การแถลงข่าวโดย พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ หลังเกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนทำให้มีผู้สูญหายในเบื้องแรก 31 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย ยังคงสร้างคำถามตามมาอีกมาก และว่ากันโดยที่จริงแล้ว ยังมีเรื่องน่าสงสัย และยังมีคำถามแวดล้อมเหตุการณ์ ‘สละเรือ’ ในคืนวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาอยู่อีกมาก
The Momentum รวบรวมปมคำถามและเรื่องที่น่าสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยไว้ 4 ข้อ ดังนี้
1. ภารกิจของเรือหลวงสุโขทัย
เป็นที่รู้กันว่าเรือหลวงสุโขทัยมีภารกิจสำคัญที่ต้องเดินเรือจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปยังหาดทรายรี จังหวัดชุมพร เพื่อร่วมพิธีบวงสรวง ‘เสด็จเตี่ย’ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในวันที่ 19 ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติของพระองค์
ปัญหาก็คือเช้าวันที่ 18 ธันวาคม 2565 มีประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เวลาตี 5 ว่าคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยบริเวณห่างฝั่งมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม ขณะที่กองทัพเรือซึ่งมีหน่วยงานที่รู้เรื่องคลื่นลมและสภาพอากาศดีที่สุดอย่าง ‘กรมอุทกศาสตร์’ ก็น่าจะมีข้อมูลที่ไม่ต่างกัน
เรื่องนี้ผู้บัญชาการทหารเรือชี้แจงว่าในช่วงแรก ภารกิจเป็นเรื่องของการร่วมพิธีบวงสรวง ‘เสด็จเตี่ย’ แต่ในระยะหลัง เมื่อได้รับสัญญาณว่ามีคลื่นลมแรง มีเรือประมงและเรือขนส่งสินค้าหลายลำประสบปัญหา ภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยจึงเป็นการ ‘กู้ภัย’ แต่ในช่วงบ่ายก็ได้รับทราบว่ากู้ภัยไม่ไหว ขอเข้าฝั่งที่อำเภอบางสะพานแทน แต่ยังไม่ได้เข้าฝั่ง ก็ประสบปัญหาน้ำเข้าเรือ ระบบไฟฟ้าไม่ทำงาน จนต้องสละเรือเสียก่อน
หากปัญหาเรื่อง ‘คลื่นลม’ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เรือรบชั้นคอร์เวตต์อย่างเรือหลวงสุโขทัยอับปางจริง คำถามก็คือมีความจำเป็นใดที่ต้องแล่นเรือฝ่าคลื่นไปร่วมพิธีดังกล่าว หรือมีกำหนดการอื่นๆ พ่วงไป ทำให้ทุกชีวิตบนเรือย่อมเสี่ยงภัยไปด้วย
2. ความขัดข้องของเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าที่น่าสงสัย
ข้อมูลเริ่มแรกจากเหตุการณ์สละเรือหลวงสุโขทัยก็คือ เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นได้จนเป็นอันอับปาง ซึ่งน่าสงสัยมากสำหรับเรือชั้นคอร์เวตต์ของราชนาวีไทยที่เคยแล่นฝ่ามหาสมุทรแปซิฟิกไปถึงประเทศออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวได้รับการชี้แจงโดยกองทัพเรือว่าเหตุการณ์ผิดปกติเริ่มต้นจากการที่น้ำทะเลไหลท่วมเข้ามาในเรือผ่านทางด้านหน้าของเรือ และน้ำก็ไหลเข้าอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้นก็คือ ระบบไฟฟ้าหยุดทำงาน ประตูระบายน้ำและกำแพงกั้นน้ำไม่สามารถระบายน้ำออกไปได้ น้ำท่วมบริเวณหัวเรืออย่างรวดเร็วจนทำให้เรือเริ่มจม ไม่สามารถควบคุมความเสียหาย และจัดการความเสียหายได้ทัน นั่นแปลว่าต้องมีข้อผิดพลาดบางอย่างบริเวณหัวเรือ หรือเป็นได้ถึงการมี ‘รูรั่ว’ บริเวณหน้าเรือ ซึ่งทำให้น้ำทะลักเข้าไปอย่างรวดเร็ว
หากวิเคราะห์ตามข้อมูลล่าสุดจะพบว่า เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งได้รับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และยังสามารถปฏิบัติภารกิจได้อีกระยะ เรื่องความเก่าของเรือและช่องโหว่เรื่องความผิดพลาดทางเทคนิค จึงยังไม่น่าจะเป็นปัญหา
คำถามสำคัญก็คือว่า แล้วบริเวณหน้าเรือเกิดอะไรขึ้น ซึ่งยังต้องรอการกู้ซากเรือขึ้นมาวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกที
3. จำนวนคนและจำนวนเสื้อชูชีพ
แทบจะเป็นเรื่องใหญ่ทันที ภายหลังจากผู้บัญชาการทหารเรือออกมายอมรับแบบอ้อมๆ ว่าเสื้อชูชีพบนเรือไม่เพียงพอ และ “การมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรอดชีวิต”
เรื่องเล่าอันน่าสลดจากผู้รอดชีวิตก็คือ มีผู้ที่ต้องสละเสื้อชูชีพเพื่อช่วยคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ก่อนลอยคอไปยังเรือหลวงกระบุรีที่มาช่วยกู้ภัยในห้วงเวลาสุดท้าย ขณะเดียวกันยังมีพลทหารบางส่วนจมน้ำไปต่อหน้าต่อตา ด้วยสาเหตุว่าว่ายน้ำไม่เป็นและไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ
กองทัพเรือยังยอมรับด้วยว่าเสื้อชูชีพบนเรือนั้นมีจำนวนเพียงพอกับจำนวนคนบนเรือ แต่ไม่เพียงพอกับจำนวนนาวิกโยธินและกำลังพลจากศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ที่โดยสารมากับเรือในครั้งนี้
ด้วยเหตุดังกล่าว เสื้อชูชีพจึงมีไม่เพียงพอจริง และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งในสายตาของคนเดินเรือทั้งหมด ย่อมเห็นตรงกันว่าการรับคนขึ้นมาเกินกว่าจำนวนเสื้อชูชีพนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อปฏิบัติการเดินเรือที่ค่อนข้างร้ายแรง
และก่อนหน้านี้ ไม่ว่าเรือโดยสารขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ก็มักถูกกวดขันโดยหน่วยงานรัฐให้มีจำนวนเสื้อชูชีพเพียงพอกับจำนวนคน เรื่องของเสื้อชูชีพไม่พอในเรือรบจึงได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที
และเป็นความผิดพลาดอันไม่น่าให้อภัยได้
4. ข้อสั่งการหลังสละเรือว่า ‘ปลอดภัย’ ทุกคน
หากจำกันได้ คืนวันที่ 18 ธันวาคม 2565 หลังจากมีคลิปแรกออกมาว่าเรือหลวงสุโขทัยเอียงแต่ยังไม่ล่ม ข้อมูลที่ออกจาก พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ในช่วงกลางดึกวันนั้น ก็คือกำลังพลทั้งหมดปลอดภัยดี
ข้อมูลดังกล่าวทำให้ปฏิบัติการช่วยชีวิตในช่วงแรก ซึ่งเป็น ‘นาทีทอง’ ที่สุดในการเร่งช่วยคนที่ลอยคออยู่กลางอ่าวไทยเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะคิดว่าทุกคนปลอดภัยตั้งแต่ต้น และอยู่บนเรือหลวงกระบุรีเรียบร้อยแล้ว ปัญหาก็คือข้อมูลนั้นผิดโดยสิ้นเชิง ยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 31 คน หรือแม้แต่ ‘ต้นเรือ’ ยศนาวาตรีก็ยังสูญหาย นั่นทำให้ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตไม่ได้ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง และกว่าจะรู้ตัวก็ต้องรอเวลาผ่านมาอีก 1 วัน
การรายงานตัวเลขของผู้ที่ช่วยชีวิตไว้ได้ และการเข้าใจสถานการณ์ผิดพลาดนั้น อาจเป็นได้ทั้งจากการที่มีผู้ที่โดยสารเรือเกินจำนวนคน และอาจเป็นได้ทั้งต้องการปกปิด หรือปิดข่าวอะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปิดได้ทั้งหมด
เรื่องเศร้าก็คือข้อมูลแรกที่บอกว่ากำลังพลทุกคนปลอดภัยนั้น ทำให้ญาติพี่น้องของทุกคนที่อยู่บนเรือเบาใจแล้วว่า กำลังพลทุกคนจะกลับมาแบบปกติ มิใช่ ‘สูญหาย’
ทั้งหมดนี้ยังคงต้องรอการสอบสวนอย่างละเอียดจากกองทัพเรือ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการไว้ล่วงหน้าแล้ว และเตรียมกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาหาสาเหตุของการอับปาง
สำคัญที่ว่าเรื่องนี้จะไปได้ไกลขนาดไหน เพราะเป็นที่รู้กันว่าเรื่องในประเทศนี้ที่เกี่ยวกับ ‘คนมีสี’ มักจะมีชั้นความลับที่มากกว่าปกติเสมอ
และสุดท้าย เรื่องนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้เหมือนกับเรื่องอื่นๆ คือปล่อยให้ค่อยๆ ลืม และปล่อยให้จมหายไปพร้อมกับเรือหลวงสุโขทัย…
ภาพ: กองทัพเรือ
Tags: The Momentum ANALYSIS, เรือหลวงสุโขทัย, กองทัพเรือ, กองทัพเรือไทย