ลองนึกภาพการวาดช้างสักตัวที่ลงรายละเอียดไปถึงทุกร่องผิวหนังรวมถึงลวดลายและเท็กซ์เจอร์ของผืนผ้าบนหลังช้าง นักมวยที่ชำนาญการต่อสู้ในท่วงท่าอันเป็นตำนานของมวยไทย ข้าวบาร์เลย์และฮ็อบส์ที่ลอยละล่องซึ่งต้องวาดทีละเม็ด หรือกระทั่งน้ำพุที่พวยพุ่งให้ความสดชื่น—เหล่านี้มีจุดเริ่มต้นจากงานวาดมือของ พิงค์ ฉัตรชนก วงศ์วัชรา นักวาดภาพประกอบแถวหน้าของเมืองไทย ก่อนที่ทั้งหมดจะกลายเป็นงานวิดีโอสุดอลังการในแคมเปญ Chang Beer Lamiat ที่ว่าด้วย 4 ปรัชญาสำคัญของแบรนด์คือ craftmanship, harmony, respect และ refreshment

เพื่อความสมจริง ตระการตา จับใจผู้ชมทั้งชาวไทยและทั่วโลก ความละเมียดจากปลายดินสอของพิงค์จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเธอใช้เวลาอยู่หลายเดือนพัฒนางานร่วมกับผู้กำกับฯ สาธิต กาลวันตวานิช ผู้กำกับโฆษณามือรางวัลระดับโลก เจ้าของบริษัท ฟีโนมีนา โปรดักชั่นเฮ้าส์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย และทีมแอนิเมชั่น Yggdrazil ซึ่งคราวนี้ดูเหมือนจะเป็นงานที่เธอทุ่มเทกับการลงรายละเอียดมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต และก็ไม่ใช่แค่ในการจรดดินสอลงไปบนกระดาษเท่านั้น

“เราว่าความคราฟต์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเฉพาะสกิลอย่างเดียว อยู่ในวิธีคิดก็ได้ เหมือนคำที่ว่า ‘god is in details’ การใส่ใจเรื่องเล็กน้อยที่อาจจะผ่านหูผ่านตาใครไป ถ้ามีคนสังเกตเห็น มันคือการเพิ่มสเน่ห์ให้กับงานขึ้นอีกเท่าตัว ดังนั้นความคราฟต์หรือความละเมียดที่เรารู้สึกถึงจึงเป็นการใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า เพื่อให้คุณภาพของงานออกมาดีที่สุดในทุกๆ ด้าน ยิ่งพอต้องทำออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วด้วย

ก่อนหน้านี้เราทำงานโมชั่นมาเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นภาพวาดเรียลลิสติกขนาดนี้ นี่เป็นครั้งแรก มันท้าทายที่ต้องวาดทุกส่วนให้สมจริง โดยพี่สา (ผู้กำกับฯ) จะมีวิชวลที่อลังการงานสร้างมาก ดังนั้นมันจะไม่ได้ขยับแค่ 2 มิติ แต่นักมวยต้องหมุน 360 องศา มีมุมจากด้านบนและด้านล่าง มีการซูม ก็ต้องมีการทำโมเดลขึ้นมาก่อน แล้วนับพื้นผิวแต่ละด้านประกอบเข้าไป ก่อนจะทำให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหว”

เพียงฟังจากที่เล่าหลายคนอาจรู้สึกเหน็ดเหนื่อยแทน กับการลงรายละเอียดกับภาพเดียวภาพเดิมซ้ำไปซ้ำมาทีละมุม แต่สำหรับพิงค์มันกลายเป็นอีกหนึ่งความสนุกในการทำงาน

“เราจบกราฟิกดีไซน์มา จึงสนใจเรื่องรูปร่างรูปทรงของกราฟิกเป็นทุนอยู่แล้ว และเรารู้สึกว่า มันน่าสนใจที่เราจะได้ลองบิด (twist / distort) ฟอร์มของวัตถุให้อยู่ใน shape ที่ไม่ได้เห็นโดยชินตา ซึ่งก็จะมีส่วนที่ยากมากๆ เช่นน้ำพุ คือการเคลื่อนไหวของน้ำ เราจะทำยังไงให้เป็นธรรมชาติ ก็อาจต้องวาดทีละช็อตต่อวินาทีไปเลย เช่นใน 1 วินาทีมี 25 ช็อตเราก็ต้องวาดทั้งหมด แต่ที่สุดแล้วการทำงานร่วมกับทีมก็ช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น สุดท้ายในบางช็อตจึงเหลือวาดแค่ 2-3 ซีน แล้วทีมช่วยเอาไปขยับต่อ แล้วพองานเสร็จ เห็นออกมาเป็น 3D เราก็ว้าวเหมือนกัน”

นั่นเอง—เมื่อเราลองย้อนดูงานในวิดีโอซ้ำอีกสักครั้งก็พบว่าในทุกช็อต ทุกซีนล้วนผ่านวิธีคิดอย่างละเอียดลออ ว่าจะวาดแต่ละส่วนออกมาเป็นแบบไหน จะ transition สู่ฉากต่อไปอย่างไร ดังนั้นเมื่อกดหยุดวิดีโอไม่ว่าจะวินาทีไหน เราก็พบว่ามันกลายเป็นภาพนิ่งที่มีรายละเอียดน่าประทับใจมากทีเดียว และที่สำคัญ ด้วยความเป็นแบรนด์ global งานโฆษณาชิ้นนี้ของช้างจึงได้รับการเผยแพร่ในระดับสากล ซึ่งสิ่งที่ต้องบอกเล่าคือคอนเซปต์ของ ‘ความเป็นไทย’ ที่แม้จะไม่ได้ไกลตัว แต่ก็นับเป็นงานท้าทายสำหรับพิงค์อยู่ดี

“ที่ผ่านมา ลายเส้นในงานเราจะไม่ได้ไทยขนาดนั้น พอลองมาทำงานกับคอนเซปต์นี้ โจทย์ของเราจึงเป็นการทำยังไงให้มันไม่เชย ซึ่งเราแก้ปัญหาด้วยการใช้สี สมมติถ้าเราใส่สีผิวคนเป็นสีปกติ ความเรียลลิสติกของมันก็อาจจะทำให้ภาพดูธรรมดา ดังนั้นเราจึงเลือกใช้สีที่เป็นคาแรกเตอร์ของแบรนด์เป็นหลักก่อน ส่วนทั้งสีผิวคนหรือช้างก็ตาม เราเลือกใช้สีเอิร์ธโทน ให้มันร่วมสมัยหน่อย”

ขณะที่การแสดงออกถึงคอนเซปต์ความเป็นไทย พิงค์ก็ไม่ได้เลือกเล่าโดยจับภาพจำทั้งหมดยัดลงไปในตัวงาน น่าสนใจที่ว่าตัวเธอเองค่อนข้างชินกับภาพความไทยของยุคสมัยนี้ ซึ่งพิงค์เล่าว่ามันคือบรรยากาศที่เราเห็นรอบตัวในทุกวันนี้ เป็นสีสันของท้องถนน ตลาด หรือวิถีชีวิตคน แต่ถึงอย่างนั้นในการทำงานวิชวลเพื่อสื่อสาร ก็อาจต้องเลือกเล่าภาพที่เข้าถึงคนได้ง่ายก่อน

“ถ้าพูดถึงความเป็นไทย ยังไงภาพชัดเจนในหัวคนเรามันมีอยู่ ในบางงาน เราตัดส่วนนั้นออกไปไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถสื่อให้ทุกคนเข้าใจร่วมกัน ซึ่งในรายละเอียดเราก็ต้องทำให้ถูกต้อง ต้องรีเสิร์ชเยอะมากทั้งลวดลายผ้า เครื่องแต่งกาย ขบวนช้าง หรือท่วงท่าของมวยไทย ส่วนองค์ประกอบอื่นบางครั้งเราก็ไม่ได้ใส่ลงไปตรงๆ เช่นลวดลายบนฝาผนังวัด งานนี้เราก็จะใช้การตวัดลายเส้น หรือใส่กลิ่นอายของลายกนกใส่เข้าไปในงานแทน ให้มันดูเป็นเอเชียนหน่อยๆ เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า”

ด้วยเหตุนั้น ความเป็นไทยที่พิงค์สื่อออกไปจึงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรุ่มรวยและวัฒนธรรมดั้งเดิมอันเป็นใจความสำคัญในคอนเซปต์ที่จับใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนั้น พิงค์จึงภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่งในฐานะคนไทยที่ได้บอกเล่าเรื่องนี้ออกไป และทั้งรายละเอียดในตัวชิ้นงานกับกระบวนการคิดที่ต้องทำงานหนัก ก็ทำให้ Chang Beer Lamiat กลายเป็นก้าวสำคัญของพิงค์ในฐานะนักวาดภาพประกอบและวิชวลอาร์ทิสต์ ขณะเดียวกัน คืออีกหนึ่งการเรียนรู้ในเส้นทางอีกยาวไกลด้วย

“ถึงตอนนี้เราว่าเราก็ยังไม่ได้อยู่ตัวขนาดนั้น เรายังต้องเรียนรู้ ปรับตัวทุกวัน ในการทำงานกับคนอื่นเราต้องลดอีโก้ลง รู้จักประนีประนอม เพราะบางทีเราก็ไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็น บางทีลูกค้าหรือโปรดักชั่นเฮ้าส์เอง เขารู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เราก็ต้องลดอัตตาลงและเชื่อในสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องให้ตัวเองหายไปหมดนะ มันต้องปรับจูนกัน แล้วเราโชคดีที่ทีมค่อนข้างให้เกียรติ เรายังเสนอความเป็นตัวเองได้ ไม่ว่าจะในเรื่องความคิดหรือสไตล์

บางครั้งลายเซ็นอาจไม่ได้อยู่ที่สไตล์อย่างเดียว แต่อาจเป็นที่กระบวนการทำงานและวิธีการทำงานด้วย”—เธอทิ้งท้ายกับเราอย่างนั้น

Tags: , , , , , , ,