เพื่อนร่วมทางสะกิดให้ฉันมองไปที่ทะเลทรายเวิ้งว้างที่อยู่อีกฟากหนึ่งของทางถนน
“นั่นใช่น้ำหรือเปล่า”
ฉันเพ่งมองไปตามที่เจ้าตัวชี้ชวน ท่ามกลางทะเลทรายที่ทอดยาวไปจรดขอบฟ้าอีกด้าน ปรากฏสีฟ้าสวยแทรกให้เห็นเป็นริ้วยาว
“จริงด้วยน้ำ” ก่อนที่จะขมวดคิ้วนึกขึ้นมาได้ ตลอดเส้นทางที่นั่งรถผ่านทะเลทรายมา ไม่มีแหล่งน้ำเลยนี่นา จึงเพ่งมองอีกครั้ง ก่อนที่ใครอีกคนจะร้องขึ้นมา
“ไม่ใช่ นั่นมันมิราจ”
สิ้นเสียงร้อง ทุกคนนึกวาบรู้ในฉับพลัน มิราจ…. ปรากฏการณ์ภาพลวงหลอกตาที่ไม่มีจริง ร่ำเรียนมาแต่เล็กแต่น้อย เพิ่งจะได้เห็นของจริงก็คราวนี้
อากาศที่หนาวเย็น แต่แดดร้อนระอุกระทบผิวทราย สร้างอุณหภูมิที่แตกต่าง ทำให้คลื่นแสงหักเห (ตามตำราเป๊ะ) จนเกิดภาพลวงตา เป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ บนผืนทะเลทรายที่สร้างแรงกระเพื่อมระหว่างเดินทางให้ส่งเสียงร้องกันวิ้วว้าว บางคนหยิบกล้องขึ้นมาจะเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก หากภาพลวงก็เป็นภาพลวง พยายามจะเก็บภาพอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ทิ้งไว้แต่ความรู้สึกว้าว… ว่าในที่สุดก็ได้พบปะเจอะเจอหน้าตาเพื่อนที่รู้จักกันมานานตั้งแต่วัยเด็กเสียที ว่ารูปร่าง หน้าตาเป็นอย่างไร เหมือนที่เคยจินตนาการไว้ไหม
นั่นเป็นแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ระหว่างทาง ก่อนที่จะได้ตื่นตาเต็มที่ เมื่อถึงวิหารอาบูซิมเบลที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอัสวานติดกับประเทศซูดาน
พื้นที่ทะเลทรายละแวกนี้เคยเป็นดินแดนของชาวนูเบียน ก่อนที่จะถูกยึดและปกครองโดยราชอาณาจักรอียิปต์ วิหารแห่งนี้จึงสร้างขึ้นอย่างใหญ่โต โดยมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นที่จะอวดให้เห็นถึงพลังอำนาจของราชวงศ์อียิปต์ เป็นการข่มขวัญชนพื้นเมืองในพื้นที่หากคิดจะตีตัวออกห่าง หรือก่อกบฏ
ผู้สร้างวิหารแห่งนี้คือฟาโรห์รามเสสที่ ๒ แห่งราชวงศ์อาณาจักรอียิปต์ใหม่
วิหารอาบูซิมเบล เป็นวิหารแปลก มองจากภายนอก เหมือนมีภูเขาหินตั้งอยู่ตรงหน้าสองลูก จนเพ่งมองดี ๆ จึงจะเห็นว่าภูเขาหินทั้งสองลูกนั้นด้านหน้ามีการแกะสลักหินประดับเป็นรูปปั้นขนาดใหญ่ และมีช่องทางเข้าไปด้านใน ที่ได้รับการขุดเจาะจนกลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่
ภูเขาหินทั้งสองลูก คือวิหารใหญ่ 2 หลัง
หลังแรกที่มีขนาดใหญ่กว่าคือวิหารฟาโรห์รามเสสที่ ๒ และวิหารที่มีขนาดเล็กกว่าคือวิหารราชินี เนเฟอร์ตารี (Nefertari)
ด้านหน้าวิหารฟาโรห์รามเสสที่ ๒ มีประติมากรรมหินสลักขนาดมหึมาเป็นรูปฟาโรห์รามเสสที่ ๒ ในท่าประทับนั่งขนาดใหญ่ 4 รูป รูปปั้นเหล่านี้ช่วยเติมจินตนาการถึงรูปลักษณ์ของเหล่าฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรอียิปต์ให้เห็นแจ่มชัดขึ้น และที่สะดุดตาคือเคราด้านใต้คาง ที่เพิ่งจะได้ความรู้ใหม่จากไกด์ที่นี่ว่าเคราที่เห็นนั้นเป็นเคราปลอม เป็นเครื่องประดับในยุคสมัยนั้นที่สื่อถึงอำนาจขององค์ฟาโรห์
ด้านหน้าวิหารฟาโรห์รามเสสที่ ๒
เมื่อเข้าไปด้านใน พบห้องโถงขนาดใหญ่มีรูปปั้นฟาโรห์รามเสสที่ ๒ แปดรูปตั้งขนาบเป็นเสาค้ำยันเพดานในลักษณะแถวคู่หันหน้าเข้าหากัน ภาพสลักผนังเน้นเล่าเรื่องราวการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ ๒ เข้ากับวัตถุประสงค์ของวิหารแห่งนี้ที่ต้องการอวดโอ่พลังอำนาจแห่งองค์ฟาโรห์ และราชอาณาจักรอียิปต์
จากห้องโถงกลางนี้เองนำไปสู่ห้องที่อยู่ด้านในสุด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเทพเจ้าสี่องค์ ที่พิเศษคือในหมู่เทพเจ้าทั้งสี่องค์ รูปปั้นเทพเจ้าองค์ที่สองนับถัดจากขวามือเป็นรูปสลักของฟาโรห์รามเสสที่ ๒ แสดงให้เห็นการยกตนเทียบเท่ากับเทพเจ้าขององค์ฟาโรห์
ประติมากรรมหินสลักรูปฟาโรห์รามเสสที่ ๒
ถึงตอนนี้ไกด์ได้อธิบายอย่างภาคภูมิใจถึง ความเจริญก้าวหน้าด้านการคำนวณวันและเวลาของอารยธรรมอียิปต์โบราณ เพราะในวิหารแห่งนี้จะมีปรากฏการณ์พิเศษทางธรรมชาติเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันดังกล่าวแสงอรุณแรกของวันจะสาดเข้ามายังใจกลางห้องที่เป็นสถานที่สักการะแห่งนี้ เพื่อปลุกให้รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ฟื้นมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง จะเว้นก็แต่รูปปั้นที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือสุด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความมืดมิด จึงตั้งใจสร้างตรงบริเวณที่แสงสว่างส่องกระทบไปไม่ถึง
และถึงแม้วิหารอาบู ซิมเบลแห่งนี้จะไม่ใช่วิหารดั้งเดิม หากถูกขนย้ายขึ้นมาสร้างใหม่เพื่อหนีภัยน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนอัสวาน ปรากฏการณ์นี้ยังคงอยู่ เพียงแต่วันเวลาในการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเคลื่อนเปลี่ยนไปเท่านั้น
รูปปั้นฟาโรห์รามเสสที่ ๒ แปดรูปตั้งขนาบเป็นเสาค้ำยันเพดานในลักษณะแถวคู่หันหน้าเข้าหากัน
ถัดจากวิหารฟาโรห์ รามเสสที่ ๒ เป็นวิหารวิหารราชินีเนเฟอร์ตารี ผู้เป็นมเหสีเอก ด้านหน้าของวิหาร เป็นประติมากรรมหินสลักฟาโรห์รามเสสที่ ๒ ในท่าประทับยืน 4 รูป และรูปสลักราชินี เนเฟอร์ตารี ในท่าประทับยืนสองรูป และตรงนี้เองที่ไกด์ได้ให้ข้อมูลส่วนตัวขององค์ฟาโรห์รามเสสที่ ๒ ที่ไม่น่าเชื่อว่า วันเวลาผ่านไปกว่าสามพันปีแล้ว นักโบราณคดียังตามแกะ ตามเก็บข้อมูลได้อีกว่า ฟาโรห์พระองค์นี้ครองราชย์ยาวนานถึง 67 ปี มีมเหสีเอก 8 นาง สนมรองอีกราว 200 นาง และมีโอรสและธิดาอีกกว่า 150 องค์ แรกนั้นไม่ได้สนใจเรื่องนี้กันเท่าไร แต่ไกด์ของคณะเรา เมื่อเอ่ยถึงฟาโรห์รามเสสที่ ๒ เป็นต้องเน้นย้ำเรื่องนี้เป็นพิเศษแล้วระหว่างที่เราอยู่ในเขต Upper Egypt สิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ หลายแห่งก็มักจะเกี่ยวโยงถึงฟาโรห์พระองค์นี้ (ก็ครองราชย์ตั้งยาวนานนี่นะ) ทำให้ไกด์มีโอกาสพูดย้ำถึงเรื่องนี้อีกหลายครั้งหลายหน
วิหารราชินีเนเฟอร์ตารี นั้นนอกจากจะสร้างอุทิศให้กับพระนางเนเฟอร์ตารีที่เป็นมเหสีองค์โปรด ยังสร้างเพื่อบูชาเทพีฮาธอร์ (Hathor) หนึ่งในเทพีองค์สำคัญองค์หนึ่งของอียิปต์ ตรงเสาภายในวิหารจึงประดับไปด้วยภาพสลักของเทพีฮาธอร์ ที่มีใบหน้าเป็นสตรีแต่หูเป็นหูวัว และเน้นภาพสลักถวายเครื่องบูชาแด่เทพเจ้าองค์ต่าง ๆ
วิหารราชินีเนเฟอร์ตารี
ภายในวิหารราชินีเนเฟอร์ตารี รุปสลักบนเสาเป็นรูปหน้าเทพีฮาธอร์
ถัดจากวิหารวิหารอาบูซิมเบล ในเมืองอัสวานยังมีวิหารสำคัญอีกแห่งหนึ่งนั่นคือวิหารฟิเล วิหารแห่งนี้เป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพีไอซิส ซึ่งเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ และผู้ให้กำเนิด
นอกจากนี้วิหารแห่งนี้จึงมีภาพสลักของเทพโอซีริส (Osiris) ผู้เป็นพระสวามี เทพเหยี่ยวฮอรัส (Horus) ผู้เป็นโอรส และ เทพีฮาธอร์ ผู้เป็นลูกสะใภ้
เหนือผนังป้อมประตูทางเข้าสู่วิหารขนาดใหญ่นั้น มีรูปแกะสลักของเทพีไอซิส เทพีฮาร์ธอร์ และ เทพเหยี่ยวฮอรัส ภาพของเทพีฮาธอร์เหนือประตูทางเข้าต่างจากภาพเทพีฮาธอร์ที่วิหารเนเฟอร์ตารีที่มีใบหน้าเป็นสตรีแต่หูเป็นหูวัว ที่นี่เทพีฮาธอร์มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับเทพีไอซิสจนแทบแยกไม่ออก ทั้งสองพระองค์สวมเครื่องประดับศรีษะที่มีเขาอยู่สองข้างและมีวงสุริยะอยู่ตรงกลาง สำหรับเทพเหยี่ยวฮอรัสนั้นสังเกตง่าย เพราะลำตัวนั้นเป็นคน แต่ศรีษะเป็นรูปนกเหยี่ยวสวมมงกุฏรูปกรวยทรงสูง
ผนังตรงป้อมประตูด้านขวามือ เป็นภาพเทพีฮาเธอร์ เทพเหยี่ยวฮอรัส และเทพีไอซิส
ด้านในวิหารฟิเล
ภายในวิหาร ภาพสลักผนังนั้นค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นภาพกษัตริย์ถวายเครื่องบูชาแก่เทพเจ้า หากสนุกกับการดูภาพสลักเหล่านี้จะได้พบเจอเทพีไอซิสที่ถือสัญลักษณ์คล้ายไม้กางเขนที่เรียกว่าอังค์ (Ankh) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตอยู่ทั่วไป หากเทพีไอซิสให้สัญลักษณ์นี้แก่ใคร เปรียบเหมือนการมอบชีวิตให้กับผู้นั้น จริง ๆ อังค์ นั้นไม่ได้ผูกขาดว่าจะต้องถือโดยเทพีไอซิส เทพหลายๆ องค์ต่างก็ถือสัญลักษณ์นี้เช่นกัน แต่เทพีไอซิสเป็นเทพที่ถูกสลักหรือวาดให้ถืออันคท์บ่อยครั้งมากกว่าองค์อื่น คงเป็นเพราะเข้ากับตำนานที่เล่าขานกันว่าพระองค์เป็นผู้ปลุกฟื้นคืนชีพให้กับพระสวามีเทพโอซิริสที่ถูกน้องชายลอบปลงพระชนม์
หลายภาพที่เทพีไอซิสจะอยู่เคียงข้างกับเทพโอซีริสผู้เป็นพระสวามี วิธีสังเกตุเทพโอซิริสนั้นให้สังเกตุที่เครื่องประดับศรีษะที่มีลักษณะเป็นมงกุฏรูปกรวยทรงสูง และตรงพระหัตถ์จะถือแส้และตะขอ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการต้อนแกะของคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เดียวกับที่องค์ฟาโรห์ถือ แสดงนัยยะถึงพลังอำนาจในการควบคุมดูแลประชาชน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเทพโอซีริสเคยเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนอียิปต์ ขณะที่ร่างกายท่อนร่างนั้นพันด้วยผ้าเหมือนมัมมี
เหมือนมัมมี!!
นั่นเป็นเพราะจากตำนานเรื่องเล่าของเทพโอซิริสแล้ว พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยน้องชาย และศพถูกตัดหั่นเป็นชิ้น ๆ ทิ้งกระจัดกระจายไปทั่ว เทพีไอซิสผู้เป็นชายาจึงได้ตามเก็บชิ้นส่วนเหล่านั้นนำมาพันประกอบเป็นมัมมีด้วยผ้าลินินสีขาวแล้วร่ายเวทย์เสกให้เทพเจ้าโอซีริสฟื้นคืนขึ้นมาจากความตาย นั่นเท่ากับว่าเทพโอซีริสเป็นมัมมีร่างแรกของอียิปต์
เทพีไอซิสและเทพโอซิริส
เทพอีกองค์หนึ่งที่พบรูปสลักที่วิหารแห่งนี้คือเทพเบส (Bes) เป็นเทพที่จดจำได้ง่ายเพราะต่างจากเทพองค์อื่นอย่างชัดเจน ด้วยตัวที่เตี้ยเล็ก เศียรโต แถมยังอยู่ในท่าแลบลิ้น มองแล้วรู้ทันทีว่าเป็นเทพเบสแน่ ๆ ท่าทางแปลก ๆ ที่แลบลิ้นนั้นเพื่อข่มขู่ภูตผีปิศาจเพื่อปกป้องคนในบ้านที่หลับไหลและคนท้อง
ภาพสลักบนผนังของอารยธรรมอียิปต์โบราณนั้น จะนำเสนอในมุมที่แสดงคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นได้อย่างชัดเจน เมื่อสลักภาพร่างกายมนุษย์จึงสลักให้เหมือนยืนด้านข้าง เพื่อแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวของแขนและขา แต่พอส่วนท่อนบนของร่างกายกลับสลักให้เห็นชัดเจนจากด้านหน้า เพือแสดงให้เห็นว่าแขนเชื่อมกับลำตัวอย่างไร ครั้นพอถึงใบหน้าและศรีษะกลับสลักจากด้านข้าง เพราะเป็นมุมที่จะแสดงเค้าโครงใบหน้าและศรีษะได้ชัดเจนที่สุด แต่ดวงตานั้นจะวาดให้เห็นเต็มตาจากด้านหน้า
เทพเบส (Bes)
ภาพสลัก หรือภาพวาดของอารยธรรมอียิปต์โบราณจึงค่อนข้างแปลกและมีเอกลักษณ์ชัดเจน จะมีก็รูปสลักของเทพเบสที่สลักแสดงภาพจากมุมมองด้านหน้า ถ้าให้เดาจากท่าแลบลิ้นที่เป็นเอกลักษณ์ก็แอบคิดไม่ได้ว่าถ้าสลักหรือวาดภาพใบหน้าและศรีษะจากด้านข้าง จะวาดให้เห็นเป็นรูปลิ้นได้ลำบาก
วิหารฟิเลนั้น สร้างขึ้นในยุคสมัยของราชวงศ์ปโตเลมี ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอียิปต์ก่อนจะถูกยึดครองโดยอาณาจักรโรมัน และเมื่ออาณาจักรโรมันเข้ายึดครองดินแดนแห่งนี้ ความเชื่อ ความศรัทธาที่ต่างกัน ทำให้เปลี่ยนวิหารหลายแห่งให้กลายเป็นวิหารทางศาสนาคริตส์และวิหารฟิเลก็เป็นหนึ่งในนั้น ร่องรอยดังกล่าวปรากฏเป็นรูปแกะสลักไม้กางเขนสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ทับภาพแกะสลักดั้งเดิมให้เห็นกระจายไปทั่วตัววิหาร และที่น่าทึ่งก็คือสัญลักษณ์อังค์ ที่ถือโดยเทพีไอซิสนั้น ช่างคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ไม้กางเขนของศาสนาคริสต์อย่างน่าอัศจรรย์
เครดิตภาพ: krispm3
อ่านอียิปต์ ตอน 1 ได้ที่ : https://themomentum.co/nile-river-egypt-episode-1/
Tags: อียิปต์