การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในชิลีกินเวลามาเกือบ 1 เดือนแล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อใด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค่าเงินเปโซของชิลีตกลงมาต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์มาอยู่ที่ 784 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เซบาสเตียน ปินเยรา ประธานาธิบดีชิลีและหัวหน้าพรรคที่เป็นพันธมิตรของรัฐบาลได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีรัฐสภาเป็นเจ้าภาพและจะมีการลงประชามติ หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อยู่ที่การสร้างสัญญาประชาคมใหม่ที่มีพื้นฐานจากความต้องการของพลเมือง ทั้งนี้จะเริ่มพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน แต่ก็ยังไม่ระบุกำหนดเวลาแน่ชัด
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล และเรียกร้องให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ “นี้เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง พลเมืองชิลีเบื่อหน่ายกับชนชั้นทางการเมืองที่เสียงของพวกเขาไม่ถูกรับฟังหรือให้คุณค่า”
ผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนยังคงรวมตัวกันที่จัตุรัสกลางกรุงซานติเอโก เมืองหลวงของชิลี โบกธงชาติและธงของกลุ่มชาติพันธุ์ Mapuche ขณะที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุม
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนสหภาพแรงงานต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม พลังงาน ทองแดงประกาศนัดหยุดงาน โดยมีแรงงานจากสนามบินต่างๆ พนักงานรถไฟใต้ดิน และภาคอุตสาหกรรมเกษตรและภาคธุรกิจอื่นๆ นัดหยุดงานและเข้าร่วมการชุมนุมด้วย
ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมเป็นต้นมามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 คน ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก ระบบขนส่งมวลชนถูกปิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ดวงตาเพราะถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อย 180 คน
ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนมหาศาล มีแต่ชนชั้นนำและคนรวยกลุ่มเล็กเท่านั้นที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประชาชนที่ออกมาชุมนุมระบุว่า ได้ค่าจ้างต่ำ ค่าครองชีพสูง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการศึกษาสูง
ที่มา:
ภาพ: REUTERS/Ivan Alvarado
Tags: ชิลี