การก่อการร้ายที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ว่าใครก็อาจตกเป็นเหยื่อของวินาศกรรม การไหลหลั่งของผู้อพยพที่หนีไฟสงครามจากบ้านเกิดเมืองนอน และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่หลังผ่านวิกฤตใหญ่มาร่วมทศวรรษ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ประชาชนในหลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรัฐบาลในรูปแบบเก่าๆ ว่าจะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของตนได้หรือไม่ ความคิดความเชื่อทางการเมืองในรูปแบบเดิมๆ ถูกตั้งคำถาม ผลพวงของความพลิกผันนำไปสู่การหันเข้าหาความคิดทางการเมืองแบบขวาจัดในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา การลงประชามติ Brexit ของสหราชอาณาจักร หรือแม้แต่ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของนักการเมืองชาตินิยมขวาจัดในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และล่าสุดคือออสเตรีย
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ดูจะทวนกระแสขวาหันของโลกคือแคนาดา ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีหนุ่ม จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ที่เลือกเดินไปบนเส้นทางซึ่งแตกต่างจากเพื่อนบ้านเพียงหนึ่งเดียวอย่างสหรัฐฯ เพราะในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ทยอยประกาศนโยบายกีดกันผู้อพยพ ทรูโดกลับเลือกทำสิ่งตรงกันข้าม คือการประกาศต้อนรับผู้อพยพ รวมถึงการไปรอรับผู้อพยพจากซีเรียที่สนามบิน
ประเทศที่ดูจะทวนกระแสขวาหันของโลกคือแคนาดา ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีหนุ่ม จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ที่เลือกเดินไปบนเส้นทางซึ่งแตกต่างจากเพื่อนบ้านเพียงหนึ่งเดียวอย่างสหรัฐฯ
เช่นเดียวกัน เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เลือกโยนความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness) ลงถังขยะ นายกรัฐมนตรีทรูโดก็เลือกแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่มาจากหลายกลุ่มหลากเชื้อชาติ ทั้งผู้อพยพที่ไม่ได้เกิดบนแผ่นดินแคนาดาและผู้พิการ รวมทั้งการแสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุนกลุ่ม LGBT โดยเข้าร่วมเทศกาล Pride ที่จัดขึ้นในเมืองต่างๆ ของแคนาดาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่นอกจากจะไม่ถอนตัวจากข้อตกลงกรุงปารีส ทรูโดยังเสนอให้เก็บภาษีคาร์บอนอีกด้วย ซึ่งภาษีดังกล่าวคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในปี 2561 โดยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอัตราสูงสุดในปี 2565 ทั้งนี้จะเป็นการเก็บภาษีโดยรัฐบาลกลาง (Federal Tax) และมีผลทั่วประเทศ เพราะในปัจจุบันมีบางพื้นที่ที่มีการเก็บภาษีคาร์บอนโดยรัฐบาลท้องถิ่นอยู่แล้ว เช่น แวนคูเวอร์และแอลเบอร์ตา
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทรูโดยังมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการแสดงความเห็นทางการเมือง เขายังนำเสนอภารกิจในแต่ละวัน รวมไปถึงชีวิตประจำวันอย่างการวิ่ง การลงนวมซ้อมมวย การเล่นโยคะ และการพักผ่อนกับครอบครัว รวมทั้งการปรากฏตัวในที่สาธารณะบ่อยครั้ง จนกระทั่งมีภาพเซลฟีระหว่างเขากับคนทั่วไปมากมาย
ด้วยแนวนโยบายและไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทรูโดจึงกลายเป็นขวัญใจของชาวเสรีนิยมทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในแคนาดา
นายกรัฐมนตรีทรูโดเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปลายปี 2558 หลังจากนำพาพรรคเสรีนิยม (Liberal) เอาชนะพรรคอนุรักษนิยม (Conservative) ซึ่งเป็นรัฐบาลมายาวนานกว่า 10 ปี และเมื่อผ่านมาครึ่งเทอม แม้ว่าหลายนโยบายที่เคยหาเสียงไว้จะยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เช่น การลดภาษีให้กับธุรกิจรายย่อย แต่ดูเหมือนว่าคะแนนนิยมของเขาก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
ทว่ามันก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2562 พรรคเสรีนิยมและจัสติน ทรูโด จะกลับเข้าสู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้โดยง่าย เพราะพรรคคู่แข่งต่างก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง
เริ่มจากพรรคอันดับสองอย่างพรรคอนุรักษนิยมที่มุ่งมั่นจะทวงคืนตำแหน่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยอย่างสตีเฟน ฮาร์เปอร์ (Stephen Harper) ก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคภายหลังความพ่ายแพ้ต่อทรูโด การแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันถึง 13 คนก็เป็นไปอย่างดุเดือด โดยมีทั้งผู้ที่มีแนวคิดแบบขวาจัดซึ่งมีแนวความคิดเหยียดเชื้อชาติ และผู้ที่ต้องการปฏิรูปพรรคให้เดินไปบนเส้นทางเสรีนิยมเต็มตัวเพื่อต่อกรกับกระแสทรูโดฟีเวอร์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
แอนดรูว์ เชียร์ ยังคงยึดติดกับแนวนโยบายเดิมของพรรค พร้อมทั้งประกาศตัวอยู่ขั้วตรงข้ามกับนโยบายของทรูโดอย่างชัดเจน หน้าที่ของเขาคือการป้องกันไม่ให้นโยบายเสรีนิยมสร้างความเสียหายให้กับแคนาดาไปมากกว่านี้
กระทั่งในท้ายที่สุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคอนุรักษนิยมก็ได้แม่ทัพคนใหม่ แอนดรูว์ เชียร์ (Andrew Scheer) ชายหนุ่มวัย 38 ปี คือผู้ที่ได้รับคะแนน 51 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพลิกล็อกเอาชนะตัวเต็งอย่างแม็กซิม บาร์นิเยร์ (Maxime Barnier) ที่ได้คะแนน 49 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดภายในพรรคอนุรักษนิยม เนื่องจากบาร์นิเยร์มีแนวนโยบายที่ค่อนข้างไปทางเสรีนิยม รวมถึงการลดบทบาทของรัฐบาลกลาง ขณะที่เชียร์ยังคงยึดติดกับแนวนโยบายเดิมของพรรค พร้อมทั้งประกาศตัวอยู่ขั้วตรงข้ามกับนโยบายของทรูโดอย่างชัดเจน โดยมองว่านโยบายของทรูโดมีแต่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ หน้าที่ของเขาคือการป้องกันไม่ให้นโยบายเสรีนิยมสร้างความเสียหายให้กับแคนาดาไปมากกว่านี้ เช่น การประกาศว่าจะยกเลิกภาษีคาร์บอนที่รัฐบาลของทรูโดกำลังผลักดัน
สำหรับแอนดรูว์ เชียร์ แน่นอนว่างานชิ้นแรกของเขาคือการกอบกู้ความสมัครสมานสามัคคีภายในพรรคอนุรักษนิยมให้กลับคืนมาโดยเร็ว เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกสองปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม พรรคที่ได้รับเสียงฮือฮามากที่สุดในการจัดทัพรอรับศึกการเลือกตั้งกลับเป็นพรรคลำดับที่สามอย่างพรรคประชาธิปไตยใหม่ (New Democratic Party) โดยการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งล่าสุด ผู้ได้ที่รับการสนับสนุนอย่างถล่มทลายจากสมาชิกพรรคคือจักมีต ซิงห์ (Jagmeet Singh) ทนายความหนุ่มนักเคลื่อนไหววัย 38 ปี ทายาทของชาวอินเดียอพยพซึ่งเกิดในแคนาดาและนับถือศาสนาซิกข์
สำหรับจักมีต ซิงห์ เขาอาจจะมีความคิดแบบเสรีนิยมยิ่งกว่าทรูโดเสียด้วยซ้ำ ในเบื้องต้น นโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับใช้ในการหาเสียงของซิงห์คือการปฏิรูปภาษีให้เป็นแบบก้าวหน้ามากขึ้น (Progressive Tax) คือเก็บภาษีคนรวยในอัตราสูงกว่าเดิม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปถึงอาจจะนำนโยบายรายได้การครองชีพขั้นต่ำ (Universal Basic Income) มาใช้ กล่าวคือ รัฐจะแจกเงินให้กับประชาชนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ (ในปัจจุบันมีการนำนโยบายนี้มาใช้ในพื้นที่บางส่วนของรัฐออนแทรีโอ แต่ซิงห์เสนอให้ดำเนินการทั่วทั้งประเทศโดยรัฐบาลกลาง) สำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม นอกจากไม่คัดค้านภาษีคาร์บอน ซิงห์ยังประกาศลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศลง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568
นโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับใช้ในการหาเสียงของซิงห์คือการปฏิรูปภาษีให้เป็นแบบก้าวหน้ามากขึ้น (Progressive Tax) คือเก็บภาษีคนรวยในอัตราสูงกว่าเดิม
แน่นอนว่าแรงเสียดสีที่จักมีต ซิงห์ ต้องเผชิญนั้นมาจากเชื้อชาติและภาพลักษณ์ของเขานั่นเอง แม้กระทั่งภายในพรรคประชาธิปไตยใหม่ก็มีสมาชิกบางส่วนต่อต้านภาพลักษณ์ที่ไม่ใช่ชาวยุโรปของเขา แต่ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนซิงห์จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีพอสมควร เช่น ในการปราศรัยที่เมืองแบรมตันเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระหว่างที่เขากำลังกล่าวปราศรัยก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินขึ้นมาตะโกนใส่หน้าเขาในประเด็นเรื่องเชื้อชาติและศาสนา แต่ซิงห์ก็บอกกับสาธารณชนให้ต้อนรับเธอด้วยความรักและปรบมือให้กับเธอ ซึ่งหลังจากภาพเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป คะแนนนิยมของเขาก็เพิ่มสูงขึ้น
ประเด็นที่น่าสนใจคือผู้หญิงคนดังกล่าวตะโกนบอกว่าซิงห์จะนำกฎหมายชะรีอะฮ์มาใช้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวแคนาดาบางส่วนยังแยกไม่ออกระหว่างศาสนาซิกข์กับศาสนาอิสลาม
อีกพรรคที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือพรรคบล็อกเคเบควา (Bloc Québécois) ซึ่งมีฐานเสียงอยู่ในรัฐควิเบกที่ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายฝรั่งเศส และยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลัก (อีกหนึ่งรัฐที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลักคือรัฐนิวบรันสวิก) ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคบล็อกฯ ได้รับเลือกตั้งทั้งสิ้น 10 ที่นั่ง ซึ่งก็อยู่เฉพาะภายในรัฐควิเบก จึงทำให้โอกาสที่ตัวแทนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่การดำรงอยู่ของพรรคนี้ก็เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญยิ่งของการมีตัวแทนจากกลุ่มคนที่แตกต่างเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ
การเลือกตั้งของแคนาดาที่จะมีขึ้นในอีกสองปีข้างหน้าจึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยนายกรัฐมนตรีทรูโดในวัยย่าง 47 ปี จะกลายเป็นผู้ชิงตำแหน่งที่อายุมากที่สุด นอกจากนี้ มันไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่างคนหนุ่มสามคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่มันยังเป็นการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมแคนาดา ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและกติกาการเลือกตั้ง
สำหรับคนที่เบื่อหน่ายกับการรอคอย ‘การประกาศวันเลือกตั้ง’ ผมแนะนำให้ติดตามการเลือกตั้งในแคนาดาดีกว่าครับ น่าสนุกกว่ากันเยอะ
ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
Tags: การเลือกตั้ง, การเมือง, Justin Trudeau, Canada, แคนาดา