ศาลฎีกาอินเดียเพิ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ให้ยกเลิกกฎหมายบังคับให้เปิดเพลงชาติในโรงภาพยนตร์ก่อนการฉายหนัง ถือเป็นการยกเลิกกฎหมายที่เพิ่งใช้เมื่อปี 2016
ย้อนไประหว่างทศวรรษ 1960s และ 1970s การเปิดเพลงชาติเป็นสิ่งที่โรงภาพยนตร์ต่างๆ ในอินเดียปฏิบัติกันอยู่แล้ว โดยไม่เคยมีกฎหมายกลางที่กำหนดเรื่องการเปิดเพลงชาติมาบังคับใช้ทั้งประเทศ ปล่อยให้เป็นเรื่องของ 29 รัฐที่จะจัดการออกกฎเรื่องนี้กันเอง แต่ธรรมเนียมนี้ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป
ต่อมา เมื่อตุลาคม 2016 อินเดียก็มีกฎหมายเรื่องการเปิดเพลงชาติในโรงหนัง ครั้งนั้นมีกระแสรักชาติกับกระแสต่อต้านเกิดขึ้น จนมีคนถูกจับเมื่อไม่ยอมลุกขึ้นยืนขณะเพลงกำลังบรรเลง
ด้านกลุ่มคนรักภาพยนตร์กล่าวว่า คำสั่งศาลที่บังคับให้โรงภาพยนตร์ต้องเปิดเพลงชาติและให้คนดูต้องยืนจนกว่าเพลงจะจบ ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และการแสดงออกว่ารักชาติ ไม่ได้เท่ากับการรักชาติจากภายในจริงๆ
การยกเลิกคำสั่งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร (9 ม.ค. 61) หลังจากที่รัฐบาลร้องขอให้ศาลทบทวนประเด็นนี้อีกครั้ง และศาลฯ ก็เปลี่ยนจาก ‘การบังคับ’ ให้เปิดเพลง กลายเป็น ‘ทางเลือก’ ที่โรงภาพยนตร์จะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้
แต่ต่อให้กฎหมายจะเปลี่ยนไปแล้ว ดูเหมือนว่ากระแส ‘รักชาติ’ ที่ระอุขึ้นในใจของคนอินเดียกลุ่มหนึ่งจะร้อนแรงไม่หยุด ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่า ใครก็ตามที่ไม่ลุกขึ้นยืนเมื่อเปิดเพลงคือคนที่ไม่รักชาติหรือไม่ และน่ากังวลว่า ต่อไปนี้ คนที่เพิกเฉยไม่ยอมลุกขึ้นระหว่างเพลงชาติ อาจโดนลงโทษทางสังคมก็ได้
บ้างก็บอกว่า โรงภาพยนตร์ไม่เปิดเพลงชาติก็ไม่เปิดไร แต่หากเลือกจะเปิดแล้ว ประชาชนก็ควรลุกขึ้นแสดงความเคารพเสมอ
เมื่อเห็นข่าวนี้แล้ว เราจึงลองไปค้นดูว่า ประเทศอื่นๆ ในโลก เขามีกฎกติกาเรื่องนี้อย่างไร
ที่สหรัฐอเมริกา ข้อตกลงมีอยู่ว่า เมื่อไรที่ได้ยินเสียงเพลงชาติ ผู้คนควรจะหยุดยืน เอามือขวาทาบอก หันหน้าไปทางธงชาติ ถ้าไม่มีธงก็หันไปยังต้นตอของเสียงเพลง แต่ไม่ได้มีกฎบังคับว่าทุกคนจะต้องทำตาม
ใกล้ๆ กันที่เม็กซิโก มีกฎหมายว่าดัวยตราประจำชาติ ธง และเพลงชาติ ที่บังคับให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องชักธงชาติทุกๆ เช้าวันจันทร์ และในวันเปิดปิดภาคเรียนก็ต้องเปิดเพลงชาติ โรงเรียนบางแห่งกำหนดให้นักเรียนแต่งกายสีขาวในวันจันทร์เพื่อแสดงความเคารพต้องธงชาติด้วย
ส่วนที่อิตาลี ดูจะไม่ค่อยมีพิธีรีตองเกี่ยวกับเพลงชาติ เพลงชาติไม่ค่อยถูกเปิดในที่สาธารณะ จะมีก็แต่ในเกมกีฬาหรือพิธีกรรมทางการที่ประธานาธิบดีไปเข้าร่วม แต่ก็มีธรรมเนียมให้ยืนเคารพเพลงชาติเมื่อได้ยิน
ประเทศไทยของเรา เป็นประเทศที่เข้มงวดทางสังคมเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ไทยเราเปิดเพลงชาติทุกๆ แปดโมงเช้าและหกโมงเย็น นักเรียนต้องยืนเข้าแถวเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติทุกเช้า นอกจากนี้ ในสถานที่ราชการก็เปิดเพลงชาติในเวลาเดียวกัน ส่วนในโรงหนังก็มีธรรมเนียมการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมเนียมที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2485 ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเคยเป็นไปตามพ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ผู้ฝ่าฝืนมักถูกลงโทษทางสังคม แต่ต่อมา กฎหมายข้อนี้ได้รับการแก้ไข ไม่มีการกำหนดโทษอาญาแก่คนที่ไม่ยืนเคารพธงชาติแล้ว แต่ยังคงธรรมเนียมอยู่ดังเดิม
ที่ญี่ปุ่น มีกฎหมายว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติ แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่บังคับถึงการประพฤติปฏิบัติ หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ มีเสรีภาพที่จะออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่นี่ก็ทำให้เกิดปัญหา คือเมื่อปี 2003 โตเกียวมีกฎให้โรงเรียนจดชื่อของครูที่ไม่ยอมยืนและร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญจักรพรรดิ เพราะคนจำนวนหนึ่งมองว่าเพลงดังกล่าวเชื่อมโยงกับสงครามที่เกิดขึ้นในอดีต จึงไม่ยอมยืนเพื่อเป็นการประท้วง การจดชื่อทำให้ครูจำนวนมากถูกลงโทษ บางคนถูกแจ้งเตือน บางคนต้องตกงาน รวมถึงยังมีแรงกดดันทางอื่นๆ
ที่มา:
http://www.bbc.com/news/world-asia-india-42618830
https://www.huffingtonpost.com/asiatoday/indian-cinemas-ordered-to_b_13659332.html
Tags: ภาพยนตร์, อินเดีย, เพลงชาติ, โรงหนัง