การก่อตั้งประเทศแคนาดาเมื่อปี 1867 ในฐานะประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ เพลง ‘God Save the Queen’ จึงถูกใช้เป็นเพลงชาติแคนาดาไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งอยากหาเพลงอื่นมาทดแทน จึงนำเพลงที่แต่งโดยนักประพันธ์เชื้อสายฝรั่งเศสชื่อ คาลิซา ลาเวลลี (Calixa Lavallee) เพื่อใช้ในงานเฉลิมฉลองนักบุญฌอง-แบปทิสต์ (Saint Jean-Baptiste) ในปี 1880 มาใช้เป็นเพลงชาติ โดยมีเซอร์อดอล์ฟ-บาซีล รูทิเอร์ (Sir Adolphe-Basile Routhier) ผู้พิพากษาและกวีชื่อดังในยุคนั้น เป็นผู้แต่งคำร้องภาษาฝรั่งเศส โดยตั้งชื่อเพลงดังกล่าวว่า ‘O Canada’ ต่อมาโรเบิร์ต สแตนลีย์ เวียร์ (Robert Stanley Weir) จึงแต่งคำร้องภาษาอังกฤษในปี 1906 ซึ่งภายหลังก็ได้รับความนิยมมากกว่าต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

เพลง ‘O Canada’ กลายเป็นเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จเยือนแคนาดาเมื่อปี 1939 ซึ่งรัฐบาลแคนาดาก็ใช้เพลง ‘O Canada’ ในฐานะเพลงชาติควบคู่ไปกับเพลง ‘God Save the Queen’ เสมือนกับเป็นการประกาศทางอ้อมว่านับแต่นี้เพลงชาติของแคนาดาจะใช้ไม่เหมือนกับอังกฤษอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้นิยมกษัตริย์จำนวนหนึ่งยังคงต่อต้านการใช้เพลง ‘O Canada’ เป็นเพลงชาติ ทำให้นายกรัฐมนตรีเลสเตอร์ เพียร์สัน (Lester Pearson) ต้องเสนอร่างกฎหมายเพลงชาติในปี 1964 แต่ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี กว่าจะมีการประกาศใช้กฎหมายในปี 1980 โดยรัฐบาลแคนาดาต้องซื้อลิขสิทธิ์คำร้องที่แต่งโดยโรเบิร์ต สแตนลีย์ เวียร์ เป็นมูลค่า 1 ดอลลาร์แคนาดา โดยมีการแก้ไขคำร้องเล็กน้อย

เพลง ‘O Canada’ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเพลงชาติแคนาดาอย่างเป็นทางการ มีคำร้องว่า

O Canada!

Our home and native land!

True patriot love in all thy sons command.

With glowing hearts we see thee rise,

The True North strong and free!

From far and wide,

O Canada, we stand on guard for thee.

God keep our land glorious and free!

O Canada, we stand on guard for thee.

O Canada, we stand on guard for thee

อย่างไรก็ตาม คำร้องในท่อน ‘True patriot love in all thy sons command’ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สร้างความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากคำว่า sons เป็นการให้ความสำคัญกับเฉพาะเพศชาย ทั้งที่เพศอื่นก็รักชาติได้เช่นเดียวกัน จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อขอแก้ไขเนื้อร้องท่อนดังกล่าว นำโดยกลุ่ม Restore Our Anthem ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรีคิม แคมป์เบลล์ (Kim Campbell) เป็นแกนนำคนสำคัญ การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ปี 1980 โดยมีการเสนอเป็นร่างกฎหมายถึง 12 ครั้ง เพื่อขอเปลี่ยนเนื้อร้องท่อนดังกล่าวเป็น ‘True patriot love in all of us command’ แต่ก็ถูกต่อต้านจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมซึ่งมีที่นั่งจำนวนมากในรัฐสภา

การเคลื่อนไหวเพื่อขอแก้ไขคำร้องเพลงชาติได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2013 สถาบันวิจัย Forum Research ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวแคนาดาที่พูดภาษาอังกฤษจำนวน 1,484 คน พบว่ากว่าร้อยละ 65 สนับสนุนให้มีการแก้ไขคำร้องของเพลงชาติ

หนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญของการเคลื่อนไหวและเป็นสมาชิกหลักของกลุ่ม Restore Our Anthem คือมาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood) นักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงานอย่าง The Handmaids Tale  ครั้งหนึ่ง แอตวูดเคยกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงคำร้องของเพลงชาติไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การแก้ไขคำร้องง่ายๆ เพื่อให้ฟังดูมีความเท่าเทียมกันสำหรับชาวแคนาดาทุกคน แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น”

แอตวูดเห็นว่าเพลงชาตินั้นมีผลต่อความนึกคิดของผู้คนในสังคม การเปลี่ยนแปลงคำร้องจึงส่งผลต่อการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมด้วย

หนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญของการเคลื่อนไหวและเป็นสมาชิกหลักของกลุ่ม Restore Our Anthem คือมาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood)

ในยุคที่กระแสเสรีนิยมเริ่มกลายเป็นกระแสหลักในแคนาดา การพยายามแก้ไขเนื้อร้องเพลงชาติก็ประสบความสำเร็จ โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา วุฒิสภาของแคนาดาได้ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขคำร้องของเพลง ‘O Canada’ เพื่อให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น กฎหมายฉบับดังกล่าวค้างอยู่ในรัฐสภาเกือบสองปีกว่าจะประกาศใช้ได้ โดยคำร้องใหม่ที่มาแทน ‘in all thy sons command’ คือ ‘in all of us command’ และคำร้องใหม่นี้ถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้

ความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องเพลงชาติยังไม่จบเพียงเท่านี้ ท่อนต่อมาที่มีการพูดถึงคือ ‘God keep our land glorious and free’ แน่นอนว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนตอนที่โรเบิร์ต สแตนลีย์ เวียร์ แต่งคำร้องนี้ขึ้นมา ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก แต่ในปัจจุบันมีประชากรกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ที่อพยพมาจากประเทศอื่น ความหลากหลายทางศาสนาจึงมีมากขึ้น พระเจ้า (God) ที่ระบุไว้ในเพลงชาติจึงไม่ใช่ศูนย์รวมจิตใจของทุกคนอีกต่อไป

การสำรวจเมื่อปี 2013 พบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาและไม่ไปโบสถ์เหมือนกับคนรุ่นก่อน นอกจากนี้ เหตุการณ์ในอดีตที่ผู้รุกรานผิวขาวจากยุโรปกล่าวหาชาวพื้นเมือง (Native People) ว่าเป็นพวกนอกศาสนา ไม่นับถือพระเจ้า ซ้ำยังใช้การเผยแพร่ศาสนาเป็นข้ออ้างในการยึดครองดินแดน ซึ่งแม้ในปัจจุบันชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็ยังมีความเชื่อและประเพณีบางอย่างที่สืบทอดมาแต่โบราณ

การตัดคำว่า ‘God’ แล้วหาคำอื่นมาทดแทน จึงเป็นการทำให้ชาวแคนาดาทุกคนร้องเพลงชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน

เพลงชาติเป็นสัญลักษณ์สำคัญของรัฐชาติสมัยใหม่ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้สร้างอัตลักษณ์ของคนในชาติ แต่แน่นอนว่าอัตลักษณ์ของแต่ละยุคสมัยย่อมเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การตัดคำว่า ‘God’ แล้วหาคำอื่นมาทดแทน จึงเป็นการทำให้ชาวแคนาดาทุกคนร้องเพลงชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน

‘ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย’

คนไทยทุกคนคุ้นเคยกันดีกับเนื้อร้องท่อนแรกของเพลงชาติไทย เราร้องเพลงนี้ที่หน้าเสาธงในโรงเรียนตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าเราจะเป็นชาวปกาเกอะญอที่เชียงใหม่ ชาวมอญที่สังขละบุรี ชาวจีนที่เยาวราช หรือชาวมลายูที่ปัตตานี

คำร้องดังกล่าวมาจากการประกวดคำร้องเพลงชาติไทยหลังจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นประเทศไทยเมื่อปี 2482 โดยยังใช้ทำนองเพลงชาติเดิมที่แต่งโดยพระเจนดุริยางค์ ผู้ที่ชนะการประกวดคือ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) โดยส่งประกวดในนามกองทัพบก ซึ่งรัฐบาลมีการแก้ไขคำร้องที่ส่งเข้าประกวดเพียงเล็กน้อย โดยแก้ไขท่อน ‘เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน’ เป็น ‘เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน’ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำคำว่า ‘ประชารัฐ’ มาแทนที่คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ !!!

ท้ายที่สุด รัฐบาลไทยก็ประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 6 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2482 เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งก็คือเพลงชาติไทยที่เรายืนฟังวันละสองเวลาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

 

 

ที่มา

Tags: , ,