“สนุกเกินคาดมากๆ” นี่คือความคิดแวบแรกของผมหลังจากดู #BKKY จบ

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผมคาดเดาว่าหนังน่าจะออกมาน่าเบื่อ ด้วยเหตุผล 2 ข้อ หนึ่ง เพราะข้อมูลของหนังแจ้งว่ามันจัดอยู่ในประเภทสารคดี สอง ผลงานเรื่องก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล อย่าง สายน้ำติดเชื้อ (By the River) และ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) มีความเรียบนิ่งเนิบช้า และเน้นการสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ทำให้ผู้ชมต้องใช้ความอดทนมากกว่าปกติ
ตรงข้ามกับ #BKKY ที่ออกมาดูง่าย สนุก ดำเนินเรื่องเร็ว และเข้าถึงผู้ชมทั่วไปได้ง่าย พลังงานอันเหลือล้นของหนังในบางช่วงชวนให้คิดถึงหนังอย่าง Mary Is Happy, Marry Is Happy (กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) เลยทีเดียว

แม้จะจัดอยู่ในประเภทสารคดี แต่หนังก็มีส่วนผสมของความเป็น fiction ปะปนอยู่สูง จนเราอาจมองว่ามันเป็นหนังแนว fiction ที่มีสารคดีผสมอยู่ได้เช่นกัน เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างหนัง fiction และสารคดี นับวันก็ยิ่งเลือนรางมากขึ้นทุกที อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสารคดีทุกวันนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้แปลกใหม่มากขึ้น

หลังจากพาผู้ชมไปสำรวจ ‘กลุ่มคนชายขอบที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากสังคมการเมืองและผู้มีอำนาจ’ ในหนังสองเรื่องก่อน มาคราวนี้ นนทวัฒน์เปลี่ยนมาสำรวจคนกลุ่มใหม่ด้วยการสัมภาษณ์วัยรุ่นอายุ 17-19 ปีในกรุงเทพฯ จำนวน 100 คน แล้วนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสารคดีในรูปแบบ talking heads (สารคดีที่จับ subject มาสัมภาษณ์หน้ากล้องแบบตรงๆ) โดยหนังมีการตัดต่อร้อยเรียงตามประเด็นที่สัมภาษณ์ เช่น เรื่องชีวิต การค้นหาตัวตน ความฝัน การเรียน แฟน เพื่อน ครอบครัว ความรัก เซ็กซ์ สังคม อนาคต และอื่นๆ

จากนั้นนนทวัฒน์จึงนำข้อมูลที่ได้จากสารคดีมาเขียนบทและถ่ายทำเป็นหนัง fiction แนว coming of age แล้วนำมาตัดต่อสลับกับสารคดีตลอดทั้งเรื่อง โดยตัวละครหลักของส่วน fiction ได้แก่ โจโจ้ (พลอยยุคล โรจนกตัญญู) เด็กสาววัยมัธยมที่ต้องพบเจอกับจุดพลิกผันในชีวิตมากมาย เช่น เรื่องการเรียน ซึ่งเธอกำลังลุ้นว่าจะได้เข้าเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยที่ชอบหรือ เรื่องครอบครัว ซึ่งเธอเข้ากับพ่อไม่ได้ และรู้สึกว่าพ่อเข้ามาบงการชีวิตของเธอมากเกินไป เรื่องความรัก ซึ่งเธอต้องเลือกระหว่างสาวเลสเบียน–คนรักเก่า กับหนุ่มนักสเก็ตบอร์ด–คนรักใหม่ ซึ่งเรื่องราวในวงการสเก็ตบอร์ดนั้นชวนให้คิดถึงหนังยาวเรื่องแรกที่นนทวัฒน์ร่วมกำกับอย่าง โลกปะราชญ์

อันที่จริง รูปแบบของ #BKKY ซึ่งเป็นสารคดีที่แทรกด้วย fiction ซึ่งถ่ายทำขึ้นมาใหม่นั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไร (เห็นได้จากสารคดีในยุคหลังหลายเรื่อง หรือแม้แต่รายการโทรทัศน์อย่าง คดีเด็ด) แต่ #BBKY มีความโดดเด่นตรงการนำเสนอที่ไหลลื่น มีพลังสูง ส่วนของสารคดีและ fiction ส่งรับกันได้อย่างลงตัว

จะสังเกตได้ว่า subject ในหนังสารคดีส่วนใหญ่ มักเป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นหรือมีชีวิตสุดขั้วมากๆ เช่น เอมี ไวน์เฮาส์ ใน Amy (กำกับโดย Asif Kapadia, 2015) หรือกลุ่มพี่น้องที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้าน จนต้องเรียนรู้ชีวิตผ่านหนังใน The Wolfpack (กำกับโดย Crystal Moselle, 2015) แต่ subject ใน #BBKY กลับเป็นเด็กวัยรุ่นกรุงเทพฯ ทั่วๆ ไป (ไม่ใช่วัยรุ่นที่สุดขอบมาก อย่างคนค้ายาหรือคนไร้บ้าน) ซึ่งเราเคยเห็นพวกเขาปรากฏในหนังและสื่อต่างๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่การปรากฏตัวในสื่อบ่อยก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้รับการนำเสนอที่ครบถ้วนรอบด้าน อาจกลายเป็นว่าพวกเขาโดนสื่อและสังคมยัดใส่มายาคติซ้ำๆ จนผู้ชมอาจเผลอมองพวกเขาด้วยภาพเหมารวมแบบใดแบบหนึ่งไปเสียด้วยซ้ำ

#BKKY ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เราได้รู้จักมุมมองความคิดของพวกเขาจริงๆ เสียที ไม่ใช่มุมมองที่ผู้ใหญ่คิดแทนเด็กหรือมุมมองที่เกิดจากมายาคติต่างๆ โดยผู้ชมจะได้เห็นมุมมองที่น่าสนใจหลายอย่างของวัยรุ่นทั้ง 100 คน รวมถึง ‘โจโจ้’ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพวกเขา อย่างเรื่องระบบการศึกษาที่มีปัญหา ความรักที่ไม่ได้จำกัดแค่รักต่างเพศ แต่รวมถึงเพศเดียวกัน ซึ่งทั้งสองแบบสามารถเลื่อนไหลไปมาได้

หนังแสดงให้เห็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่กดทับตัวเอกผ่านตัวละครพ่อที่เปิดร้านขายเครื่องแบบข้าราชการ รวมถึงการใช้อำนาจในการควบคุมลูกสาว ซึ่งแน่นอนว่าเธอมักหาทางแหกกฎได้อยู่ดี

หนังอาจจบในเวลารวดเร็วเกินไปหน่อย (75 นาที) และผู้ชมอาจรู้สึกว่าหนังไม่ได้ลงลึกในแต่ละประเด็นมากเท่าที่ควร แต่ด้วยพลังและความลงตัวของหนัง นี่อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจประเด็นหนักๆ ของวัยรุ่นในอีกแนวทางหนึ่ง รวมถึงเป็นการทำให้หนังสารคดี ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม กลายเป็นหนังที่ผู้ชมวงกว้างเข้าถึงได้

 

FACT BOX:

  • ต้องถือว่า 2017 เป็นปีที่คึกคักสำหรับหนังสารคดีไทย เพราะนอกเหนือจาก #BKKY ยังมี หมอนรถไฟ (Railway Sleepers) และ นิรันดร์ราตรี (Phantom of Illumination) เข้าฉายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย
  • #BKKY ได้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างๆ เช่น เทศกาลหนังปูซานที่เกาหลีใต้ เทศกาลหนังเอเชียที่ฮ่องกง เทศกาลหนัง QCinema ที่ฟิลิปปินส์ และคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาล Lesbisch Schwule Filmtage Hamburg ที่เยอรมนีมาครอง
Tags: , ,