พอพูดถึงความป่วยไข้ ทั้งสุขภาพกายและจิตก็ดูเหมือนจะหลอมเป็นเรื่องเดียวกันไปหมด พอป่วยกายที ใจก็พลอยเฉาไปด้วย แล้วพอใจซึมมันก็ยิ่งส่งผลต่ออาการทางกาย เช่น ละเลยการดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องจนส่งผลเป็นวงจรของการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่เจ้าของไข้เท่านั้นที่อ่อนล้า แต่คนดูแลก็อาจจะท้อแท้ไม่แพ้กัน

มาถึงตรงนี้ ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยจะพบช่องว่างตรงกลางระหว่างการฟื้นฟูโรคภัยไข้เจ็บ ว่าทำไมสื่อสารอะไรไปอีกฝ่ายไม่เคยเข้าใจสักที เกิดเป็นความอึดอัดที่ขยายช่องว่างของความไม่เข้าใจนั้นไปเรื่อยๆ 

หลังสำรวจพบพื้นที่โหวงๆ ตรงกลางระหว่างผู้ป่วยและคนดูแล โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จึงเริ่มนำร่องโปรเจ็กต์เพื่อการสื่อสารกันของคนไข้ที่เข้ารับการรักษาและญาติหรือคนใกล้ตัวที่คอยดูแล จนเกิดเป็น #กำลังใจที่เข้าใจ แคมเปญที่จะชวนทุกคนหันหน้าเปิดใจทำความเข้าใจ เพื่อให้การสื่อสารและส่งต่อกำลังใจให้กันและกัน

การต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองของคนป่วย 

เมื่อเสิร์ชกูเกิลดูไวๆ ด้วยคีย์เวิร์ดอย่าง ‘ทำไมคนป่วยถึงดื้อ’ ก็ปรากฏเป็นกระทู้คำถามทำนองนี้และบทความสารพัดในการรับมือกับความดึงดันของคนป่วย 

เมื่อความเจ็บไข้มาเยือน ต่อให้เป็นอาการทางกายหรือทางใจ มันได้เปลี่ยนสถานะของคนที่วันหนึ่งเคยแข็งแรง ไปไหนมาไหนและทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ให้กลายเป็นคนที่ใครๆ ก็มองว่าต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด หนักเข้าก็กลายเป็นการประคบประหงมที่มากเกินไปและทำให้คนป่วยรู้สึกว่า ทำไมฉันไม่ได้รับอนุญาตให้ทำเรื่องง่ายๆ ที่เคยทำได้แล้วนะ 

การที่อยู่ดีๆ วันหนึ่งทำเรื่องที่เคยทำไม่ได้เนี่ยแหละที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย เช่น ความรู้สึกไร้ค่า ต้องเป็นภาระของผู้ดูแล การรู้สึกว่าประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตมันลดฮวบ กลไกอย่างหนึ่งที่คนป่วยเลือกใช้เพื่อต่อสู้กับอาการที่ขัดขวางความปกติของชีวิต และเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้คนรอบตัวเห็นว่าฉันไหว ฉันสบายมาก ก็คือการใช้ชีวิตปกติที่เคยทำให้เห็นนี่แหละ จากจุดนี้เอง ที่ความเป็นห่วงของคนรอบตัวจะเริ่มทำงาน ส่งผลเป็นการห้ามปรามหรือบางครั้งก็หลุดอารมณ์ใส่กันจนใจเสียทั้งสองฝ่าย 

ภาวะเบิร์นเอาท์ของคนดูแล 

ข้ามมาฝั่งคนดูแล ที่พอขึ้นชื่อว่าเป็นการดูแลแล้วก็ย่อมอยากให้การดูแลให้ดีที่สุด เพราะใครจะอยากปล่อยปละละเลยคนที่เรารักให้เจ็บป่วยหนักกว่าเดิม ตรงนี้เองที่ความห่วงใยอาจทำร้ายกัน เพราะเมื่อมันปะทะเข้ากับความพยายามจะพิสูจน์ตัวเองของคนป่วยว่าฉันไม่ได้เป็นอะไรมาก ก็ยิ่งจะทำให้เกิดเป็นแอ็กชั่นที่ต่อต้านกัน คนป่วยก็รั้นจะทำนู่นทำนี่ให้ได้ ส่วนเราก็ตามห้ามตามปรามไม่ไหวและเหนื่อยใจจากการดูแลไปในที่สุด

แม้ว่า Caregiver Syndrome จะไม่ได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการทางจิต แต่ในปัจจุบันก็ถูกใช้เรียกอาการหมดใจ ความโกรธ ความไม่เข้าใจซ้ำๆ ความวิตกกังวล ซึมเศร้า รวมถึงความเครียดที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ที่ต้องดูแลคนป่วย

หลายครั้งความเหนื่อยหน่ายข้างต้นก็มาจากการไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่เราดูแลถึงดื้อจัง ทำไมพูดอะไรไม่ฟังกันเลย ทำไมเขาปฏิเสธการดูแลของเรา ทำไม ทำไม ทำไม วนไปอย่างนี้ ทั้งหมดมาจากความเป็นห่วงอยู่ลึกๆ แหละว่า คนป่วยยังไม่พร้อมจะทำนู่นทำนี่เพราะเพิ่งผ่านการรักษาอาการหนักๆ มา ไม่ก็คนป่วยอยู่ในภาวะที่ร่างกายไม่ปกติเพราะงั้นให้อยู่เฉยๆ นอนพักจะเป็นประโยชน์กับเขามากกว่า 

พอความหวังดีของเราไปตีกันกับความอยากกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุดของคนป่วยมันก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่คนป่วยที่รู้สึกว่าตนถูกห้ามให้ใช้ชีวิตปกติเท่านั้น แต่คนดูแลเองก็อาจมีท้อๆ กันแล้วแหละว่า ทำไมดูแลคนป่วยมันยากจังเนี่ย 

กำลังใจที่เข้าใจ 

จากความไม่เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายข้างต้น กลายมาเป็นจุดตั้งต้นที่ทีมครีเอทีฟของแคมเปญ #กำลังใจที่เข้าใจ ยกมาเป็นต้นทางของการทำงาน เพื่อรณรงค์ให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นตัวคนป่วย คนที่ดูแล หรือแม้แต่คนรอบข้างอื่นๆ เปิดใจเพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจเบื้องหลังพฤติกรรมดื้อๆ ของทั้งคนป่วยและคนดูแล 

เพราะเราจะเห็นได้ว่า ในมุมของผู้ดูแลนั้นคนป่วยก็ดื้อแสนดื้อ ส่วนในมุมของคนป่วยก็จะมองว่าทำไมคนดูแลมันดื้อและไม่เปิดโอกาสให้เราเป็นตัวของตัวเองเลย ดังนั้น แทนที่จะทำแคมเปญมาบอกว่าเราต้องเข้าใจกันนะ ทีมงานจึงเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์สั้นจาก 3 สถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นกับใครหลายคน ทั้งพ่อที่เพิ่งผ่าตัดบายพาสหัวใจและขยันขันแข็งอยากดูแลบ้านได้เหมือนเก่า กับลูกที่คอยห้ามพ่อทำทุกอย่าง แม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งกับลูกที่แอบโดดเรียนเพราะอยากอยู่เฝ้าและใกล้ชิดกับแม่ และคู่รักที่ต้องประคับประคองอาการเจ็บป่วยของอีกฝ่าย 

หลังจากแคมเปญดังกล่าวเปิดตัวภาพยนตร์สั้นมาเพียงแค่สามวันแรก มียอดวิวของผู้ชมพุ่งสูงถึงหนึ่งล้านวิว และสัปดาห์ต่อมาก็แตะถึง 2.5 ล้านวิว พร้อมยอดแชร์ทางเฟซบุ๊กกว่า 5.4 พันแชร์

ที่สำคัญกว่าตัวเลขเหล่านี้ คือมันทำให้แฮชแท็คอย่าง #กำลังใจที่เข้าใจ กลายเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง รวมถึง “ห้องแบ่งปันกำลังใจ” แพลตฟอร์มที่ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จัดทำผ่านหน้าเว็บ เปิดให้เกิดการสื่อสารและส่งต่อกำลังใจให้กันมากขึ้นด้วย

และเหนือกว่าสิ่งอื่นใด แคมเปญดังกล่าวทำให้หลายคนกลับมาฉุกคิดก่อนจะส่งกำลังใจที่ผ่านความเข้าใจ จนเกิดเป็นการสื่อสารเพื่อที่จะปรับตัวอยู่ด้วยกันแบบเข้าใจและแฮปปี้ด้วยกันทั้งสองฝ่ายในที่สุด 🙂

Tags: , , , , ,