เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการบังคับเมฆให้เกิดเป็นฝน จนเป็นเทคโนโลยีฝนหลวง ช่วยขจัดความทุกข์ยากให้แก่พสกนิกรที่ประสบภัยแล้ง และเป็นองค์ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 

รัฐบาลจึงจารึกวันดังกล่าวเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยในชื่อ ‘วันพระบิดาฝนหลวง’ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงก่อให้เกิดเทคโนโลยีฝนหลวง อันเป็นมรดกสำคัญของประเทศในการช่วยเหลือประชาชนมาตลอดระยะเวลา 69 ปี

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในงานจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 แสดงถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระองค์ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง ในการรักษา สืบสาน และต่อยอด 

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาโดยตลอด เพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจทั้งในการพระราชพิธีสำคัญเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรไทย โดยทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่างๆ และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล เหล่านี้ส่งผลให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์ และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน

อาจกล่าวได้ว่า โครงการพระราชดำริฝนหลวงเป็นการร่วมกันสืบสานการเป็นจิตอาสาพัฒนาตามพระบรมราชาโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าและชุมชน ตลอดจนสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสร้างความสุขให้แก่ประชาชน

‘โครงการพระราชดำริฝนหลวง’ จึงนับเป็นการทำงานต่างพระเนตรพระกรรณที่สำคัญ ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”