ย้อนกลับไปในช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายหลังการเข้ายึดอำนาจของกองทัพไทย ที่ทำการรัฐประหารจากรัฐบาลรักษาการของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นประเทศไทยก็ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

‘รัฐประหาร’ ที่หลายคนคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว กลับเกิดขึ้นอีกครั้ง และกลายเป็นลาก ‘ทหาร’ ให้กลับมาวนเวียนกับการเมืองไทย สร้างรัฐธรรมนูญ สร้างระบบการเมืองที่ทหาร และ ‘ชนชั้นนำ’ เป็นใหญ่อีกครั้ง เป็นการจับมือกันระหว่างกลุ่มทุนกับกลุ่มชนชั้นนำระบบราชการที่ผนึกแนบแน่น 

ขณะเดียวกันระบบ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ก็มีที่ทางชัดเจน กลายเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่สามารถ ‘พลิกขั้ว’ ทางการเมืองได้เสมอ เมื่อหลายอย่างไม่ได้ดั่งใจ

แต่ 19 กันยาฯ ปีนี้กลับมีความหมายที่พลิกไปอีกด้านหนึ่ง เมื่อทักษิณ นายกฯ ที่ถูกทหารยึดอำนาจ 18 ปีก่อน กลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง ท่ามกลางระบอบการเมืองที่พิสดารที่สุด

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น The Momentum ชวน ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เฝ้าศึกษาและสังเกตประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมไทยมายาวนาน พูดคุยในวาระครบรอบ 18 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึงความสำคัญของเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และหมากของเกมการเมืองที่ส่งผลมาจากจุดเปลี่ยนครั้งนั้น จะนำพาสังคมไทยไปสู่จุดไหน

ย้อนกลับไปในช่วงวันรัฐประหาร 19 กันยายน วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง คุณทำอะไรอยู่ บรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร

ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมได้ข่าวระแคะระคายเรื่องรัฐประหารแล้ว เท่าที่ตามข่าวเห็นว่า ทักษิณมีการเตรียมการรับสถานการณ์อยู่ แต่คิดว่าอาจจะไม่เกิดในช่วงนั้น 

หลังจากนั้น ทันทีที่รัฐประหารเกิดขึ้น สิ่งที่พวกเรา กลุ่มมหาลัยเที่ยงคืนทำทันทีคือ นัดประชุมที่บ้านคุณสุชาดา จักรพิสุทธิ์ พี่วัลลภ แม่นยำ ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และออกแถลงการณ์มาฉบับหนึ่ง

แถลงการณ์นั้น อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล เป็นคนร่าง อาจารย์สมชายบอกว่า เราต้องเก็บแรงไว้สู้ต่อไป แต่ชนครั้งเดียวอาจจะไม่คุ้ม ศาสตราจารย์นิธิก็มาปรับให้แถลงการณ์ดูเบาลงนิดหน่อย ผมจำความในแถลงการณ์ไม่ได้ แต่ก็เป็นการประณามการรัฐประหาร

หลังจากนั้น 3-4 วัน นักศึกษา มช.หลายกลุ่มก็มาเชิญผมกับอาจารย์สมชาย ไปพูดเรื่องรัฐประหารที่หน้าคณะสังคมศาสตร์ มช. ต่อหน้านักศึกษาประมาณ 100-200 คน มีทหารและตำรวจมาสัก 100 คน เราคุยกันว่า ทำไมต้องรัฐประหาร แล้วมันจะมีผลเสียอย่างไร ประมาณ 1 ชั่วโมง รองอธิการบดีก็มานั่งด้วย และพยายามขอให้พอ แต่ท่านไม่ได้พูดตรงๆ เราจึงหยุดหลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง 

หลังจากนั้นผมสังเกตเห็นว่า เกิดกระแสไม่พอใจรัฐประหาร และกระแส ‘พึงพอใจ’ กับการรัฐประหารที่มีมากพอสมควร

นอกจากเรื่องความไม่พอใจเกี่ยวกับทหาร คุณสังเกตเห็นอะไรผิดปกติจากการเมืองไทยบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของอำนาจทางการเมือง หรือบทบาทของสถาบันทางการเมือง

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เป็นการรัฐประหารที่มีกระแสสังคมสนับสนุนอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นจุดเปลี่ยนที่สำคัญท่ามกลางกระแสสังคมที่เริ่มแตกขั้วกัน มี 2 เรื่อง 

อันแรกคือ ผมคิดว่ามันเป็นการรัฐประหารที่กระตุ้นให้เกิดการจัดระบบทางอำนาจชุดใหม่ขึ้นมา ภายใต้อำนาจนำอีกชุดหนึ่ง นี่คือจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ มีการเริ่มสถาปนาโครงสร้างอำนาจแบบใหม่ ที่มีกลุ่มทุนกับกลุ่มชนชั้นนำระบบราชการเริ่มจับมือกัน 

ขณะเดียวกัน จุดเปลี่ยนที่ 2 คือการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายอำนาจของตุลาการเข้ามาทางการเมือง หรือที่เราเรียกว่า’ ตุลาการภิวัตน์’ เข้ามาตัดสินกระบวนการในการเมืองอย่างชัดเจน และดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เป็นผลมาจากการรัฐประหาร 19 กันยา

ในความเห็นของคุณ สิ่งนี้คือฟางเส้นสุดท้ายที่นำการเมืองไปสู่การกลับขั้วกลับข้าง จนทำให้ทักษิณสามารถกลับมาในปัจจุบันด้วยไหม

การขยายอำนาจของตุลาการที่เข้ามาในการเมือง ในด้านหนึ่งเขาก็รู้ว่า มันไม่สามารถใช้อำนาจตุลาการลอยๆ โดยที่ไม่มีฐานของการเมืองมาคอยสนับสนุน 

ดังนั้นเมื่อเขาพบว่า มันมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ที่ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ นำโดยนักคิดจำนวนหนึ่ง มันสามารถยกระดับความไม่พอใจ ความอึดอัดของคนกลุ่มใหม่มาเป็นนโยบายได้ ทันทีที่พรรคอนาคตใหม่ได้หลายเสียง ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมตกใจ 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เผด็จการที่ถูกทำให้ถูกกฎหมาย โดยฐานอำนาจตุลาการเริ่มตระหนักว่า จำเป็นที่จะต้องมีฐานของการเมืองรองรับ 

ผมคิดว่า สิ่งนี้ทำให้กลุ่มอำนาจคิดว่า จะสู้กับพรรคอนาคตใหม่หรือคนกลุ่มใหม่อย่างไร จะกำราบคนกลุ่มใหม่นี้อย่างไร สิ่งที่พบคือ ถ้าลำพังพวกเขาเองมันยาก ในการที่จะหยุดยั้งพลังของการเปลี่ยนแปลงนี้ เขาจึงหันกลับไปที่ศัตรูเก่าของเขาคือทักษิณ อย่าลืมว่า ช่วงที่ทักษิณไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี ทักษิณก็ยังเล่นการเมืองตลอด เขาไม่ได้อยู่เมืองนอกเฉยๆ แต่ยังมีบทบาททางการเมืองทางไกลเสมอมา ซึ่งชนชั้นนำเองก็รู้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็รู้ 

แต่ถึงวันหนึ่ง เมื่อพบว่าตัวเขาหรืออำนาจตุลาการเอง ทำงานด้วยมันเองไม่ได้ แต่ต้องมีฐานนักการเมืองรองรับ และฐานนักการเมืองฝ่ายเขาไม่เข้มแข็งพอที่จะสู้ความเปลี่ยนแปลงได้ เขาจึงหันกลับไปสู่ศัตรูเก่า แล้วตกลงกันว่า คุณเข้ามาเพื่อหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงอันนี้ หรือแปรเปลี่ยนผลักดันเส้นทางของความเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่ที่ที่ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างเดิม 

ดังนั้นทักษิณจึงกลับมาในช่วงอ่อนแอของชนชั้นนำเดิม และช่วงก่อตัวเข้มแข็งขึ้นของกลุ่มพลังใหม่ เป็นการเข้ามาในจังหวะขัดกันของ 2 พลังนี้

ถ้าเช่นนั้นแปลว่า บทบาทของสถาบันตุลาการหรือองค์กรอิสระในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ที่เข้ามาตุลาการภิวัตน์ เพื่อหวังจะเปลี่ยนการเมือง สุดท้ายกลับต้องพาทักษิณกลับมา ถือว่าเป็นความล้มเหลวไหม

คงเรียกว่าล้มเหลวไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นความพยายามจะสามัคคีระหว่างกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน แล้วมองหาเส้นทางหรือแนวทางใหม่ๆ ที่จะจรรโลงความไม่เสมอภาคกัมปนาทนี้ต่อไปให้ได้ พวกเขาจำเป็นต้องหยุดกระแสของการพูดถึงความเสมอภาค นี่คือหมากที่พวกเขาจะต้องเล่น และต้องเล่นต่อไปเรื่อยๆ เพื่อหยุดความเปลี่ยนแปลง หรือเบี่ยงเบนความสนใจนี้ไปในทิศทางที่ไม่ได้เป็นอันตราย พวกเขาจึงมองทุกวิถีทาง ทักษิณก็เป็นไพ่ใบหนึ่งที่เขาเล่น ดังนั้นถามว่าเขาล้มเหลวไหม ผมคิดว่าไม่ แต่เป็นหมากที่เขาจะเดินเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ถ้าไม่ล้มเหลวแสดงว่าหมากนี้เดินถูกใช่ไหม

เดินถูกในแง่ที่ว่า พวกเขาสามารถจรรโลงความเหลื่อมล้ำทางอำนาจต่อไปได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้ แต่ถามว่าหมากนี้จะเดินผิดไหม หากเรามองจากคนที่หวังเห็นความก้าวหน้าของระบบประชาธิปไตย เห็นถึงสังคมที่ดีงาม หมากการเดินของชั้นนำอันนี้ย่อมขัดขวางความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรามองว่า หมากที่เขาเดินทั้งหมด หมากทักษิณ หมากตุลาการภิวัตน์ มันปฏิบัติหน้าที่ของมัน แต่เป็นหน้าที่ที่จะจรรโลงความเหลื่อมล้ำทางอำนาจต่อไป

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ชนชั้นนำแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มชนชั้นนำทางจารีต กลุ่มที่เรียกว่าราชการ ระบบราชการ และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ กลุ่มไหนที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการขัดขวางการเติบโตประชาธิปไตยในประเทศไทย

ในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของชุดผู้นำทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางจารีต ได้ผนึกกันอย่างเหนียวแน่นและกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ผมคิดว่าก่อนหน้าปี 2549 ความสัมพันธ์ยังไม่เหนียวแน่น แต่วันนี้เหนียวแน่นมาก และเขาสามารถผนึกกำลังทำอะไรได้อีกมากมาย รวมทั้งสามารถแสดงกำลังผ่านเผด็จการที่ถูกทำให้ถูกกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม

เงื่อนไขสำคัญอะไรที่ทำให้ทุกกลุ่มจับมือกันเหนียวแน่น 

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับแรกเป็นต้นมา รัฐไทยอุ้มชูอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ภาคเศรษฐกิจยังไม่โต เพราะฉะนั้นภาคเศรษฐกิจเองยังเป็นเบี้ยล่างของระบบราชการ และอื่นๆ แต่เมื่อผ่านมาถึงปี 2549-2550 กลุ่มธุรกิจเข้มแข็งมากขึ้น เศรษฐกิจเข้มแข็ง ความเข้มแข็งนี้ก็ไปเชื่อมโยงกับกลุ่มจารีตประเพณี และการเชื่อม 2 สิ่งนี้ทำให้เริ่มมีอำนาจควบคุมระบบราชการและพรรคการเมือง ดังนั้นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมาทำให้การผนึกควบแน่นกันระหว่าง 3 กลุ่มนี้เป็นไปได้สะดวกมากขึ้น 

หลังจากนั้น พอถึงการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ ปี 2557 ซึ่งต่อเนื่องมาจากปี 2549 คือตัวชี้ให้เห็นถึงการผนึกกันอย่างแนบแน่นของ 3 กลุ่มที่ผมพูดถึง การรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์คือจุดที่เป็นพัฒนาการสูงสุดเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ 

ความแนบแน่นนี้น่าเป็นห่วงอย่างไรบ้าง ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน 

น่าเป็นห่วง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ จินตนาการของกลุ่มชนชั้นนำที่ผนวกกัน เขาสามารถที่จะใช้อำนาจการเมือง อำนาจทหาร อำนาจกฎหมาย ในการควบคุมความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้อย่างมีพลัง มีพลังในที่นี้คือทำให้คนเกิดความกลัว หรือเกิดความรู้สึกว่า ถ้าไปทะเลาะกับอำนาจแล้วจะเป็นภาระที่หนักหน่วง เช่น ถูกฟ้องหรืออื่นๆ มากมาย ลองนึกถึงประเด็นปลาหมอคางดำที่บริษัทซีพีฟ้อง มันก็ทำให้คนที่ถูกฟ้องเป็นภาระ ดังนั้นความแนบแน่นอันนี้ ในด้านหนึ่งคือคุณเริ่มที่จะใช้อำนาจปิดอะไรได้อีกเยอะแยะ

ความน่ากลัวเรื่องที่ 2 คือ เมื่อคนกลุ่มนี้ผนวกกันแน่นแล้ว เขาจะรู้สึกเข้มแข็งมาก ในขณะที่เขามองสังคมไทยและมองคนไทยแบบเดิม คือคนไทยยังคงสยบต่ออำนาจรัฐ คิดแต่ปากท้องเท่านั้น ดังนั้นความเข้มแข็งของพวกเขา บวกกับการมองคนไทย เขาจึงรู้สึกเหมือนว่า สามารถปฏิบัติการอะไรกับคนไทยก็ได้ ลองยื่นขนมหรือแบ่งผลประโยชน์ให้มากขึ้นสักหน่อย คนไทยก็จะสงบปากสงบคำ นี่คืออันตราย 2 ด้านที่ซ้อนอยู่ในความเข้มแข็งของเขา

ช่วงก่อนหน้านี้ที่มีกระแสว่าทักษิณจะกลับมา จนกระทั่งวันที่กลับมาได้จริงๆ คุณรู้สึกอย่างไร 

ผมเคยเขียนบทความตั้งแต่รู้ข่าวว่าทักษิณจะกลับมาว่า นี่คือการเชื่อมต่อระหว่างอนุรักษนิยมกับทักษิณ เพื่อจะมาขวางพรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) หรือขวางพลังใหม่ 

ย้อนกลับไปในปีก่อนหน้าที่ทักษิณจะกลับมา ผมเห็นแล้วว่า มันเริ่มมีกระบวนการที่ถกเถียงเพื่อเปิดช่องให้ทักษิณกลับมาแบบเท่ๆ ผมจึงไม่แปลกใจที่สุดท้ายทักษิณได้กลับมา แต่ขณะเดียวกัน ผมตั้งข้อสังเกตว่า หมากนี้อาจไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทย เพราะมันคือหมากเพื่อการสามัคคีของกลุ่มชนชั้นบน กลุ่มจารีต เศรษฐกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ให้ผนึกกันแนบแน่นมากขึ้น โดยใช้ไพ่เก่าที่มาพลิกหน้าใหม่ นั่นคือการให้ทักษิณมาเสริมพวกเขา 

ก่อนหน้านี้ทักษิณได้ขึ้นพูดในงาน Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 (22 สิงหาคม 2567) มีอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม หรือสะท้อนวิธีคิดมุมมองของทักษิณที่มีต่อสังคมไทยแบบไหน

ผมฟังเสร็จก็รู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่มันสะท้อนวิธีคิดของทักษิณอย่างชัดเจน คนที่พูดทำนองเดียวกับผมอีกคนหนึ่งคือ คุณหนุ่มเมืองจันท์ (สรกล อดุลยานนท์) ที่บอกว่า ทักษิณคิดแบบเดิม คือคิดแบบนักธุรกิจ ซึ่งผมเห็นด้วย 

ถ้าเราแบ่งสิ่งที่ทักษิณพูดทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ วิธีการซื้อใจประชาชนในลักษณะเดิม แต่ไม่มีเสน่ห์เท่าเดิม เช่น พูดถึงการลดหนี้ เรียกธนาคารการเงินทั้งหลายมาคุยเรื่องหนี้ครัวเรือนเพื่อซื้อใจประชาชน อีกส่วนหนึ่งคือพูดถึงโครงการใหญ่ๆ เพื่อจะบอกว่า โครงการเหล่านี้มีผลประโยชน์มากมายที่จะตกไปสู่ประชาชน 

ลองนึกถึงตอนที่ทักษิณพูดเรื่องการบินไทยตั๋วแพง ถัดมาไม่กี่วัน คนสนิทของเขาตั้งบริษัทแอร์เอเชียขึ้นมาและใช้สโลแกนที่น่าสนใจคือ ‘ใครๆ ก็บินได้’ คล้ายกับคุณทำโครงการใหญ่ แล้วบอกว่า ประชาชนจะได้ผลประโยชน์จากตรงนี้ มันเหมือนกัน นี่คือ 2 ด้านที่ทักษิณพูดในวันนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในระบบคิด ระบบการจัดการทั้งหลายของเขาเสมอมา 

วิธีคิดแบบทักษิณอีกข้อหนึ่งคือซื้อใจประชาชน เช่น ทำแฟลตให้คนจน หนี้สินครัวเรือนลดลง หาทางแฮร์คัตหนี้สินครัวเรือน เหล่านี้มันมีเสน่ห์ แต่ว่าไม่เท่ากับสมัยก่อนที่คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เสนอ 30 บาทรักษาทุกโรค และทักษิณตอบรับ เพราะอันนั้นมันเปลี่ยนวิธีคิด โครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทางอำนาจระหว่างหมอกับชาวบ้าน แต่สิ่งที่คุณทักษิณพูดเกี่ยวกับการซื้อใจประชาชนในวันนี้ ไม่มีพลังมากพอเหมือนครั้งก่อน 

ทำไมคำพูดหรือวิธีคิดของทักษิณถึงไม่มีพลังมากพอเหมือนสมัยก่อน

อย่างแรก คุณทักษิณยังมองประชาชนทำนองว่า เป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ คือฉันเป็นคนโน้มกายลงไปให้ เพื่อซื้อใจประชาชน มันไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากในสมัยนี้ที่เริ่มต้องการทางเดินของชีวิตตัวเอง แต่รัฐเป็นผู้จัดเงื่อนไขให้ ไม่ใช่รัฐเป็นผู้ให้ แต่รัฐจัดเงื่อนไขให้เขาโตขึ้นเอง 

ดังนั้นสิ่งที่ไม่มีเสน่ห์คือวิธีที่โน้มกายลงไปช่วยชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านเขาอยากจะโตเองบนเงื่อนไขที่รัฐเป็นตัวคอยสนับสนุน พร้อมกันนั้นเองก็มีพรรคใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่เช่นพรรคประชาชน ที่เติบโตมาจากก้าวไกลและอนาคตใหม่ คนกลุ่มนี้ฉลาดพอที่จะยกระดับความคิด ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนทั้งหลายที่กระจัดกระจายเป็นล้านๆ ให้กลายเป็นนโยบายได้ 

ดังนั้น สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือทักษิณจะไปทางไหน ถ้าจะไปทางพรรคประชาชน คุณจะสู้คนรุ่นใหม่ได้ไหม และถ้าไปทางพรรคประชาชน คุณจะถูกชนชั้นนำเขี่ยทิ้งไปทันที ภาษาเหนือมีคำที่ว่า ‘จะเหลิ่มจะเกิ่ม’ แปลว่า จะไปทางไหนก็ไม่ได้ ครึ่งๆ กลางๆ ติดๆ ขัดๆ นั่นทำให้ทักษิณไม่มีเสน่ห์ 

หลายคนมองว่า ทักษิณคือเพื่อไทย เพื่อไทยคือทักษิณ การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของลูกสาวอย่าง แพทองธาร ชินวัตร ในวันนี้ หมายถึงวิธีคิดแบบทักษิณจะยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ 

อย่างที่บอกว่า ช่วงเวลาที่ทักษิณอยู่ต่างประเทศ เขาไม่ได้วางมือ แต่ยังคงอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองของเขาตลอดมา และการอยู่เมืองนอกยิ่งสะดวกกว่าด้วยซ้ำ ในการที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาลและการตัดสินใจต่างๆ

การที่ทักษิณกลับมาเป็นเพียงการเล่นการเมืองของเขาที่เปิดหน้าชัดเจนมากขึ้น และการเปิดหน้ากับลูกสาวก็ยิ่งชัดเจน สังเกตได้จากนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ก็คือส่วนที่เอามาจากสิ่งที่ทักษิณพูดในงานเนชั่น ทั้งที่นโยบายเพื่อไทย ตอนคุณเศรษฐา ทวีสิน ก็มีอีกหลายเรื่องที่ถูกตัดทิ้งในช่วงของรัฐบาลแพทองธาร ดังนั้นสิ่งที่เห็นคือทักษิณคือคนคุมรัฐบาลนี้ เพียงแต่ว่าการคุมรัฐบาลตอนนี้ไม่ง่ายเหมือนเดิม หมายถึงไม่สามารถบงการได้ 100% แบบเดิม 

ดังนั้นพรรคการเมืองพรรคอื่นเช่นพรรคภูมิใจไทย หากเห็นว่าทักษิณไม่ได้เข้มแข็งแบบเดิม โอกาสที่ความขัดแย้งภายในรัฐบาลจะมีมากขึ้น แน่นอนว่า ความขัดแย้งอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่การต่อรองมากขึ้น เรียกร้องมากขึ้น แทงข้างหลังหรืออื่นๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะนำไปสู่สิ่งที่เป็นไม้ตาย คือการยุบสภาฯ ซึ่งรัฐบาลแพทองธารจะต้องยื้อการยุบสภาฯ ไปให้ไกลที่สุด เพื่อดูว่าเสียงตัวเองขึ้นมาหรือยัง แต่ผมเชื่อว่า พรรคภูมิใจไทยโดยคุณอนุทิน ชาญวีรกูล คงไม่ใช่คนที่จะสยบอยู่ภายใต้ทักษิณ ในยามที่ทักษิณไม่เข้มแข็งแบบเดิม คือถ้าเมื่อก่อนทักษิณเข้มแข็งแบบเดิม คงสยบยอมได้มากขึ้น แต่ในวันนี้ไม่ใช่ ยิ่งผลเลือกตั้งมาแบบนี้ ผมคิดว่าพรรคอื่นรู้สึกว่า สู้ได้ ดังนั้นเกมการเมืองต่อไปไม่ใช่ทักษิณจะคุมได้แล้ว

การที่คุณบอกว่า ชื่อแบรนด์ทักษิณอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งเหมือนเดิมแล้ว สิ่งนี้มีผลกับความนิยมในพื้นที่ที่เคยเป็นของเพื่อไทยด้วยใช่ไหม

ใช่ ผมคิดว่ากระแสความนิยมของทักษิณไม่เข้มแข็งแบบเดิม ก็แปลว่าเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทยจะไม่ถล่มทลายเหมือนความฝันของทักษิณ ตอนเริ่มต้นที่บอกว่า ต้องแลนด์สไลด์ตอนเลือกตั้ง แต่ผลออกมาไม่ใช่ และความไม่เข้มแข็งนี้ก็ดำรงอยู่ต่อมา 

ดังนั้นสมมติว่า มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทักษิณจะต้องสู้หนักขึ้น ต้องใช้วิธีอีกเยอะแยะ ทักษิณอาจจะนึกออก แต่ผมนึกไม่ออก เขาต้องสู้กับหลายฝ่าย ทางอีสานก็ต้องสู้กับพรรคภูมิใจไทย ทางเหนือหรือภาคกลางในเขตที่เป็น Urban ต้องสู้กับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาชน ดังนั้นฐานเสียงที่คิดว่าเป็นเมืองหลวงของเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นอีสานหรือเชียงใหม่ ไม่ใช่แบบเดิม อาจจะชนะในเชียงใหม่ อาจมีโอกาสชนะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มเสียงที่ผ่านมา แต่ถามว่าจะกวาดได้ไหม ผมเชื่อว่าไม่มีทาง

คุณมองการขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ ของแพทองธารอย่างไร มีบุคลิกลักษณะที่น่าสนใจอย่างไรไหม

หากมองแพทองธาร ผมจะมองทะลุไปถึงทักษิณ ผมไม่คิดว่า บุคลิกของแพทองธารจะมีผลต่อการตัดสินใจอะไรทางการเมือง เพราะคนที่ตัดสินใจจริงๆ คือทักษิณ หากแพทองธารอยากทำตัวให้มีเสน่ห์ทางการเมืองมากขึ้นจะต้องคิดใหม่ ถึงแม้คุณถอยห่างจากคุณพ่อไม่ได้ แต่คุณจะพยายามอย่างไรให้มีลักษณะพิเศษ หรือดึงสิ่งที่คุณพ่อพูดมาแปลงสักหน่อย ให้กลายเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น ดังนั้นผมไม่คิดว่าบุคลิกใดๆ ของแพทองธารจะมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง ยกเว้นบทบาทเล็กๆ น้อยๆ เช่นทำมินิฮาร์ต ก็ว่ากันไป ซึ่งไม่มีผลอะไรต่อการตัดสินใจทางการเมือง 

คุณมององคาพยพฝั่งอนุรักษนิยมหลังจากนี้อย่างไร 

ผมคิดว่า เขาจะทำ 2 อย่าง อย่างแรกคือ หาทางผนึกแบ่งสันผลประโยชน์กันในกลุ่มชนชั้นนำให้ราบรื่นต่อกัน รักษาความเหนียวแน่นของสายสัมพันธ์นี้ต่อไปให้ยาวนานที่สุด อย่างที่ 2 คือ ส่วนที่จะทำให้สังคมจะต้องสยบยอมเขามากขึ้น สมมติว่าขนมเค้ก 100% จากเดิมที่แบ่งให้ประชาชน 10% ก็ต้องตัดขนมเค้กอีก 10-15% แบ่งเพิ่มให้ เพราะคิดว่าเลี้ยงประชาชนด้วยผลประโยชน์แบบนี้ได้ 

อีกด้านหนึ่ง นอกจากการแบ่งขนมเค้กเพื่อหล่อเลี้ยงไม่ให้ประชาชนหรือพลเมืองทั้งหลายลุกฮือ การทำงานทางด้านความคิดเพื่อทำให้กลายเป็น Passive Citizen (พลเมืองที่ตื่นรู้) พลเมืองผู้สยบยอมผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ ผ่านการอบรม ผ่านสิ่งอื่นๆ จะเกิดเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งความพยายามแบนงานวิชาการ เช่นการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพิ่งออกมาแบนหนังสือของอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ แต่เขาจะทำด้วยวิธีฉลาดขึ้น เขาจะไม่ทำแบบไม่มีสติปัญญาอย่างที่ กอ.รมน.ทำ

หลังจากนี้ประชาชนควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้

พลเมืองไทยต้องสามัคคีกัน ผมคิดว่า เราจำเป็นต้องคิดถึงการสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการฟังข้อมูลข่าวสาร วันนี้พี่น้องประชาชนไทยฟังยูทูบมากขึ้น และยูทูบเองเป็นส่วนสื่อที่รัฐควบคุมไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้ประเด็นต่างๆ ที่ยูทูบของคนดัง เช่น คุณสุทธิชัย หยุ่น หรือคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ สามารถกลายเป็น Social Agenda หรือประเด็นสาธารณะที่คนทั้งหมดรับรู้กันได้ นี่คือการสื่อสารที่ต้องคิด 

วันนี้สังคมไทยเราต้องการการอธิบายใหม่ทุกเรื่อง จึงเกิดนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารทางกฎหมาย ทีวีต้องมีรายการกฎหมายเพื่อประชาชนง่ายๆ ทำนองเดียวกัน เราจำเป็นต้องมีนักสื่อสารทางสังคม ทำให้เห็นปัญหาสังคมเช่นความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ภาคประชาชนขยับ เปลี่ยนการรับรู้ ซึ่งวันนี้เราเปลี่ยนแล้ว 

ผมคิดว่า หลังจากประชาชนดูยูทูบกันมาแบบมากมายมหาศาล วิธีคิดจะเริ่มเปลี่ยน แต่เราจะร้อยประเด็นทั้งหมดอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป เพราะมันคือการสร้างพลเมืองไทยที่สมัครสมานสามัคคีกันบนประเด็นสาธารณะที่เข้มแข็งมากขึ้น

จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผ่านมาแล้ว 18 ปี 19 กันยายน 2567 สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะหรือโตขึ้นไหม และสังคมไทยกำลังเดินถูกทางที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยเต็มตัวไหม 

จากปี 2549 จนถึงวันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมากในหลายมิติ มิติแรกคือ ชนชั้นนำทั้งหลายผนึกกันแน่นขึ้น และสามารถใช้อำนาจผ่านกฎหมายที่สังคมรู้สึกมาตลอดว่าเป็นธรรมหรือไม่ มิติที่ 2 คือประชาชนไทยเติบโตมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อันเกิดจากการเคลื่อนย้ายทางสังคมมากมาย คนเป็นฟรีแลนซ์ หรือเป็นอะไรมากมาย ที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ เป็นอิสระจากการต้องหางานทำแบบที่คนรุ่นผมต้องหา เขาเริ่มรับรู้สิ่งใหม่ เริ่มมองชีวิตอีกแบบหนึ่ง มองอำนาจอีกแบบหนึ่ง 

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มผนึกแน่นข้างบนจำเป็นต้องตระหนักว่า สังคมไทยข้างล่างไม่เหมือนเดิม คนเปลี่ยนวิธีคิด วิธีรู้สึก วิธีจัดการกับอำนาจ ดังนั้นย้ำว่า จากปี 2549 สังคมไทยเปลี่ยนทุกมิติ ทุกระดับ ทุกความสัมพันธ์ เพียงแต่ว่าเรายังถูกย้ำเตือนถึงอำนาจที่กดทับอยู่ แต่ไม่มีอำนาจใดที่คงทนเสมอมา ทุกอย่างย่อมมีความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงนี้จะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมที่สงบ สันติ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นไท ที่ชนชั้นนำอยากรู้ ต้องเกิดขึ้นจากชนชั้นนำมองเห็นฝั่งใดๆ และปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย 

หากชนชั้นนำหรือชนชั้นอำนาจไม่เปลี่ยนความคิดในวันนี้ จะนำการเมืองไทยหรือสังคมไทยไปสู่จุดไหน

ความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจ อันเกิดจากความตึงเครียดทางสังคมที่ทวีขึ้น ตอนนี้เรามีคำว่า คนจนข้ามรุ่น หมายถึงสังคมเศรษฐกิจไทยกดทับคนจน ไม่ให้สามารถขยับเลื่อนชนชั้นได้ ปู่ก็จน พ่อก็จน ลูกก็จน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และคนเหล่านี้เริ่มเติบโตแล้ว เริ่มรู้สึกว่าฉันจนเพราะถูกโครงสร้างกดทับ 

หากชนชั้นนำมองไม่เห็นตรงนี้ ความตึงเครียดทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจะทวีคูณสูงขึ้น และสามารถปะทุเป็นอะไรก็ได้ เป็นม็อบใหญ่ หนีข้ามประเทศ กลายเป็นโจรมากขึ้น และฆ่าตัวตายมากขึ้นก็ได้ ดังนั้นถ้าชนชั้นนำมองเห็นก็ลองปรับโครงสร้างเท่าที่จะให้ได้ ซึ่งคุณก็ยังอยู่ในระดับผู้นำอยู่ แต่หากชนชั้นนำไทยไม่ทำอะไร ระบบการเมืองนี้จะนำไปสู่ความตึงเครียดที่สูงมากขึ้น จนสังคมไทยจะเกิดอะไรบางอย่างที่เราคาดคิดไม่ได้เลย

Tags: , , , ,