กลายเป็นฝันร้ายของพ่อแม่ที่พยายามปกป้องเด็กๆ เมื่ออนุภาคของมลพิษทางอากาศถูกพบอยู่ใกล้ทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าทารกที่ยังไม่คลอด สามารถสัมผัสกับอนุภาคคาร์บอนสีดำที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงได้ และอาจจะส่งผลเสียต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

ล่าสุดวารสาร Nature Communications ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่า ทีมวิจัยตรวจสอบพบอนุภาคขนาดเล็กอย่างคาร์บอนสีดำอยู่ภายในรกจำนวนมหาศาลต่อทุกๆ ลูกบาศก์เมตรในเนื้อเยื่อของตัวอย่างรกทุกชิ้นที่นำมาตรวจวิเคราะห์ โดยอธิบายว่าอนุภาคดังกล่าวที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงสามารถผ่านเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วยการแทรกซึมผ่านลมหายใจของมารดา

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และไม่เคยสูบบุหรี่ ภายในเมือง Hasselt ประเทศเบลเยียมซึ่งเป็นเมืองที่มีระดับมลพิษต่ำกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรป แต่สูงกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก โดยนักวิจัยเลือกใช้เทคนิคเลเซอร์เพื่อตรวจจับอนุภาคคาร์บอนสีดำ ก่อนจะพบว่าจำนวนของอนุภาคที่กีดขวางอยู่ในรกสัมพันธ์กับระดับมลพิษทางอากาศที่มารดาได้รับ

แม้ที่ผ่านมาวงการวิทยาศาสตร์จะทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสอากาศสกปรกของมารดากับอัตราการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำอยู่แล้ว แต่การวิจัยนี้กลับชี้ให้เห็นอย่างเฉพาะเจาะจงว่าอนุภาคอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลภาวะในครรภ์มารดา

โดยทีมยังตรวจพบอนุภาคคาร์บอนสีดำภายในรกจากครรภ์มารดาที่แท้งบุตร รวมถึงในเด็กทารกอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ทีมจึงอยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์ว่า อนุภาคทำให้ดีเอ็นเอของทารกเสียหายหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม Tim Nawrot หัวหน้างานวิจัยได้เปิดเผยความกังวลว่า ความเสียหายจากอากาศสกปรกและมลพิษที่ทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอาจมีผลสืบเนื่องตลอดชีวิต หลังจากพบว่าผลงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์ในปี 2017 ตรวจพบอนุภาคคาร์บอนในปัสสาวะของเด็กประถมอายุประมาณ 9-12 ปี ซึ่งอาจจะเกิดจากการเคลื่อนย้ายอนุภาคจากปอดไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

“ช่วงเวลาการเป็นทารกคือช่วงเวลาที่อ่อนแอที่สุดของชีวิต ระบบอวัยวะทั้งหมดอยู่ระหว่างการพัฒนา ดังนั้น เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อไปเราจะต้องลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น” โดยเผยว่าแม้รัฐบาลจะมีหน้าที่ลดมลพิษทางอากาศก็จริง แต่ในขณะที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงถนนที่วุ่นวาย 

ที่สุดแล้วงานวิจัยชิ้นนี้ควรจะนำไปสู่การทบทวนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในทั่วทุกบริเวณของโลก เพราะข้อสรุปข้องานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่ามลพิษทางอากาศอาจทำลายทุกเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ ในขณะที่ 90% ของประชากรโลกอาศัยอยู่พื้นที่ที่มลพิษทางอากาศเกินเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา รายงานจาก AirVisual ระบุว่า อันดับประเทศที่มีสภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก 5 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย อัฟกานิสถาน และบาห์เรน ในขณะที่ถ้าจัดอันดับเป็นเมืองอินเดียจะครอง 4 อันดับจาก 5 อันดับแรก และมีเพียงเมืองไฟซาลาบาด ประเทศปากีสถานที่สามารถแทรกเข้ามาชิงแชมป์อากาศแย่ในอันดับ 3 เท่านั้น

ที่มา

https://www.theguardian.com/environment/2019/sep/17/air-pollution-particles-found-on-foetal-side-of-placentas-study 

https://edition.cnn.com/2019/03/05/health/100-most-polluted-cities-2018-intl/index.html

ภาพ: Gettyimages

Tags: