อีกหนึ่งรางวัลที่สร้างสีสันและความคึกคักให้กับเวทีออสการ์ คือ รางวัล ‘หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม’ ซึ่งแต่ละประเทศจะทำการคัดเลือกหนังหนึ่งเรื่องเป็นตัวแทนส่งประกวด โดยมีกรรมการออสการ์เป็นผู้ตัดสิน

รายชื่อหนังที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศนั้นน่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นการอัพเดทรายชื่อหนังทั่วโลกว่ามีเรื่องไหนที่น่าจับตามอง (เพื่อให้คนรักหนังตามไปหามาดู) รายชื่อเหล่านี้ยังสื่อให้เห็นมุมมองทางด้านรสนิยมและอุดมการณ์ของแต่ละประเทศ ว่าหนังแบบไหนที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเป็นตัวแทนของประเทศนั้นๆ
ตั้งแต่ปี 1984 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ส่งหนังไปออสการ์ทั้งหมด 23 ครั้ง ซึ่งในปี 2017 นี้ ทางสมาพันธ์

สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้คัดเลือก ดาวคะนอง (By the Time It Gets Dark) เป็นตัวแทน ซึ่งนักวิเคราะห์ภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศมองว่าหนังมีโอกาสที่จะได้เข้ารอบสุดท้ายสูงกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากหนังมีคุณภาพโดดเด่นและมีความเป็นสากลสูง อีกทั้งยังได้ฉายในเทศกาลหนังทั่วโลกมานานกว่าหนึ่งปี จนเป็นที่คุ้นเคยของคอหนังสายเทศกาลเป็นอย่างดี

บทความนี้จะนำพาผู้อ่านไปสำรวจเส้นทางของดาวคะนองสู่ออสการ์ และมาดูกันว่าสาขานี้มีคู่แข่งเรื่องใดบ้างที่น่ากลัว

 

ทำความรู้จัก ดาวคะนอง หนึ่งในหนังไทยที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดของปี

ดาวคะนอง (By the Time It Gets Dark) เป็นผลงานกำกับ เขียนบท และโปรดิวซ์ของอโนชา สุวิชากรพงศ์ ซึ่งเคยมีผลงานกำกับอย่าง เจ้านกกระจอก (Mundane History) มาแล้ว หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนหลากหลายที่ได้มาเกี่ยวข้องกัน เช่น นักศึกษาหญิงแอคติวิสต์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผู้กำกับหญิงที่ต้องการนำชีวิตของแอ็กติวิสต์คนนั้นมาสร้างเป็นหนัง นักแสดงชาย-หญิงที่รับบทในหนังเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีสัมพันธ์กันในชีวิตจริง และหญิงสาวผู้เปลี่ยนงานเป็นประจำ เป็นต้น

แม้หนังจะต้องการบอกเล่าถึงเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์โดยมวลชนฝ่ายขวาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของไทยที่ยังไม่มีการชำระ อีกทั้งคนผิดก็ยังไม่ได้รับการลงโทษจนถึงทุกวันนี้) หนังก็ไม่ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ดังกล่าวให้เห็นบนจอตรงๆ แต่อโนชาเลือกที่จะแสดงผ่านเรื่องราวของคนที่พยายามสร้างหนังเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ แทน

ดาวคะนอง แสดงให้เห็นผลกระทบในปัจจุบันของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน พร่าเลือน และถูกปิดบังมาตลอด ทั้งผลกระทบต่อผู้คนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นเอง และผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง ผ่านโครงสร้างภาพยนตร์ที่ไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่เป็นแบบหนังซ้อนหนัง เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าหลายชั้น โดยมีการเล่าแบบกระจัดกระจาย ไม่เรียงตามลำดับเวลาหรือสถานที่ แต่ละเหตุการณ์เชื่อมกันแบบหลวมๆ ไม่มีคำอธิบายชัดเจน ซึ่งแสนจะสอดคล้องกับสถานะ 6 ตุลาฯ ในความทรงจำของสังคมไทยที่ติดขัด กระจัดกระจาย และพร่าเลือน ส่งผลให้หนังมีความซับซ้อนและเปิดช่องให้ตีความได้สารพัด ไม่น่าแปลกใจหากหลายคนจะดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่อง

ดาวคะนอง จึงมีจุดเด่นอยู่ที่ ‘ความกล้าหาญ’ ทั้งความกล้าในการนำประเด็นต้องห้ามอย่าง 6 ตุลาฯ มานำเสนอ และความกล้าเชิงศิลปะในการสร้างหนังที่ไม่เป็นไปตามขนบและท้าทายคนดู

หนังเข้าฉายครั้งแรกในเทศกาล ‘โลการ์โน’ ที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2016 และเข้าฉายในไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2016 แบบจำกัดโรง (แต่มีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ 2017 เพราะตรงกับกำหนดวันฉายที่รับพิจารณา คือ ตุลาคม 2016 – กันยายน 2017) ซึ่งหนังไม่ได้มีอายุสั้นแบบฉายแล้วหายลับอย่างหนังส่วนใหญ่ แต่ในช่วงหนึ่งปีกว่าๆ หลังโลการ์โน หนังได้ฉายในเทศกาลหนังมาแล้ว 45 แห่งใน 31 ประเทศ (และยังคงฉายต่อไปเรื่อยๆ) ส่วนในไทย มีการฉาย ดาวคะนอง ในโรงหนังทางเลือก รวมถึงในกิจกรรมต่างๆ อีกหลายครั้ง (ล่าสุดคืองานรำลึก 6 ตุลาฯ)

นอกจากจะได้รางวัลจากเทศกาลหนังหลายแห่งทั่วโลกแล้ว หนังยังได้รางวัลจากเวทีประกวดในไทยหลายรางวัล เช่น หนังยอดเยี่ยมรางวัลสุพรรณหงส์ ชมรมวิจารณ์บันเทิง และผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Starpics Thai Films Awards

ด้วยความโดดเด่นดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังจะได้รับเลือกจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ให้เป็นตัวแทนส่งชิงออสการ์ เอาชนะฉลาดเกมส์โกง มหา’ลัยวัวชน ป๊อปอายมายเฟรนด์ (ภายหลัง เรื่อง ป๊อบอายฯ ได้กลายเป็นหนังตัวแทนเข้าชิงของสิงคโปร์)

ออสการ์จะประกาศรายชื่อหนังที่เข้ารอบชอร์ตลิสต์ 9 เรื่องสุดท้ายในช่วงเดือนธันวาคม 2017 และประกาศชื่อผู้เข้าชิง 5 เรื่องสุดท้ายในวันที่ 23 มกราคม 2018 ซึ่งเราคงต้องมาลุ้นกันว่า ดาวคะนอง จะสร้างสถิติเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ติดในรายชื่อผู้เข้าชิงหรือไม่

 

ออสการ์ไม่ง่าย และแค่ทำหนังดียังไม่พอ

การที่หนังสักเรื่องจะได้ออสการ์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น รสนิยมของกรรมการ การผลักดันจากฝ่ายต่างๆ อย่างค่ายหนัง ลอบบียิสต์ หรือประเทศที่ส่ง รวมถึงบรรยากาศการเมืองในช่วงนั้น (เห็นได้ชัดจากปีที่แล้ว ซึ่ง The Salesman จากอิหร่านเอาชนะ Toni Erdmann จากเยอรมันไปได้ แม้ว่านักวิจารณ์จะชอบเรื่องหลังมากกว่า ซึ่งหลายคนมองว่า หนังจากอิหร่านชนะก็เพราะกรรมการต้องการตอบโต้นโยบาย Muslim Ban ของโดนัลด์ ทรัมป์)

เนื่องจากหนังที่เข้าประกวดในสาขานี้แต่ละปีมีจำนวนมาก (ปีนี้มีทั้งหมด 84 เรื่อง) จึงทำให้กรรมการหลายคนดูหนังไม่ครบหรือเลือกดูแต่เรื่องที่เคยได้ยินชื่อ ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าเราต้องการให้หนังได้เข้ารอบหรือมีลุ้นที่จะได้รางวัล ก็จำเป็นต้องมีกลยุทธ์หรือการวางแผนที่ดี (ไม่ใช่คิดเองเออเองว่าหนังของเราดีพอ แล้วอยู่เฉยๆ ให้กรรมการมาเห็นเอง) นั่นทำให้การจ้างบริษัท Publicist ที่อเมริกาเป็นเรื่องจำเป็น เพราะบริษัทจะทำการส่งหนังไปให้กรรมการดูอย่างทั่วถึง รวมถึงการทำแคมเปญโฆษณาเพื่อให้กรรมการได้ยินชื่อและรู้จักหนังของเรามากขึ้น ซึ่งการจ้างบริษัทดังกล่าวต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากพอควร และที่ผ่านมาทางการไทยไม่เคยมีงบสนับสนุนด้านนี้มาก่อน ต่างจากประเทศอย่างสิงคโปร์หรือฟิลิปปินส์

อโนชาได้อธิบายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า

“อย่างแรกคือต้องระดมทุนก่อน การทำแคมเปญไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเพราะท้ายที่สุดคือเราต้องไปจ้าง publicist ที่อเมริกาทำ เพราะเขามีความเชี่ยวชาญ สิ่งที่เขาจะทำก็มีตั้งแต่การจัดฉายหนังเรา แล้วเชิญผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมาดู นัดนักข่าวสัมภาษณ์ ซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

“เรื่องยากคือทำอย่างไรเราจึงจะหาทุนก้อนนี้มาจ้าง publicist เพราะทางภาครัฐไม่ได้มีทุนสนับสนุนการทำแคมเปญออสการ์ แล้วจริงๆ ที่ผ่านมาเราก็ไม่แน่ใจด้วยว่าหนังไทยที่เคยได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเขาทำกันไหม หรือว่าทำถึงขั้นไหนบ้าง ตอนนี้ก็ยื่น proposal ไปที่กระทรวงต่างๆ ที่เราคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้งบจากกระทรวงวัฒนธรรมมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่พอสำหรับการจัดจ้าง publicist เรากำลังรอฟังคำตอบจากกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์อยู่”

“ต้องย้ำว่าในกรณีออสการ์ เราไปในนามตัวแทนประเทศ ไม่ได้ไปในนามบริษัทตัวเอง เราอยากเห็นการซัพพอร์ทตรงนี้จากภาครัฐในอนาคต ซึ่งก็คือจัดสรรงบประมาณมาให้หนังที่ได้รับเลือก หลายๆ ประเทศเขาก็ทำกัน บอกได้เลยว่าต้องมีความพร้อมตรงนี้ ถ้าไม่ได้ทำแคมเปญ เราว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้ารอบ”

สำหรับข้อได้เปรียบที่ทำให้ ดาวคะนอง มีลุ้นในการเข้ารอบ อยู่ที่การได้ฉายในเทศกาลมากถึง 45 แห่งใน 31 ประเทศ ทำให้หนังเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่าหนังไทยเรื่องอื่นๆ อีกทั้งหากสังเกตหนังที่ชนะรางวัลนี้ในช่วงหลัง จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นหนังที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์การเมืองที่เจ็บปวด เช่น Ida, Son of Saul, The Lives of Others, The Counterfeiters, In a Better World,The Secret in Their Eyes ซึ่งการที่ ดาวคะนอง มีแง่มุมดังกล่าว ทำให้หนังดูเข้าทางคณะกรรมการออสการ์พอสมควร

แต่อุปสรรคที่อาจตัดคะแนนหนังเรื่องนี้อยู่ที่การเล่าเรื่อง เนื่องจากการเล่าที่มีความอาร์ตและแปลกประหลาดกว่าปกติ อาจทำให้กรรมการออสการ์ซึ่งส่วนใหญ่อนุรักษ์นิยมน่าจะไม่ถูกใจหนังเรื่องนี้สักเท่าไร นอกจากนั้น หนังจากแถบเอเชีย (โดยเฉพาะอาเซียน) มักไม่ได้รับการเหลียวแล เห็นได้จากที่ผ่านมา มีหนังจากอาเซียนเคยได้เข้าชิงแค่ 2 เรื่อง คือ The Scent of Green Papaya (1993, เวียดนาม) และ The Missing Picture (2013, กัมพูชา) ซึ่งทั้งสองเรื่องต่างก็ได้ทุนสร้างหลักจากฝรั่งเศส จึงไม่ใช่หนังที่สะท้อนอุตสาหกรรมหนังในประเทศโดยตรงสักเท่าไร

อย่างไรก็ตาม หากเรามองว่าบรรดากรรมการออสการ์ปีนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว และอายุมากขึ้น (หลังจากที่เคยได้รับเสียงวิจารณ์ที่ว่า “Oscars so white”) ก็อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เข้าชิงหรือผู้ชนะชนะสาขานี้อาจเปลี่ยนมือจากยุโรปเจ้าประจำ ไปตกอยู่ที่ประเทศอื่นๆ ก็เป็นได้

 

จับตามองคู่แข่งในปีนี้

ออสการ์ 2017 ถือเป็นปีที่มีการแข่งขันกันดุเดือดในหลายสาขา เช่นเดียวกับสาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม หนังที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก คือบรรดาหนังที่เคยเข้าฉายและสร้างชื่อในเทศกาลชื่อดังต่างๆ มาแล้ว เช่น

1.เทศกาลหนังเมืองคานส์ ได้แก่ The Square (สวีเดน), Loveless (รัสเซีย), 120 Beats per Minute (ฝรั่งเศส), Happy End (ออสเตรีย), In the Fade (เยอรมัน) และ A Ciambra (อิตาลี)

2. เทศกาลหนังเบอร์ลินอย่าง On Body and Soul (ฮังการี), A Fantastic Woman (ชิลี) และ Spoor (โปแลนด์)

3. เทศกาลหนังเวนิสอย่าง Foxtrot (อิสราเอล) และ Zama (อาร์เจนติน่า)

นอกจากนั้น หนังที่น่าสนใจและถูกมองว่ามีสิทธิ์ได้เข้าชิงก็ยังมี The Divine Order (สวิตเซอร์แลนด์), Tom of Finland (ฟินแลนด์), Shiekh Jackson (อียิปต์), Black Level (ยูเครน) และ Scary Mother (จอร์เจีย)

สำหรับฝั่งเอเชีย มีหนังที่น่าสนใจอย่าง Her Love Boils Bathwater (ญี่ปุ่น), Mad World (ฮ่องกง), White Son (เนปาล), Newton (อินเดีย), A Taxi Driver (เกาหลีใต้), Small Talk (ไต้หวัน), Breath (อิหร่าน), The Insult (เลบานอน), Wajib (ปาเลสไตน์) ขณะที่ฝั่งอาเซียนก็มีความคึกคักไม่แพ้กัน ได้แก่ First They Killed My Father (กัมพูชา-เก็งกันว่ามีโอกาสสูงมาก เนื่องจากมีนายทุนใหญ่อย่าง Netflix และผู้กำกับคือแอนเจลิน่า โจลี), Pop Aye (สิงคโปร์), Father and Son (เวียดนาม), Birdshot (ฟิลิปปินส์) และ Dearest Sister (ลาว – เป็นการส่งชิงออสการ์ครั้งแรกของประเทศนี้)

 

ย้อนมองหนังไทยที่เคยส่งเข้าชิงออสการ์ในอดีต

หนังไทยเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกเมื่อปี 1984 และต่อจากนั้นก็มีการส่งหนังเข้าประกวดอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2000 มีการส่งหนังเข้าชิงต่อเนื่องมาทุกปี

หน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดเลือกหนังไปเข้าชิงรางวัลออสการ์ คือ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มีการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้ เช่น ต้องไม่ใช่หนังที่พูดภาษาอังกฤษ ต้องมีนายทุนหรือทีมงานหลักๆ เป็นคนไทย ต้องเป็นหนังที่ฉายในโรงระหว่างเดือนตุลาคมปีที่แล้วถึงกันยายนในปีที่ส่งประกวด (เป็นเงื่อนไขเวลาที่แตกต่างจากออสการ์สาขาอื่น เนื่องจากต้องการเผื่อเวลาให้กรรมการที่ต้องดูหนังจำนวนมากกว่าปกติ)

แม้ว่าที่ผ่านมา เคยมีการตกลงว่าจะส่งหนังที่ชนะเลิศรางวัลสุพรรณหงส์ไปประกวด แต่ติดปัญหาตรงที่เกณฑ์ระยะเวลาฉายที่ไม่ตรงกัน เพราะสุพรรณหงส์มีขอบเขตเวลาอยู่ที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ทำให้ปัจจุบันยังใช้ระบบการคัดเลือกจากสมาพันธ์อยู่

ต่อไปนี้ คือรายชื่อหนังไทยส่งไปชิงออสการ์ (ด้านหน้าคือปี ค.ศ. ที่หนังเรื่องนั้นออกฉาย)

  • 1984 – น้ำพุ
  • 1989 – คนเลี้ยงช้าง
  • 1990 – น้องเมีย
  • 1995 – กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้
  • 1997 – เสียดาย 2
  • 1998 – ท้าฟ้าลิขิต
  • 2000 – เรื่องตลก 69
  • 2001 – 14 ตุลา สงครามประชาชน
  • 2002 – มนต์รักทรานซิสเตอร์
  • 2003 – เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล
  • 2004 – โหมโรง
  • 2005 – มหา’ลัยเหมืองแร่
  • 2006 – อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม
  • 2007 – ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ
  • 2008 – รักแห่งสยาม
  • 2009 – ความจำสั้นแต่รักฉันยาว
  • 2010 – ลุงบุญมีระลึกชาติ
  • 2011 – คนโขน
  • 2012 – ฝนตกขึ้นฟ้า
  • 2013 – เคาท์ดาวน์
  • 2014 – คิดถึงวิทยา
  • 2015 – พี่ชาย My Hero
  • 2016 – อาปัติ
  • 2017 – ดาวคะนอง

 

​ที่มาภาพ: Electric Eel Film

 

FACT BOX:

ในยุคที่เส้นแบ่งรัฐชาติเริ่มพร่าเลือน การร่วมสร้างหนังระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ จึงไม่แปลกใจที่ ‘รางวัลซึ่งใช้ประเทศเป็นเกณฑ์แบ่ง’ เริ่มถูกท้าทาย ทำให้ที่ผ่านมาต้องมีการพิจารณาว่าประเทศใดกันแน่ที่มีสิทธิ์ส่งประกวดหนังชิงออสการ์สาขานี้ (เนื่องจากร่วมสร้างหลายประเทศ) รวมถึงมีหนังที่ฉากหลัง/ตัวละครไม่ตรงกับประเทศที่ส่งอยู่บ่อยๆ เช่น The Rocket (2013, ออสเตรเลีย) มีตัวละครกับฉากหลังเป็นลาว, Mustang (2015, ฝรั่งเศส) มีตัวละครและฉากหลังเป็นตุรกี และ Under the Shadows (2016, อังกฤษ) มีตัวละครและฉากหลังเป็นอิหร่าน เป็นต้น

 

DID YOU KNOW?

  • ผู้กำกับที่มีหนังส่งเข้าชิงมากที่สุดคือ มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล (4 เรื่อง – คนเลี้ยงช้าง, น้องเมีย, เสียดาย 2, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ) และเป็นเอก รัตนเรือง (4 เรื่อง – เรื่องตลก 69, มนต์รักทรานซิสเตอร์, เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล, ฝนตกขึ้นฟ้า)
  • ปีที่พลิกโผที่สุด น่าจะเป็นปี 2000 ซึ่ง เรื่องตลก 69 เอาชนะ นางนาก เป็นตัวแทนประเทศได้อย่างผิดคาด
  • เรื่องที่สร้างความเหวอที่สุดขอยกให้ อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม ด้วยความที่หน้าหนังประหลาดและเซอร์มาก ผลที่ตามมาก็คือเว็บบอร์พันทิปช่วงนั้นร้อนเป็นไฟ เพราะเถียงกันว่าหนังเรื่องนี้เหมาะสมที่จะส่งไปออสการ์ไหม
  • มีผู้กำกับ 2 คนที่ไม่ใช่คนไทย คือ ท้าฟ้าลิขิต (ออกไซด์ แปง – ฮ่องกง) และ พี่ชาย My Hero (จอช คิม – เกาหลี)
  • มีหนัง GTH 4 เรื่องที่ได้เข้าชิง ได้แก่ มหา’ลัยเหมืองแร่ ความจำสั้นแต่รักฉันยาว เคาท์ดาวน์ และ คิดถึงวิทยา
  • หนังไทยไม่เคยติดอยู่ในรายชื่อเข้าชิง 5 เรื่องสุดท้าย หรือแม้แต่ชอร์ตลิสต์ 9 เรื่อง เรื่องที่หลายคนคาดว่ามีลุ้นที่สุด น่าจะเป็น ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่ได้ปาล์มทองคำจากคานส์ แต่สุดท้ายก็ไม่เข้ารอบ
Tags: , , , , , , , ,