จากรายงานที่พบผู้ป่วยไข้กาฬโรค 2 รายทางตะวันออกเฉียงเหนือประเทศจีน เมื่อวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน ทางการจีนประกาศว่า คู่สามีภรรยาจากเขตปกครองตัวเองมองโกเลียใน ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลปักกิ่ง เข้ารักษาอาการกาฬโรคปอดที่โรงพยาบาลชาวหยางแล้ว คนไข้รายหนึ่งอาการคงตัว ส่วนอีกคนหนึ่งอยู่ภาวะวิกฤต แต่ก็ไม่แย่ลง

กองควบคุมโรคติดต่อของจีนให้ความมั่นใจต่อประชาชนผ่าน ‘เว่ยป๋อ’ โซเชียลมีเดียของจีนว่า มีโอกาสน้อยมากที่โรคจะระบาด กรรมการสาธารณสุขของเมืองได้กักตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อ มีมาตรการดูแลป้องกันทั้งคู่ รวมถึงฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องแล้ว นอกจากนี้ ยังมีตำรวจเฝ้าหน้าห้องฉุกเฉินที่ถูกปิดกั้นในโรงพยาบาลแรกที่ผู้ป่วย 2 คนนี้เข้ารับการวินิจฉัย นอกจากนี้ ทางการยังยืนยันกับชาวปักกิ่งว่า เรื่องนี้ไม่น่ากลัว ยังคงไปทำงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเสี่ยงที่จะติดเชื้อ

จากกาฬโรคทั้งหมด 3 ชนิด กาฬโรคปอดถือว่ารุนแรงที่สุดและเป็นชนิดเดียวที่แพร่กระจายจากคนสู่คนได้  ชนิดอื่นแพร่กระจายผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการของระบบทางเดินหายใจล้มเหลวแบบเดียวกับโรคปอด ในศตวรรษที่ 14 กาฬโรคที่มีจุดกำเนิดใกล้จีน แพร่ระบาดไปทั่วยุโรปและแอฟริกา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคน

ชาวจีนบางส่วนไม่พอใจกับท่าทีที่ดูเหมือนจะพยายามปิดข่าวของทางการ พวกเขาแสดงความเห็นผ่านเว่ยป๋อว่า ทางการเปิดเผยเรื่องนี้ล่าช้าเกินไป แพทย์ในโรงพยาบาลชาวหยาง ซึ่งผู้ป่วยทั้งสองคนเข้ารับการรักษาเขียนบล็อกส่วนตัวว่า ทั้งคู่ถูกส่งไปกรุงปักกิ่ง 9 วันก่อนที่รัฐบาลจะแจ้งให้ประชาชนทราบข่าว แต่ทันทีที่มีผู้เผยแพร่เรื่องนี้ผ่านทางวีแชต (WeChat) ก็ถูกลบออกไปอย่างรวดเร็ว 

ผู้ใช้เว่ยป๋อบางคนบอกว่า อย่าปิดบังแบบนี้ เผชิญกับมันด้วยกัน การปกปิดมีแต่จะทำให้แย่ลง ขณะที่มีผู้ใช้บางส่วนตั้งคำถามต่อคุณภาพของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ยังสงสัยว่า เชื้อโรคนี้มาจากไหน ทั้งคู่ได้รับเชื้อมาอย่างไร ทางการมีความสามารถและประสิทธิภาพมากพอที่จะรับมือหรือไม่ 

คำถามเหล่านี้ยังไร้คำตอบ บางคนบอกว่า ถ้าไม่น่ากลัว ทำไมแพทย์ต้องถามคนไข้ที่มีไข้ว่า “ไปมองโกเลียในมาหรือไม่” เป็นคำถามแรก

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า สื่อของรัฐบาลจีนแทบจะไม่รายงานเรื่องนี้ รัฐบาลจีนขอให้สื่อดิจิทัลบล็อคและควบคุมข่าวที่เกี่ยวกับกาฬโรค

ในปีนี้ ที่มองโกเลีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับภูมิภาคที่พบผู้ติดเชื้อครั้งล่าสุด เพิ่งมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 รายจากกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง หลังจากกินตัวมาร์มัตดิบเข้าไป จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่การใช้ยาปฏิชีวนะอาจช่วยป้องกันไม่ให้โรครุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ 

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ของกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองมีอัตราดื้อยาปฏิชีวนะสเตรปโตมัยซินที่มักใช้ในการรักษาเบื้องต้นสูง กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองสามารถเปลี่ยนไปเป็นกาฬโรคปอดได้ หลังจากที่แบคทีเรียกระจายเข้าสู่ปอด

 

ที่มา:

ที่มาภาพ: National Institute of Allergy and Infectious Diseases

Tags: , , ,