มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษเปิดเผยว่า บุคคลสำคัญที่จะปรากฏบนธนบัตร 50 ปอนด์ของอังกฤษใบใหม่ก็คือ แอลัน ทัวริง นักคณิตศาสตร์และผู้ทีไ่ด้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการเป็นวีรบุรุษสงครามจากการที่เขาสามารถถอดรหัสลับจากฝ่ายเยอรมนีได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ในปี 2018 คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการคัดเลือกบุคคลที่จะปรากฏบนธนบัตรของธนาคารกลางของอังกฤษได้รวบรวมรายชื่อบุคคลในหลากหลายแวดวง โดยมีรายชื่อทั้งหมด 227,299 คน และมีคุณสมบัติที่สามารถจะเป็นบุคคลสำคัญที่นำมาใช้บนธนบัตรได้ถึง 989 คน โดยในรายชื่อรอบสุดท้ายนั้นมีทั้ง สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ผู้คิดค้นทฤษฎีหลุมดำอันเลื่องชื่อ แมรี แอนนิง ผู้คนพบซากสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ยุคจูราสสิค และโรซาลินด์ แฟรงคลิน นักเคมีผู้ค้นพบอีเอ็นเอ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว แอลัน ทัวริง คือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคสำคัญปรากฏบนธนบัตรใบละ 50 ปอนด์รุ่นใหม่ของอังกฤษในครั้งนี้
แอลัน ทัวริง จบการศึกษาเกียรตินิยมด้านคณิตศาสตร์จาก King’s College เคมบริดจ์ และทำงานด้านคอมพิวเตอร์ในยุคแรกๆ รวมไปถึงการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Universal Turing Machine อันเป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการแก้ปัญหาต่างๆ
และเมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้เข้ามาร่วมทีม GC&CS ซึ่งเป็นทีมไขรหัสสัญญาณของฝ่ายนาซีเยอรมัน และสามารถไขรหัสลับอินิกมาของฝ่ายนาซี ช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะในสงครามครั้งนั้นได้ มีการประมาณการณ์กันว่าความสำเร็จในการไขรหัสอินิกมาของแอลัน ทัวริง ช่วยทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเร็วขึ้นประมาณ 2-3 ปี และเป็นผลให้สามารถลดจำนวนการเสียชีวิตของผู้คนในช่วงสงครามได้มากกว่า 14-21 ล้านคนเลยทีเดียว โดยเรื่องราวของแอลัน ทัวริงนั้น เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ The Imitation Game ในปี 2014
แอลัน ทัวริง เปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจนว่าเป็นเกย์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี 1952 หลังจากสงครามโลกคงที่สองจบลง แอลัน ทัวริง ถูกจับโทษฐานมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย โดยมีการกำหนดทางเลือก 2 ทางคือจำคุกหรือฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อลดความต้องการทางเพศ ซึ่งเขาเลือกฉีดฮอร์โมน แต่แล้วในวันที่ 8 มิถุนายน 1954 แอลัน ทัวริง ถูกพบว่าเสียชีวิตในบ้านพักโดยหลังการชัณสูตรพบว่าเขารับสารไซยาไนด์ในปริมาณที่ทำให้เสียชีวิตได้
ภาพบนธนบัตร 50 ปอนด์แบบใหม่นี้ ประกอบไปด้วยภาพของแอลัน ทัวริงที่ถ่ายไว้ในปี 1951 ตารางสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์อันเป็นเอกสารในปี 1936 ภาพวาดเครื่องถอดรหัสอินิกมาที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ลายเซ็นของแอลัน ทัวริง กระดาษเครื่องรับโทรเลขซึ่งระบุวันเกิดของเขาด้วยเลขรหัสไบนารี ซึ่งถอดรหัสออกมาได้ว่าเป็นวันที่ 23 มิถุนายน 1912 ซึ่งธนบัตรใบละ 50 ปอนด์แบบใหม่ของอังกฤษนี้จะเริ่มใช้ในช่วงปลายปี 2021
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/business/2019/jul/15/alan-turing-to-feature-on-new-50-note
https://www.bbc.com/news/business-48962557
https://edition.cnn.com/2019/07/15/business/alan-turing-50-pound-note/index.html
ภาพ : OLI SCARFF / AFP
Tags: นาซี, ธนบัตร, สงครามโลกครั้งที่ 2, คอมพิวเตอร์, แอลัน ทัวริง, นักคณิตศาสตร์