หากสังเกตบรรยากาศการเมืองตอนนี้ จะพบความแปลกเกิดขึ้นในมวลรวมเต็มไปหมด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ล้วนเป็นเรื่อง ‘ผิดปกติ’
ในตอนแรก พรรคเพื่อไทยตัดสินใจตัดมิตร ฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค กับพรรคก้าวไกล เปลี่ยนขั้วทางการเมือง เป็นสัญญาณของการรีบเดินเกมเร็ว การคาดการณ์ตอนแรกจากวอร์รูมพรรคเพื่อไทย ล้วนเห็นว่าทุกอย่างต้องจบในวันที่ 4 สิงหาคม เริ่มต้นด้วยการมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วยพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงรวม 260-280 เสียง ไม่มีพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ แต่มีบางคน บางกลุ่มของ 2 ลุง มาร่วมรัฐบาล และทักษิณ ชินวัตร ก็จะเดินทางกลับประเทศอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้
ทว่าเกมกลับเปลี่ยนทันทีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยืดเวลาการพิจารณาเรื่องญัตติเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็น ‘ญัตติซ้ำ’ หรือไม่ ออกไปอีกอย่างน้อยสองสัปดาห์ ทำให้การเลือกนายกฯ ชะงักงัน ทำทุกอย่าง ‘รวน’ ไปหมด การแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลซึ่งตระเตรียมกันไว้อย่างดี กลับต้องถูกเลื่อนไม่มีกำหนด ขณะที่ ส.ว. ที่นัดกันไว้ขณะนี้ว่าผ่านฉลุย พร้อมโหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน ก็มีแววว่าจะซ้ำรอยกรณีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ทั้งหมดเป็นสัญญาณการสู้กลับของฝ่าย ‘ระบอบเก่า’ ที่วันนี้ชัดเจนว่าสามารถจับกันได้แน่น หาทางกลับคืนสู่อำนาจได้แล้ว สามารถแยกพรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย ออกจากกัน สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยเชื่อใจได้ว่า หากแยกกันแล้วจะจัดตั้งรัฐบาลได้ จากนั้นก็เตรียมใช้ 188 เสียง + ส.ว. 250 เสียง บีบเพื่อไทยให้ได้ทุกอย่าง แบบที่ ‘พวกเขา’ ต้องการ
และนี่คือยุทธวิธีที่พวกเขาใช้ภายใต้ ‘ข้อตกลง’ กับปีศาจ ที่จะทำลายพรรคเพื่อไทยจนราบคาบถัดไป หลังจากที่จัดการกับพรรคก้าวไกลได้แล้ว
1. จับเพื่อไทยแยกจากก้าวไกล
เป็นที่รู้กันว่า MOU 8 พรรค 312 เสียง มีความระส่ำระสายมาโดยตลอด ท่ามกลางความไม่ไว้ใจกัน โดยเฉพาะระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล สองพรรคใหญ่ที่ต่างกันเพียง 10 เสียง ไม่ว่าจะด้วยแนวนโยบาย ไม่ว่าจะด้วยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
สัญญาณในตอนแรกจากฝั่งอนุรักษนิยมเห็นว่าพรรคเพื่อไทยอันตรายน้อยกว่าพรรคก้าวไกล และการที่สองพรรคมี 312 เสียง ย่อมทำให้พรรคที่เกิดมาเพื่อ ‘ร่วมรัฐบาล’ เท่านั้น อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ หมดโอกาสเข้าร่วม
เมื่อช่วงเวลาทิ้งระยะออกมา พรรคเหล่านี้ได้เวลาจับกับ ส.ว.อย่างแน่นหนา ไม่ยอมโหวตให้พิธา ด้วยเหตุผลสำคัญอย่างการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับเงื่อนไขใหม่ ห้าม ‘ก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล ทำให้สุดท้ายเพื่อไทยต้องรีบเดิมเกมจับก้าวไกลแยกออกมา พร้อมกับจิบช็อกมินต์ร่วมกับสารพัดพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ส่งสัญญาณ ‘ข้ามขั้ว’ โดยหวังว่าหากข้ามแล้ว ส.ว.จะเทคะแนนโหวตให้นายกฯ จากเพื่อไทย
จนถึงวันนี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตเป็นทฤษฎีสมคบคิดว่า การไม่เอา ‘ก้าวไกล’ เป็นเพียงการขุดบ่อล่อปลา ล่อให้เพื่อไทยออกจากก้าวไกลเท่านั้น เกมง่ายๆ ก็คือ หากแกะเพื่อไทยออกมาได้แล้ว ระบอบเก่าจะกดดัน บดขยี้เพื่อไทยง่ายกว่า
2. ถ้า ‘ดีล’ เรียบร้อยก็ไม่น่ามีปัญหา
หลังจากสลัดก้าวไกลทิ้งไม่นาน ความคลุมเครือก็เกิดขึ้นทันที อยู่ดีๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็ยืดอายุการวินิจฉัยเรื่องญัตติโหวตนายกฯ ออกไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งที่ไม่ได้มีเรื่องอะไรให้พิจารณานานขนาดนั้น
องคาพยพที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมโยงกับ ‘ระบอบเก่า’ อันมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าใหญ่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีแรงยุส่งให้พลเอกประวิตรเป็นนายกฯ เอง และเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงจากฟาก ‘อำนาจเก่า’ ว่า ถึงที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทยอาจ ‘ไม่น่าไว้ใจ’ เท่ากับฝั่งรัฐบาลเดิม
ด้วยเหตุนี้ เรื่องแปลกๆ ว่าด้วยคุณสมบัติและจริยธรรม เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย จึงเกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน เสียง ส.ว.ที่เคยบอกว่าจะโหวตให้เศรษฐาเป็นนายกฯ ก็ค่อยๆ เบาลง ขณะที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคของพลเอกประวิตร ก็ใช้โอกาสวันนี้ ยื่นหนังสือ ส.ว.ให้ตรวจสอบเศรษฐา
มีการตั้งข้อสังเกตว่าในห้วงเวลาที่ลากยาวออกไป อาจมีความพยายามเปลี่ยนตัวนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยให้เป็นพลเอกประวิตร โดยมีพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาลแทน โดยใช้เสียง ส.ว. และเสียงจากฝั่งอำนาจเก่ามาบีบพรรคเพื่อไทย
3. ระบอบเก่าต่อรองเพื่อไทย ด้วยข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยแจ้งกับพรรคก้าวไกลว่า มีข้อมูลว่า ‘มีการอ้างบุคคลสำคัญ ที่เราเช็กข้อมูลไม่ได้’ ไม่เอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจึงต้องข้ามขั้วไปจับกับพรรคอื่นๆ
ขณะที่มุมมองของพรรคเพื่อไทยนั้นมองว่า อย่างน้อยการไปร่วมรัฐบาลกับฝั่งระบอบเก่านั้น พรรคเพื่อไทยก็ยังควบคุมทิศทางรัฐบาลได้ ยังคงได้ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งการได้อำนาจรัฐนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากจะแก้รัฐธรรมนูญหรือทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินต่อไปได้
ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องข้ามขั้วเพราะหากไม่ข้าม ตำแหน่งนายกฯ อาจเป็นของพลเอกประวิตรหรืออนุทิน แต่คำถามที่พรรคเพื่อไทยอาจคิดไม่ถึงก็คือ หากพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่ง ณ วันนี้ สามารถรวมเสียงได้เกิน 141 เสียง ที่พรรคเพื่อไทยมีอยู่เดิม เกิด ‘ตลบหลัง’ พรรคเพื่อไทยอีกที ขอตำแหน่งนายกฯ ให้พลเอกประวิตร ขอกระทรวงดีๆ ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปทั้งหมด พรรคเพื่อไทยจะเหลืออะไร
วันนี้อำนาจต่อรองของ 141 เสียงของพรรคเพื่อไทย จึงน้อยลงเรื่อยๆ ครั้นจะกลับไปร่วมกับพรรคก้าวไกล ก็ไม่ทันเวลาเสียแล้ว
4. จังหวะนรกของ ‘ทักษิณ’
การเลื่อนเดินทางกลับประเทศของทักษิณนั้น ต่อให้มองอย่างไรก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังคงชะงักงันในวันนี้
ไม่มีใครเชื่อว่าการเลื่อนเดินทางกลับ เป็นไปเพราะต้องการ ‘หาหมอ’ แบบที่ทักษิณทวีตข้อความ
ตอนแรกนั้นทักษิณประเมินว่า ‘ทางสะดวก’ เมื่ออำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ที่พรรคเพื่อไทย รีบเลือกนายกฯ รีบตั้งคณะรัฐมนตรี ทักษิณจะได้เดินทางกลับประเทศแบบเท่ๆ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 พร้อมทำหน้าที่ ‘ตัวประกัน’ ในรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา และรัฐบาลอันมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกน
ทว่าดีลนี้อันตรายกว่านั้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนที่ทักษิณทำข้อตกลงด้วยมักจะพลิกไปมาเสมอ บางครั้งคนที่ทำข้อตกลงด้วยอาจไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจจริง และในบางครั้ง ‘ชนชั้นนำ’ ก็เกิดเปลี่ยนใจ เห็นข้อเสียมากกว่าข้อดี ทำให้ทักษิณเสียโอกาสเสมอ ไม่ว่าจะกรณีกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ
คำถามก็คือ ณ วันนี้ การดีลของทักษิณยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิมอยู่หรือไม่ หรือคนที่ทักษิณดีลด้วยไม่ได้มีอำนาจต่อรองอีกต่อไปแล้ว และสุดท้ายพรรคเพื่อไทยจะยังเป็น ‘แกน’ ของการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ไหม หรือกลายเป็นพรรคอื่นแล้วที่มีอำนาจเหนือกว่า เพราะข้อตกลงกลายเป็น ‘นัดแล้วไม่มาตามนัด’ เหมือนเดิม
เรื่องทั้งหมดจึงอึมครึม ท่ามกลางการพยายามใช้เสียงจาก ‘ผู้แทนราษฎร’ ที่ประชาชนเลือกไปเป็นเครื่องมือต่อรอง ไม่ว่าจะต่อรองเก้าอี้นายกฯ ต่อรองกระทรวง หรือต่อรองเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ
การเมืองไทยที่เปลี่ยนไป-มาทุกวัน มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นทุกวัน จึงยังอยู่ในสภาวะ ‘ไม่คงที่’และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีสัญญาณชัดว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นใคร แม้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนจะให้คำตอบชัดแล้วว่าเอาใคร และไม่เอาใคร
น่าเสียดายที่เรื่องนี้ ประชาชนมีสถานะเป็น ‘ตัวประกอบ’ และการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ส่วนนายกฯ และรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะ ‘ลงแส้’ แรงแค่ไหน
Tags: เพื่อไทย, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, จัดตั้งรัฐบาล, ก้าวไกล, Analysis