กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลร่วมกันเปิดเผยงานวิจัยที่ว่า ‘อากาศคุณภาพแย่’ เพิ่มโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันเป็นเวลา 29 ปี
นักวิจัยได้ทำงานวิจัยโดยกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 7,071 คน อายุระหว่าง 45-84 ปีที่อาศัยอยู่ใน 6 เมืองของสหรัฐอเมริกา โดยการวัดระดับของอนุภาคฝุ่น ไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนดำ และโอโซนนอกบ้านของผู้เข้าร่วมการวิจัย พร้อมทำการซีทีสแกนเพื่อติดตามลักษณะของปอดและถุงลมโป่งพอง
หลังการติดตามผู้เข้าร่วมเป็นระยะเวลา 10 ปี ผลการศึกษาพบว่าการรับมลพิษทางอากาศในระยะยาวนั้นมีความสัมพันธ์กับอาการถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นที่สังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจนจากซีทีสแกน
โดยพบว่า ‘โอโซนระดับพื้นดิน’ มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับการทำงานของปอดที่ลดลง เพราะในพื้นที่ที่มีระดับโอโซนพื้นดินเพิ่มขึ้นพบว่าอาการถุงลมโป่งพองก็เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่หนึ่งซองต่อวันเป็นเวลา 29 ปี
Dr. Joel Kaufman หนึ่งในนักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เปิดเผยว่า ผู้ร่วมวิจัยประหลาดใจที่มลพิษทางอากาศส่งผลต่อการลุกลามของถุงลมโป่งพองรุนแรงในระดับเดียวกับการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพองที่เป็นที่รู้จักที่สุด พร้อมอธิบายว่าเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจสาเหตุของโรคปอดเรื้อรังและผลจากการศึกษาของเราปรากฎว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศคือหนึ่งในสาเหตุที่ยากจะหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้ โอโซนระดับพื้นดินจะเกิดขึ้นเมื่อแสง UV ทำปฏิกิริยากับมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และถูกเร่งกระบวนการโดยคลื่นความร้อน โดยในขณะที่มลพิษทางอากาศส่วนใหญ่กำลังลดลงจากความพยายามในการลดมลพิษ แต่การลดปริมาณโอโซนระดับพื้นดินกลับไม่ประสบความสำเร็จ
โดยนักวิจัยเชื่อว่าระดับของโอโซนพื้นดินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่มีขั้นตอนลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมาเพิ่มเติม และนักวิจัยยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่ามลพิษทางอากาศระดับใดจะปลอดภัยสำหรับมนุษย์
ในขณะที่ ‘โรคทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง’ ซึ่งหมายรวมถึงโรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคหอบหืดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของโลก
อย่างไรก็ตาม จากรายงานดัชนีคุณภาพอากาศตามเกณฑ์ของ US พบว่าในปี 2018 ประเทศที่มีสภาพมลพิษทางอากาศแย่ที่สุด 5 อันดับของโลก ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย อัฟกานิสถาน และบาห์เรน โดยทั้ง 5 ประเทศมีสภาพอากาศเฉลี่ยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและประเทศใน 10 อันดับแรกล้วนอยู่ในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ในขณะที่สภาพอากาศเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง
ที่มา
https://edition.cnn.com/2019/03/04/health/most-polluted-cities-india-china-intl/index.html
ภาพ: reuters / Jorge Silva
Tags: มลพิษทางอากาศ, บุหรี่