต่ส่งผลกระทบกับแอนมาก”
หลังจากจมอยู่กับคำติติงเรื่องเรือนร่างมาพักใหญ่ คล้ายกับว่าเธอเริ่มตกตะกอนทางความคิด จึงเปลี่ยนคำติฉินนินทา เปลี่ยนคำครหาเรื่องสรีระให้เป็นแรงผลักดันที่จะก้าวสู่เวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ให้กับวงการนางงาม ที่ไม่ใช่แค่บนเวทีประเทศไทย แต่อาจเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่บนเวทีโลก
Real Size Beauty vs Plus Size
ทันทีที่ถามแอนชิลีว่า “คิดอย่างไรถึงมาสมัครประกวดมิสยูนิเวิร์ส” เธอตอบคำถามนี้ทันควันว่า มันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแล้ว
‘การเข้ามาเพื่อเปลี่ยน’ ในความหมายของเธอ คือการพยายามสร้างค่านิยมใหม่ เปลี่ยนแปลงความคิดเดิม โดยเธอมั่นใจว่าการที่ตัวเองเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ จะทำให้ค่านิยมความงามในเมืองไทยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้
“คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยน และเราต้องยอมรับว่า Beauty Standard (ค่านิยมความงาม) เป็นสิ่งที่อยู่กับทุกคนในทุกวัน โดยที่เราอาจไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรือไม่ทันได้รู้ตัว แต่ Beauty Standard อยู่กับเราเสมอ ซึ่งค่านิยมความงามแบบจำกัดจะต้องถูกเปลี่ยน แอนคิดว่าแอนจะเข้ามาเพื่อเปลี่ยนมัน
“ที่จริงแอนคิดว่าตอนนี้ก็เปลี่ยนไปพอสมควรแล้ว คนยุคนี้เริ่มมีความคิดและการตระหนักถึงเรื่อง Beauty Standard มากขึ้นเรื่อยๆ การที่แอนได้มงฯ กรรมการก็ต้องมองข้ามค่านิยมความงามเดิมของคนไทย ถ้ามองข้ามไม่ได้ แอนก็จะไม่ได้มงฯ การได้มาอยู่ตรงตำแหน่งนี้เพราะรูปร่างของเราก้าวข้ามมาตรฐานเรือนร่างตามกรอบความงามไทยที่ควรมีไปแล้ว แต่หมายถึงเรือนร่างมาตรฐานของคนทั่วโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง เลยคิดว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีศักยภาพ มีความคิดความเข้าใจเรื่องนี้อยู่มาก และทำให้แอนรู้สึกภูมิใจกับเรื่องนี้มากๆ”
ระหว่างการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ แอนชิลีพยายามผลักดันประเด็น Real Size Beauty (ทุกรูปร่างล้วนมีความสวยงาม) มาโดยตลอด สิ่งที่เธอนำเสนอคือการพยายามลบกรอบจำกัดมาตรฐานความงามที่มีเพียงแค่หนึ่ง หรือความงามตามกรอบที่สังคมกำหนด
แอนชิลีเคยผ่านคำตำหนิมาแล้วแทบจะทุกส่วนของสรีระ รวมทั้งท่าเดิน เธอถูกสั่งให้ลดน้ำหนัก และ ‘ปรุงโฉม’ ด้วยศัลยกรรมความงาม เพื่อให้ใบหน้าและเรือนร่างเข้ารูปตาม ‘กรอบ’ ความงามเดิม แต่เธอยังคงมั่นใจและเชื่อในความเป็นตัวของตัวเอง
จนวันที่มงกุฎของผู้ชนะสวมลงบนศีรษะ แอนชิลียังคงมุ่งหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องรูปร่างของทุกคนในสังคมไทยต่อไป แม้จะยังคงมีเสียงค่อนแคะวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรือนร่างของเธออยู่ไม่สร่างก็ตามที ทว่าในยุคสมัยที่ ‘โลกสันนิวาส’ ด้วยเทคโนโลยี ประชากรหลากหลายเชื้อชาติต่างหลอมรวมเป็นประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น แอนชิลีจึงคิดว่าสังคมไทยควรเปิดกว้างต่อประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
“ในความเป็นจริง มนุษย์เราเต็มไปด้วยความแตกต่างโดยธรรมชาติ ทุกคนล้วนมีความงาม และบอกเล่าตัวตนกับความงามที่ว่านั้นในแบบของตัวเอง Real Size Beauty นับเป็นการให้เกียรติและย้ำเตือนว่าเราคือใคร มีตัวตนแบบไหน เรามีจุดยืนแบบไหน มีจุดยืนเพื่ออะไร
“Real Size Beauty มาจากการยกย่องและตระหนักถึงคุณค่าของรูปร่างของทุกคน เป็นการให้เกียรติคุณ ให้เกียรติแอน ให้เกียรติคนที่ถูกตีค่าว่ามีรูปร่างใหญ่ไป มีรูปร่างเล็กไป สูงเกินไป หรือเตี้ยเกินไป ไม่ได้จำกัดว่าจะมีรูปร่างแบบไหน ทุกๆ อย่างคือของจริง คือคุณ คือเรา คือการให้เกียรติกับทุกๆ คนรอบตัวเรา”
เมื่อก่อนเวลาถูกตำหนิเรื่องรูปร่าง แอนจะเก็บไว้ในใจจนรู้สึกว่าควรพอแล้ว คิดว่าเราจะต้องก้าวต่อไปเดี๋ยวนี้ ตอนนี้เลยเชิด Real Size Beauty — จบ ไม่แคร์แล้ว
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงคำว่า Real Size Beauty คำที่มักจะถูกเอ่ยตามมาคือคำว่า Plus Size นิยามถึงนางแบบที่มีรูปร่างไม่ตรงตามอุดมคติของนางแบบทั่วไปที่จะต้องผอมสูง แต่เป็นนางแบบร่างใหญ่ น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ ที่มักถูกเรียกว่า plus size หรือ curve model
“plus size เป็นคำที่คนนำมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เริ่มนับจากไซซ์แบบอเมริกันตั้งแต่ 16 ขึ้นไป ซึ่งจริงๆ ไม่ควรมีตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า ไม่ว่าจะรูปร่างไซซ์ 12 หรือมีรูปร่างแบบไหน แอนก็ไม่อยากให้ใช้คำนี้จริงๆ เพราะไม่มีใครควรถูกติดป้ายว่าเป็น plus size หรือถูกเรียกว่า curve model
“แต่ถึงคุณจะถูกแปะป้ายว่าเป็น plus size คุณก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเดิม แล้วทำไมต้องให้สิ่งนี้มานิยามตัวตนของคุณ แอนคิดว่าตอนนี้ plus size เป็นคำที่ล้าสมัย มีผู้คนจำนวนมากที่กำลังพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำคำนี้ เพราะคุณไม่ใช่นางแบบ plus size คุณคือนางแบบคนหนึ่ง”
สำหรับผู้หญิงคนไหน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ที่ถูกนิยามว่าไม่ได้งดงามตามค่านิยมในสังคม แอนชิลีย้ำหนักแน่นว่า
“ไม่ต้องฟังค่ะ ความมั่นใจของเราควรมาจากข้างใน อยากให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของตัวเองในเรื่องอื่นๆ ด้วย คุณฉลาด คุณเป็นที่รัก คุณดูแลเพื่อนๆ รอบตัวคุณ มันครบอยู่แล้ว ค่านิยมความงามไม่ควรจะเป็นเรื่องหลักในชีวิตของเราเลย อยากให้มั่นใจว่าเรามีดี เราเก่ง และมีคุณค่าในแบบของเรา”
มันฝืนนะคะที่จะไม่แสดงสิ่งที่เป็นตัวตนจริงๆ ของเรา หรือพอฝืนไปพักหนึ่ง แอนคิดว่าเราก็จะกลับมาเป็นตัวเองเสมออยู่ดี เพราะเราไม่สามารถเป็นคนอื่นได้ เราคือตัวเรา เป็นธรรมชาติของเรา ดังนั้นแอนอยากให้มั่นใจในการเป็นตัวเองไว้จะดีที่สุด และแอนเชื่อว่าผู้คนจะสัมผัสถึงตัวตนของเราได้
การประกวดบนเวทีและความคาดหวังของแฟนนางงาม
ระหว่างการประกวดนางงาม นอกจากเรือนร่างหรือการเดินของแอนชิลีที่มีคำติติงว่าไม่ตรงกับนิยามของความงามบนเวทีประกวดเช่นที่ผ่านมา ในการตอบคำถามบนเวทีในแต่ละรอบ มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงเวลาที่กดดัน เธอมักจะแสดงความเครียดออกมาอย่างเห็นได้ชัด ผ่านท่าทางบ้าง หรือบางครั้งก็ฉายชัดบนสีหน้า แต่หลังจากนั้น เธอเริ่มเรียนรู้ที่จะทำให้ความเครียดทุเลาลงด้วยการปรับความคิดและมุมมองของตัวเองว่า เมื่อมีโอกาสแล้วก็ต้อง ‘ทำให้สุด ทำให้สนุก’
“ตอนแรกแอนติดอยู่กับเรื่องนี้พอสมควร ปรึกษากับทีมเยอะมาก เพราะเวลาเครียดหน้าแอนจะออกเลย แต่ไปๆ มาๆ คิดได้ว่าเราต่างอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กันแบบนี้เกือบทุกวัน แล้วแอนก็คิดว่า ถ้าไม่ได้มงฯ คงไม่กลับมาประกวดอีกแล้ว เพราะแอนมีเหตุผลจริงๆ ที่มาประกวดในครั้งนี้ และจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะเดินบนเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ก็เลยเริ่มปล่อยวาง แล้วสนุกกับทุกโมเมนต์ที่อยู่ตรงหน้า ตั้งแต่หลังม่านจนถึงบนเวที
“ความมั่นใจและการทำให้เรื่องเครียดๆ กลายเป็นเรื่องสนุก คือสิ่งที่แอนใช้บนเวทีประกวด สนุกไปกับมัน ไม่ต้องคิดถึงผลลัพธ์ที่ได้ เราไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ขนาดนั้น เพราะก็ต้องแล้วแต่กรรมการ และเวลาเราเครียดเราก็จะทำได้ไม่เต็มที่
“แอนคิดว่ามันมากกว่าการเป็นแอนชิลีแล้ว เราเป็นตัวแทนประเทศไทยที่อยากจะโชว์ศักยภาพทางความคิดของคนไทย เรามีความคิดที่ทันสมัย จะนำเสนอประเทศไทยในมุมมองที่คนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน และนำสิ่งที่คนมองข้ามมาเป็นจุดแข็ง แอนอยากนำเสนอความสามารถของคนไทย ไม่ได้อยากจะนำเสนอแอนชิลี”
ตามที่กล่าวไว้แต่ตอนต้น แอนชิลีถือเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่มีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งทางกายและใจ หรือการเตรียมตัวเรื่องการตอบคำถามบนเวที แต่เมื่อเธอบอกกับเราว่า “ไม่เครียดเลย” เราก็พร้อมจะเฝ้ารอชมเธอต่อไปบนเวทีระดับโลก แต่เมื่อถามว่าเธอรู้สึกเหนื่อยบ้างไหม แอนชิลียิ้มจนตายิบหยีและตอบทันทีว่า
“ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม จริงๆ เหนื่อยได้นะคะ ถ้าเกิดเหนื่อยแล้วอยากบอกทุกคนว่าเราเหนื่อยช่วงกลางดึก ก็ทำได้เลย ทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะแอนก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เหนื่อยได้ แต่ว่าเหนื่อยเสร็จแล้วเราก็สู้ต่อ อย่าเอาความเหนื่อยมาทำให้ตัวเองแย่ลงกว่าเดิม ตอนนี้ไม่มีเวลาให้คิดถึงความกดดันแล้วค่ะ ต้องลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว”
แม้เราจะยังไม่อาจรู้ได้ว่าเธอจะคว้ามงกุฎระดับโลกกลับมาได้ไหม แต่แน่นอนที่สุดว่า หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่ประเทศอิสราเอล แอนชิลียังคงยืนยันจุดยืนเดิมที่ทำให้เธอก้าวมาอยู่ตรงนี้ นั่นคือการผลักดันและส่งเสริมให้ค่านิยมและคุณค่าความงามในสังคมไทยเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นสากลมากขึ้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงเป็นเรื่อง Real Size Beauty ตอนนี้ประเด็นนี้เริ่มขยายเป็นวงกว้าง แต่แค่ยังไปได้ไม่สุด แอนจะทำให้เรื่องนี้ไปจนสุดทางให้ได้ สังคมที่เราอยู่ยังไม่เคยมีการปฏิวัติทางความคิดเกี่ยวกับค่านิยมความงามอย่างจริงจัง ยังไม่ได้มีอะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ และแอนก็จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนเรื่อง Real Size Beauty ในสังคมไทยให้ได้
Fact Box
แอนชิลี สก็อต-เคมมิส ลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย วัย 22 ปี คือมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 และกำลังจะเป็นตัวแทนประเทศไทย เดินทางไปประกวดเวที Miss Universe 2021 ครั้งที่ 70 เวทีใหญ่ระดับโลกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ที่เมืองไอรัต ประเทศอิสราเอล