ทำไมต้อง New Year

0.36

ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบนี้จะมีธรรมเนียมที่หลายๆ คนทำกัน นั่นคือการตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution ที่น่าสนใจคือทำไมต้องเป็นปีใหม่ หนุ่มเมืองจันท์ให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะคนเราต้องการหาหลักกิโลเมตร ในขณะที่ความจริงแล้วเราสามารถกำหนดของเราเองได้ คล้ายๆ กับที่นิตยสารและหนังสือพิมพ์สมัยก่อนมีแค่รายเดือน รายสิบห้าวัน รายเจ็ดวัน และรายวัน จนวันหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจที่เคยออกรายสัปดาห์คิดอยากจะเพิ่มความถี่เพราะสปอนเซอร์เยอะ แต่จะออกรายวันก็ไม่กล้า เลยตั้งวันที่ใหม่แล้วออกเป็นรายสามวันแทน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเราก็สามารถกำหนดวันเริ่มต้นสิ่งต่างๆ เองได้ แต่การเริ่มต้นตอนปีใหม่ก็ดีอยู่อย่างหนึ่งคือเราได้เริ่มต้นไปพร้อมๆ กันกับคนอื่น และขณะเดียวกันก็เป็นจุดตัดให้เราได้ลองทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาในรอบปีได้ง่ายๆ

ประมวลตัวเองต้อนรับปีใหม่

02.45

มีรายงานวิจัยออกมาว่าคนที่ตั้งปณิธานปีใหม่นั้น สัก 70% นั้นจะเลิกล้มความตั้งใจเมื่อเวลาผ่านไปได้แค่สองเดือน และเหลือผู้ที่ทำสำเร็จได้ไม่ถึง 10% เท่านั้น

ส่วนตัวแล้วหนุ่มเมืองจันท์นั้นเป็นคนที่ไม่ได้ตั้งปณิธานอะไรในช่วงปีใหม่ แต่ใช้เวลาไปกับการคุยกับตัวเองเพื่อสรุปสิ่งที่ผ่านมาในช่วงหนึ่งปี เราได้บทเรียนอะไรในหนึ่งปีที่ผ่านมาบ้าง ทั้งจากสิ่งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว และบทเรียนที่ดีที่สุดไม่ใช่บทเรียนที่ว่าควรทำอะไร แต่เป็นบทเรียนที่บอกเราว่าไม่ควรทำอะไร เหมือนบทเรียนทางธุรกิจที่บอกว่าการเรียนรู้เพื่อระวังจุดตายสำคัญกว่าการเรียนรู้ว่าสำเร็จอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่รวมไปถึงการใช้ชีวิตด้วย

ส่วนวงศ์ทนงนั้นมองว่าคนที่ยึดหลักไมล์ตอนช่วงปีใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองนั้นเหตุผลหนึ่งก็คงเป็นเพราะมันง่ายดี และอีกด้านคือเป็นการให้โอกาสตัวเอง ถ้าย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่นการเคานต์ดาวน์ก็เป็นกิจกรรมประจำที่ต้องออกไปทำทุกปี แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็รู้สึกว่าการออกไปเคานต์ดาวน์นั้นมันมีสาระน้อยไปหน่อย ช่วงปลายปีที่ผ่านมาวงศ์ทนงเลยเลือกใช้ชีวิตช่วงปีใหม่กับการทบทวนตัวเอง ทำอะไรสำเร็จบ้าง มีอะไรที่ต้องปรับปรุงมั้ย ที่สำคัญคือเผลอไปทำร้ายใครบ้างรึเปล่า และใช้วาระปีใหม่นี้ในการเริ่มทำ และเลิกทำอะไรบางอย่าง

ต้นทุนน้อยไม่ใช่ข้ออ้าง

07.37

คนเราส่วนมากคงรู้กันว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะลงมือทำหรือไม่ทำเมื่อไหร่เท่านั้น คนเรานั้นถ้าคิดแล้วไม่ลงมือทำสักที บางทีการไม่คิดอาจจะดีกว่า เพราะไม่คาใจ ไม่ทรมาน และถ้ามีใครลงมือทำในสิ่งที่เราคิดแล้วประสบความสำเร็จมันจะเจ็บทั้งชีวิต

หลายคนมีความฝันที่ดีแต่ไม่กล้าลงมือทำเพราะให้ค่ากับตัวเองต่ำไป สู้คนอื่นไม่ไหว ต้นทุนน้อยกว่าใครๆ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ยกตัวอย่างของคุณตัน ภาสกรนที ที่เรียนจบแค่ม.ศ.3 เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นกรรมกรเงินเดือน 700 บาท แต่ประสบความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นการมีต้นทุนน้อยไม่ใช่ข้ออ้างในปัจจุบันนี้อีกแล้ว

“ปราชญ์คือคนสามัญที่ลงมือกระทำ คนสามัญคือปราชญ์ที่ไม่ยอมลงมือกระทำ” – หนุ่มเมืองจันท์

“ต้นทุนอาจมีไม่เท่ากัน แต่การตามทันเกิดขึ้นได้” – วงศ์ทนง

วิชาลำบาก

12.13

บางครั้งการเดิดมาต้นทุนต่ำก็อาจเป็นความได้เปรียบในอนาคต เพราะคุณจะเจอวิชาลำบากที่ไม่มีใครอยากลงเรียน แต่เป็นวิชาที่ทำให้คุณทำงานทุกอย่างได้อย่างสบายมากขึ้น เพราะสิ่งที่คุณเคยผ่านมานั้นมันลำบากมากกว่านี้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ และคนกลุ่มนี้จะมองเห็นคุณค่าของโอกาสมากกว่าคนทั่วไป เพราะเค้าจะมีทางเลือกในชีวิตน้อย ทำให้เวลามีโอกาสผ่านเข้ามาไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็จะคว้าไว้ทั้งหมด ต่างจากคนที่ไม่เคยผ่านความลำบากที่มักจะคิดว่าตัวเองเก่งและมีทางเลือกมาก ทำให้ทิ้งโอกาสหลายๆ อย่างไป ทำให้บริษัทในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะรับคนกลุ่มนี้เข้าทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Google

“บางครั้งคนที่มีทัศนคติดีก็เป็นที่น่าร่วมงานมากกว่าคนเก่ง” – หนุ่มเมืองจันท์

โอกาสอาจต้องรอ

18.33

คนกลุ่มหนึ่งที่วงศ์ทนงชื่นชอบและนับถือคือคนที่คิดว่าโอกาสนั้นมีอยู่เสมอ ซึ่งโอกาสนั้นก็คล้ายกับอากาศ ถ้าเราอยู่ในห้องแล้วอยากได้อากาศเราก็ต้องเดินไปเปิดหน้าต่างเอง

เวลาเรามองว่าเราไม่มีโอกาสหรือถึงทางตันแล้ว ความจริงแล้วมันไม่ใช่ เพียงแค่เรายังไม่เจอทางออกเท่านั้น ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องรอเวลาหรือปรับเปลี่ยนมุมมองจึงจะเห็นมัน แต่ถ้าเรายอมจำนน ณ ตอนนั้นเลยยังไงเราก็ไม่รอด เหมือนเวลาที่คนหลงป่าเค้าบอกว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ตายเพราะอดอาหาร แต่เค้าตายเพราะหมดความหวัง ไม่เชื่อว่าจะสามารถรอดได้

มุมมองของปัญหา

21.12

บางครั้งที่เรามองไม่เห็นทางออก หนุ่มเมืองจันท์แนะนำว่าเราอาจต้องเคลื่อนตัวเองออกจากปัญหา เพราะเวลาเรามีปัญหานั้นคนส่วนใหญ่จะคิดในจุดเดิมของตัวเองและคิดในมุมของตัวเอง แต่ถ้าเราถอยออกมาจากปัญหา และมองด้วยแนวคิดของคนกลุ่มอื่นเราจะเห็นปัญหาเปลี่ยนไป

ปัญหาเปรียบเหมือนกำแพงใหญ่ๆ ที่อยู่ดีๆ ก็ปรากฏตรงหน้า คนส่วนใหญ่ก็จะขวัญหนีดีฝ่อ แต่ถ้าเราลองพินิจพิจารณามันให้ดี ลองถอยออกมาจนถึงระยะหนึ่งเราจะพบว่าปัญหาใหญ่โตนั้นมันจะเล็กลง และบางครั้งก็เล็กกว่าตัวเราด้วยซ้ำ เราก็สามารถลงมือแก้มันได้ ซึ่งเมื่อเราแก้ปัญหาได้นอกจากจะรู้สึกสบายใจแล้วเราจะยังนับถือตัวเองมากขึ้นด้วย
พลเอกชาติชาย ชุณหวัน เคยกล่าวไว้ว่าปัญหาในโลกนี้มีอยู่แค่สองอย่าง คือปัญหาที่แก้ได้กับปัญหาที่แก้ไม่ได้ บางครั้งเมื่อเราเจอปัญหาก็อาจจะต้องมานั่งพินิจดูว่าอะไรที่แก้ได้บ้าง และเลือกทำในสิ่งนั้นก่อน เมื่อเราแก้ปัญหาเหล่านั้นได้บางทีมันก็จะนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ในตอนแรกก็ได้

ความพิการอันเหนือชั้น

26.44

ในงานพาราลิมปิกที่ถูกจัดขึ้นในปี 2016 นี้มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจจากการแข่งขันวิ่งคนพิการชาย 1,500 เมตร สิ่งที่น่าทึ่งคือนักวิ่งที่เข้าอันดับ 1-4 จากรายการนี้ทำเวลาได้ดีกว่านักวิ่งเจ้าของเหรียญทองจากรายการเดียวกันในกีฬาโอลิมปิก ถือเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมากๆ สำหรับคนที่ประเมินตัวเองต่ำและบอกว่าตัวเองมีต้นทุนต่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีความสำคัญเลยถ้าคุณมีความพยายาม

“ชีวิตคนเรามีโอกาสอยู่เสมอ ขอแค่เราพยายามและไม่ยอมแพ้ แล้วเราจะมองเห็นมันเอง” – วงศ์ทนง

Tags: