รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในอีกสองทศวรรษข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในโลกจะเพิ่มขึ้น 60% โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งอาจจะพุ่งสูงขึ้นถึง 81%

ในแต่ละปี ผู้คน 1 ใน 6 คน จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และตัวเลขนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจากรายงานมะเร็งโลกขององค์การอนามัยโลก ประจำปี 2020 ที่เผยแพร่ในเดือนนี้ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ในปี 2018 ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งราว 9.6 ล้านคน ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตจะยิ่งสูงขึ้นในประเทศที่ยากจน

จากรายงานพบว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีการเสียชีวิตในประเทศที่ยากจนสูงกว่าประเทศที่ร่ำรวยเกิดขึ้นจากความแตกต่างของสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงปัจจัยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเนื่องจากการติดเชื้อ เช่น มะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV สูงกว่าประเทศร่ำรวย

หรือ งานวิจัยขององค์การสากลเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง พบว่าในประเทศร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกา มีอัตราการสูบบุหรี่บุหรี่ที่ลดลง แต่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อัตราการสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลต่ออัตราผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดเนื่องจากการสูบบุหรี่ที่แตกต่างกัน

แซลลี่ โควัล รองประธานอาวุโสด้านการควบคุมโรคมะเร็งสากลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “เนื่องจากบริษัทบุหรี่เล็งเห็นว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาลดลง พวกเขาจึงพยายามเพิ่มปริมาณการบริโภคยาสูบในประเทศกำลังพัฒนา”

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งก็คือการเข้าถึงทรัพยากร โดยในรายงานยกตัวอย่างว่า ทรัพยากรทางสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัดในประเทศยากจน ส่วนมากถูกใช้ไปตามสถานการณ์ เช่น การจัดการกับโรคติดเชื้อ มากกว่าจะนำมาใช้เพื่อการป้องกัน วิเคราะห์ และรักษาโรคมะเร็ง การตรวจ และ การคัดกรองโรคมะเร็งมากขึ้น อาจจะเพิ่มอัตราการตรวจพบมะเร็ง แต่มันก็ไม่ถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ดร.อังเดร อิลบาวี หัวหน้าเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านการจัดการโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับใด การตรวจคัดกรองมะเร็งล่วงหน้าคือมาตรการทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง เมื่อมีการตรวจพบมะเร็งแต่เนิ่นๆ การรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้สารเคมีมาก และลดภาระของระบบสาธารณสุขทั้งด้านการวิจัย และ งบประมาณ การมองว่ามะเร็งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง อาจจะไม่เป็นแบบนั้นก็ได้ หากมีการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ”

รายงานฉบับนี้ระบุเพิ่มเติมว่า ภายในปี 2030 ผู้คน 7 ล้านคนอาจจะรอดตายจากการเสียชีวิตด้วยมะเร็ง หากรัฐบาลของประเทศที่มีรายได้ต่ำลงทุน 3 ดอลลาร์ ต่อคนในเรื่องโรคมะเร็ง และ 4 ดอลลาร์ต่อคนสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และ 8 ดอลลาร์ต่อตน สำหรับประเทศที่มีรายได้สูงกว่าระดับปานกลาง

ที่มา

https://edition.cnn.com/2020/02/17/health/cancer-burden-who-report/index.html?

https://www.straitstimes.com/world/europe/cancer-cases-to-rise-by-81-in-poorer-countries-who

ภาพ : Peter Nicholls/REUTERS

Tags: , ,