ผู้นำปักกิ่งใช้โอกาสการประชุมสายแถบและเส้นทางเป็นเวทีแก้ไขคำวิจารณ์ในประเด็นกับดักหนี้ ความร่วมมือกับไทยและมาเลเซียในโครงการเส้นทางรถไฟดูจะสะท้อนความพยายามของจีนในทิศทางนี้
ตลอดการประชุม 3 วันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนพยายามทุเลาความคลางแคลงใจของนานาชาติที่มีต่อข้อริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ใน 3 ประเด็นหลัก นั่นคือ ธรรมาภิบาล ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางนิเวศ
จีนโฆษณาว่า ภายใต้ข้อริเริ่มนี้ เครือข่ายสาธารณูปโภค เส้นทางและจุดเชื่อมต่อการคมนาคม และเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะครอบคลุมเอเชีย ยุโรป รวมถึงแอฟริกา อเมริกาใต้ และดินแดนไกลโพ้น จะเป็นความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ทว่านับแต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเปิดตัวแผนการที่ว่านี้เมื่อปี 2013 หลายโครงการในหลายประเทศถูกวิจารณ์ว่า ไม่โปร่งใส ก่อภาระหนี้ล้นเกิน และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คำมั่นของ ‘สีจิ้นผิง’
การประชุมในชื่อหัวข้อ เวทีสายแถบและเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่สอง ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพที่กรุงปักกิ่งเมื่อช่วงวันที่ 25-27 เมษายน จบลงด้วยคำโอ่ของประธานาธิบดีสีที่ว่า ในงานนี้มีการลงนามข้อตกลงระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ มูลค่ารวมกันกว่า 64,000 ล้านดอลลาร์ฯ
ผู้นำจีนกล่าวในพิธีปิดการประชุมเมื่อวันเสาร์ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจกับนานาประเทศ เช่น อิตาลี เปรู บาร์เบโดส ลักเซมเบิร์ก จาไมกา แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือแถบและทางมีความสอดคล้องกับยุคสมัย ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
ในการประชุมซึ่งมีผู้นำรัฐบาลเข้าร่วม 36 ประเทศครั้งนี้ สีจิ้นผิงดูจะพยายามบรรเทาข้อวิจารณ์ต่างๆ ข้างต้น ซึ่งหากปล่อยไว้ย่อมไม่เป็นคุณแก่การขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ระดับโลกที่ว่านี้
ผู้นำจีนเปิดฉากการประชุมของเวทีใหญ่เมื่อวันศุกร์ (26 เมษายน) ด้วยการย้ำว่า แผนแถบและทางเน้นหลักความยั่งยืน ไม่ได้มุ่งทำให้ประเทศอื่นๆ ติดกับดักหนี้สินของจีน โครงการทั้งหลายจะมีการปกป้องสภาพแวดล้อม และปราศจากคอร์รัปชัน
แถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุมก็มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน คือ ย้ำว่าการสนับสนุนทางการเงินต่อโครงการต่างๆ จะมีการควบคุมหนี้สาธารณะ และจะสนับสนุนการเจริญเติบโตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ในบรรดาข้อวิจารณ์ต่างๆ นานา ประเด็นหนี้สินดูจะเป็นรูปธรรมที่สุด กรณีท่าเรือในศรีลังกาซึ่งเจ้าบ้านต้องยอมยกให้จีนเข้าบริหารเพราะชดใช้หนี้ไม่ไหว มักถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ จีนเองก็แสดงทีท่าว่าเข้าใจความวิตกดังกล่าว และคงเป็นอุทาหรณ์ให้ปักกิ่งยอมโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องต่อรองของประเทศอื่นๆ ในระยะหลังมานี้
ท่าทีผ่อนปรนของจีนปรากฏให้เห็นในโครงการเส้นทางรถไฟในกรณีของไทยและมาเลเซีย
เสนอดอกเบี้ยต่ำ
ในกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ไทย เชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับกรุงเทพฯ ผ่านกรุงเวียงจันทน์ หลังจากเจรจากันหลายรอบ ตั้งต้นด้วยไอเดียว่า จีนจะเข้ามาลงทุนให้ โดยขอสิทธิบริหารผลประโยชน์พื้นที่ในเขตเส้นทางรถไฟ ต่อมาจีนตกลงให้ไทยหาเงินมาลงทุนเองทั้งหมดโดยอาศัยแหล่งเงินกู้ทั้งในและนอกประเทศ ล่าสุดมีข่าวว่าจีนเสนอเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดในประเทศ
หนังสือพิมพ์ Bangkok Post (26 April 2017) รายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการนี้คืบหน้าไปอีกขั้น ระหว่างการประชุม 2nd BRF รัฐมนตรีคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับผู้แทนของลาวและจีน ที่จะสร้างสะพานทางรถไฟเชื่อมจังหวัดหนองคายกับเมืองหลวงของลาว
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ เข้าร่วมงานประชุมแถบและเส้นทางครั้งที่ 2 (ภาพเมื่อ 26 เมษายน 2019) โดย Andrea VERDELLI / AFP
สะพานทางรถไฟแห่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะเชื่อมจีนผ่านกรุงเทพฯ ไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ในสายตาของจีน นี่คือเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่จีนจะเชื่อมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระเบียงเศรษฐกิจจีเอ็มเอส (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และเอเชียใต้
ตามรายงานของ Bangkok Post (25 April 2019) รัฐบาลไทยเปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมว่า ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีน (CEXIM) เสนอที่จะให้เงินกู้แก่ไทยโดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 2.3 % ซึ่งถูกกว่าแหล่งทุนในประเทศซึ่งอยู่ที่ 2.86 %
ไทยจะตกลงกู้เงินจีนหรือเปล่า ยังไม่มีการเปิดเผย มีเพียงข่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขการกู้
ลดราคาโครงการ
ความพยายามของจีนที่จะลดกระแสวิจารณ์เรื่องกับดักหนี้สินยังปรากฏในกรณีโครงการทางรถไฟความยาว 688 กม. ในชื่อ East Coast Railway Link (ECRL) ของมาเลเซียด้วย
ทางรถไฟในแผนแถบและทางของจีนสายนี้จะเชื่อมชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซียทางด้านทะเลจีนใต้เข้ากับพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศทางด้านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลอันจอแจของโลก
เมื่อวันที่ 12 เมษายน มาเลเซียกับจีนเห็นพ้องกันที่จะสานต่อโครงการนี้หลังจากนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด เคยประกาศระงับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ด้วยเหตุผลว่า โครงการซึ่งรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซักบรรลุข้อตกลงกับจีนเมื่อปี 2017 นี้ มีราคาแพงเกินไป ไม่มีความโปร่งใส และจะพอกพูนหนี้ก้อนโตให้แก่ประเทศ
สาเหตุที่รัฐบาลของมหาเธร์ โมฮัมหมัด ตกลงเดินหน้าโครงการต่อไป ก็เพราะฝ่ายจีนยอมลดราคาลงเกือบหนึ่งในสาม คือจาก 65,500 ล้านริงกิต เหลือ 44,000 ล้านริงกิต (Reuters, 4 July 2018 ; Reuters,12 April 2019)
ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางยังต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่เราจะได้เห็นโลกาภิวัตน์ที่นำโดยจีน หากไม่ถูกสกัดดาวรุ่งไปเสียก่อน กว่าจะถึงเวลานั้น จีนคงปรับท่าทีขานรับคำวิจารณ์อีกหลายกระบวนท่า เพื่อให้นานาประเทศสัมผัสได้จริงถึงคำว่า ‘win-win’ ซึ่งเป็นศัพท์การทูตติดปากของแดนมังกร.
อ้างอิง:
ที่มาภาพเปิด: Andrea VERDELLI / AFP
Tags: จีน, แถบและทาง, กับดักหนี้