Clandestino Cantina ร้านอาหารละตินบนชั้นสองของ Revolucion Cocktail Bar ที่นำเสนออาหารจานคลาสสิกจากหลากหลายชาติ แต่ต่างด้วยหน้าตาวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ ภายใต้บรรยากาศเป็นกันเอง ด้วยฟังก์ชันห้องอาหารขนาดใหญ่ ล้อมรอบโต๊ะกลางสำหรับวางวัตถุดิบที่เชฟสามารถหยิบไปปรุงอาหารในครัวเปิดให้ลูกค้าในร้านได้ดูกันสดๆ
WHAT YOU SHOULD KNOW
ร้านอาหารแห่งนี้วางคอนเซปต์ต่อเนื่องมาจาก Revolucion Bar ชั้นล่างซึ่งได้รับแรงบันดาลใจหลักมาจากกรุงฮาวานา เมืองหลวงของประเทศคิวบา ผสมผสานกลิ่นอายความเป็นละตินด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจสีสันตัดกันฉูดฉาด เหมาะสำหรับพักรับประทานอาหารก่อนลงไปสนุกต่อด้านล่างด้วยโชว์จาก ‘แฟลร์บาร์เทนเดอร์’ (Flair Bartender หมายถึง บาร์เทนเดอร์ที่ควงขวดโชว์ลีลาขณะผสมค็อกเทล) ที่มีให้เห็นอยู่เสมอๆ
EAT
เมนูที่นี่จะรวมเอาครัวละตินทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ไม่จำกัดเพียงแค่เม็กซิโก อาร์เจนตินา แต่ยังมีจานที่เป็นสเปน วัตถุดิบจากอิตาลี และฝรั่งเศส ปะปนกันไป ผ่านการนำเสนอของเชฟ Gabriela Espinosa เชฟสาวที่เคยสร้างสรรค์เมนูให้กับ Revolucion สาขาเซียเหมิน ก่อนจะย้ายมาบ้านเรา
-
จานที่พลาดไม่ได้เลยคือ Tortilla Royal (190 บาท) หรือที่รู้จักกันดีในนามไข่เจียวสเปน เชฟนำเสนอจานนี้ได้น่าสนใจมาก แทนที่จะเสิร์ฟในรูปแบบไข่เจียวหนาๆ อย่างเดิม เชฟเลือกที่จะแยกส่วนประกอบของไข่ นำแค่ไข่แดงมาทอดกรอบลอยอยู่บนมูสมันฝรั่งที่ด้านล่างรองพื้นด้วย Caramelized Onion
-
แอปพิไทเซอร์อีกจานที่น่าสนใจคือ Tártara de Pescado (360 บาท) ทาร์ทาร์ปลาแซลมอนและปลากะพงผสมสมุนไพรไทยอย่าง ขิง ตะไคร้ มะกรูด เสิร์ฟบนโฟมกะทิ โรยด้วยแผ่นแป้งตอร์ติญาข้าวโพดหั่นฝอยทอดกรอบ จานนี้ได้รสชาติสดชื่นตามแบบฉบับทาร์ทาร์ มีกลิ่นนวลๆ ของมะพร้าวและแผ่นแป้งข้าวโพดเสริมรสสัมผัสที่น่าสนใจและได้กลิ่นอายทรอปิคัล
-
มาถึงจานเมนคอร์สกันบ้าง คอเนื้อต้องลอง Churrasco en Chimichurri (590 บาท) สเต็กเนื้อวากิว ย่างด้วยเตาย่าง parrilla เสิร์ฟกับซอสชิมิชูริ และผักย่าง จานนี้ต้องกินคู่กับ side dish ด้วยเพื่อความสมบูรณ์แบบ เชฟเลือก Smoked Mash Potatoes (160 บาท) มันบดที่นำไปรมควันในเตาย่างด้วยเช่นกันเพื่อเพิ่มความหอม
-
Chickentino (340 บาท) คืออีกหนึ่งจานที่อร่อยไม่แพ้กัน เชฟนำไก่ไปทำให้สุกก่อนด้วยวิธี Sous Vide แล้วนำมาจี่กับกระทะให้หนังสุกด้านนอก เสิร์ฟกับซอสเผ็ดที่ทำจากมะเขือเทศและพริก ‘ชิโปต์เล’ (chipotle) และสลัดคีนัว เชฟเสริมว่าซอสชิโปต์เล เป็นซอสพื้นบ้านที่สามารถหาได้ทุกบ้านในเม็กซิโก
-
ตบท้ายด้วยของหวานสนุกๆ อย่าง Piñacolada (270 บาท) จับเอาเมนูค็อกเทลคลาสสิกมาปรับให้กลายเป็นขนมหวาน ด้วยการนำสับปะรดฝานบางไปแช่ในเหล้ารัม เสิร์ฟบน bread crumb ไอศกรีมกะทิ และครีมที่มีส่วนผสมของเหล้ามาลิบู
DRINK
ด้วยความที่เป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่บนชั้นสองของบาร์อยู่แล้ว ทำให้เราสามารถเลือกเครื่องดื่มจาก Revolucion Cocktail Bar ด้านล่างขึ้นมากินคู่กับอาหารด้านบนได้เลย ทิปส์คือให้เลือกเป็นเครื่องดื่มประเภท long-drink รสชาติไม่ซับซ้อน ดื่มง่าย ไม่ตีกับอาหารมากเกินไป
-
Aged Negroni (300 บาท) คือแก้วหนึ่งที่เราชอบมาก ปกติค็อกเทลคลาสสิกตัวนี้ไม่ใช่ long-drink และดูเหมือนจะเหมาะดื่มก่อนหรือหลังอาหารมากกว่า แต่ทางบาร์ได้ทำการปรับสูตรโดยผสมผลไม้ชนิดต่างๆ ลงไป เช่น เสาวรส บลูเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี ส้ม และโซดา เสิร์ฟในแก้วไวน์คล้าย ‘แซงเกรีย’ แก้วนี้อร่อย ดื่มง่าย เหมาะกับการสั่งคู่กับอาหารมาก
WORDS FROM CHEF
“น้อยคนที่จะรู้จักความหมายจริงๆ ของ แคนตินา (Cantina) ด้วยเพราะคนเอเชียไม่รู้จักวัฒนธรรมของอเมริกาใต้มากนัก ซึ่งความหมายจริงๆ อาจจะไม่ค่อยฟังดูดีนัก คือเป็นบาร์ที่คนงานผู้ชายไปดื่มกัน แต่ที่นั่นเสิร์ฟอาหารดี สิ่งที่เราพยายามจะทำที่นี่ตามคอนเซปต์ของแคนตินาก็คือ เราต้องการเสิร์ฟอาหารที่ดี เครื่องดื่มที่ดี ภายใต้บรรยากาศเป็นกันเอง อาหารของเรารวมรสชาติความเป็นละตินเอาไว้คือ เม็กซิโก อิตาลี และสเปน อาจจะเป็นจานหลัก แต่เราก็มีวัตุดิบและสไตล์จากอีกหลายๆ ประเทศในอเมริกาใต้ด้วย” Gabriela Espinosa หัวหน้าเชฟร้าน Clandestino Cantina
PROMOTION
โปรโมชัน After Work Happy Hours เครื่องดื่มลด 50% ทุกแก้ว ตั้งแต่วันอังคาร-ศุกร์ เฉพาะเวลา 17:00-21:00 น.
CLANDESTINO CANTINA
open: 19:00-24:00 น. | จันทร์-เสาร์
address: 2/F 50 สาทร ซอย 10 (ซอยศึกษาวิทยา)
tel: 0 2235 4823
budget: ประมาณ 1,000 บาทต่อคน *คำนวณจากราคาแอปพิไทเซอร์ เมนคอร์ส และขนม/เครื่องดื่ม
parking: มีที่จอดรถด้านหลังร้าน และริมถนนหน้าร้าน
FACT BOX:
- Cantina: คำว่า แคนตินา ไม่ได้มีความหมายเหมือนคำว่า แคนทีน ในภาษาอังกฤษ แต่หมายถึงบาร์หรือร้านอาหารที่เปิดใต้สถานีรถไฟที่คนงานชายจะไปนั่งกินดื่ม และบางที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้า ปัจจุบันร้านแบบนี้มีเฉพาะในต่างจังหวัดของประเทศแถบลาตินอเมริกา และคำนี้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางแทนความหมายของคำว่าบาร์
- Flair Bartender: เป็นชื่อเรียกประเภทความถนัดของบาร์เทนเดอร์ประเภทหนึ่ง ที่มักจะมีลีลาโยนขวด ควงอุปกรณ์ไปด้วยเวลาผสมเครื่องดื่ม
- Tortilla: ปกติถ้าพูดถึงตอร์ติญา จะหมายถึงแผ่นแป้งบางที่เห็นตลอดเวลาในอาหารเม็กซิกัน เช่น ใช้ในการห่อเบอร์ริโต หรือทาโก้ ในที่นี้มีการใช้แป้งตอร์ติญาข้าวโพดในจานที่เป็นทาร์ทาร์ และมีตอร์ติญาในอีกความหมายหนึ่งคือ Spanish Tortilla หรือไข่เจียวของสเปน เป็นอาหารโฮมเมดประจำชาติที่มีส่วนผสมของไข่ มันฝรั่ง และหัวหอม
- Parrilla: คือการย่างเหมือนกับ charcoal grilled ที่ใช้ถ่านไม้เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษแบบอเมริกาใต้
- Chimichurri Sauce: ซอสสีเขียวประจำประเทศอาร์เจนตินา ทำจากผักชีฝรั่ง กระเทียม น้ำมันพืช ออริกาโน และน้ำส้มสายชูขาว
- Sous Vide: การทำให้สุกด้วยสุญญากาศ ปกติเชฟจะชอบทำให้สุกด้วยวิธีนี้ก่อนนำไปย่างด้านนอก หรือจี่ในกระทะ เพื่อให้เนื้อคงความฉ่ำ