ภาพของกองขยะพลาสติกทั้งแก้วน้ำหรือขวดน้ำที่เกิดขึ้นหลังงานวิ่งจบลง คือปัญหาที่บรรดาผู้จัดงานและนักวิ่งทั่วโลกต่างก็ตระหนักและมองหาทางแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (หรือ Single Use Plastic) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้ทุกวันนี้เราได้เห็นงานวิ่งหลายรายการชูแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อม จนเกิดนวัตกรรมต่างๆ ตามมามากมายหลายรูปแบบด้วยกัน 

ภาพ: Matthew Childs/ REUTERS

เช่น การแข่งขันลอนดอนมาราธอน ซึ่งแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนเกือบครึ่งแสน และทิ้งขยะขวดน้ำพลาสติกเอาไว้จำนวนมหาศาล ยกตัวอย่างปี 2018 ที่รายการแข่งขันระดับโลกนี้สร้างขยะแก้วน้ำและขวดน้ำพลาสติกไว้มากถึง 920,000 ใบ จนทำให้ในปี 2019 ผู้จัดงานต้องคิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการตั้งเป้าลดขยะพลาสติกให้เหลือ 200,000 ขวด โดยเปลี่ยนมาใช้ ‘แคปซูลน้ำ’ ซึ่งตัวบรรจุภัณฑ์คล้ายเจลลี่ที่หุ้มน้ำดื่มอยู่นั้น ทำมาจากสาหร่ายสกัดที่กลืนลงไปพร้อมกับน้ำได้ และสามารถย่อยสลายเองได้ใน 6 สัปดาห์หากไม่มีการบริโภค หรือการวางกฎเหล็กของรายการแข่งขัน คอนวีย์ ฮาล์ฟ มาราธอน ในเวลส์ ที่หากใครทิ้งขยะพลาสติกระหว่างแข่งขันจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันในทันที รวมไปถึงอีกหลายรายการแข่งขัน ที่นำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ เหรียญรางวัลที่มาจากวัสดุรีไซเคิล ฯลฯ 

ภาพ: Kimimasa Mayama/ REUTERS

 

สำหรับในเมืองไทยเอง การจัดการขยะที่เกิดจากกิจกรรมวิ่งก็เป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้น เห็นได้จากกิจกรรม ‘ก้าวคนละก้าว ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็กๆ’ กิจกรรมวิ่งเพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลทั้ง 5 ภาค คือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งจัดต่อเนื่องในโครงการ ‘ก้าว’ ของ ตูน – อาทิวราห์ คงมาลัย ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิ่ง ที่นอกจากจะมอบรายได้เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลแล้ว ยังส่งต่อความคิดและมอบแรงบันดาลใจใหม่ให้กับเหล่านักวิ่งและผู้จัดงาน ไปจนถึงประชาชนทั่วไป

เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นก้าววิ่งที่ดีต่อสุขภาพกายและดีต่อใจ แต่ทุกก้าวของการวิ่งยังเป็นก้าวที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย จากการเข้ามามีส่วนร่วมของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี ที่ผนึกแนวคิด ‘Circular Living’ สร้างไลฟ์สไตล์ลดขยะ เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการลดจำนวนขยะพลาสติก ออกแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร และนับเป็นรายการวิ่งโครงการแรกของประเทศไทยที่คิดครบตั้งแต่ต้นทางจนจบกระบวนการ 

จนถึงวันนี้ ก้าวคนละก้าวฯ ผ่านกิจกรรมวิ่งระดมทุนไปแล้ว 3 ภาค คือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และล่าสุดคือภาคเหนือที่เพิ่งจบลงไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ภาพที่ได้เห็นผ่านกิจกรรมนี้ คือ การจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน เริ่มตั้งแต่เหรียญรางวัลที่จะมอบให้กับนักวิ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่จีซีเลือกเอาพลาสติกรีไซเคิลมาศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเพื่อใช้เป็นวัสดุ และยกหน้าที่การออกแบบให้เป็นของ สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่ซ่อนความหมายการรวมกันของพลังเล็กๆ ที่ทำให้เกิดสิ่งยิ่งใหญ่ โดยแต่ละภาคจะออกแบบเหรียญรางวัลให้มีลวดลายพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ หากนักวิ่งร่วมวิ่งและได้รับเหรียญครบทั้ง 5 ภาคแล้วนำมาประกบซอนกัน จะกลายเป็นถ้วยรางวัลทรงพีระมิดซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสติปัญญา

ด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในจุดแจกน้ำ ซึ่งเคยสร้างขยะกองโตและเป็นปัญหาหนักอกของผู้จัดงาน ก้าวคนละก้าวฯ สร้างทางเลือกใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ลดขยะ ด้วยการนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ รับรองด้วยฉลาก GC Compostable มาให้บริการยังจุดแจกน้ำในงาน Health Expo ของแต่ละภาค โดยหลังจบงานวิ่ง แก้วเหล่านี้จะถูกนำไปมอบให้กรมป่าไม้เพื่อใช้ในการเพาะชำกล้าไม้

ส่วนขยะขวดน้ำพลาสติกที่เลี่ยงไม่ได้เพราะยังจำเป็นต่อการใช้งานในบางส่วน เมื่อจบงานวิ่งในแต่ละภูมิภาค จีซี จะรวบรวมขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว มาเข้าสู่กระบวนการ Upcycling เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ ด้วยการแปรรูปเป็นเส้นใยแล้วนำไปผลิตเป็นสายคล้องเหรียญรางวัล และเสื้อที่ระลึกโครงการก้าวที่จะใช้ในงานวิ่งของภูมิภาคต่อไป ตามแนวทางการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด ที่เรียกกันว่า Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยถุงบรรจุเสื้อก็จะทำจากพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืช และสลายตัวได้ทางชีวภาพเช่นเดียวกัน

ด้วยการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมของจีซี ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สรุปเป็นตัวเลขได้ชัดเจนจากกิจกรรมก้าวคนละก้าวฯ ของภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งมีการรวบรวมสถิติเอาไว้หลังการจัดงาน โดยในการวิ่งครั้งแรกที่ภาคอีสาน มีการจัดเก็บขวดพลาสติกได้ 80,000 ขวด แล้วนำเข้าสู่กระบวนการ Upcycling เป็นเสื้อที่ระลึกโครงการก้าวได้ 10,000 ตัว เพื่อจำหน่ายระดมทุนและนำมาทำเป็นสายคล้องเหรียญในการวิ่งที่ภาคใต้ ส่วนการวิ่งที่ภาคใต้ สามารถรวบรวมขวดพลาสติกได้ 82,000 ขวด และนำเข้าสู่กระบวนการ Upcycling เพื่อแปรรูปเป็นเสื้อที่ระลึกและสายคล้องเหรียญในการวิ่งที่ภาคเหนือ และยังสามารถส่งมอบแก้วพลาสติกชีวภาพให้กับกรมป่าไม้ เพื่อนำไปเพาะชำกล้าไม้ได้มากกว่า 9,000 ใบ สำหรับการจัดการขวดพลาสติกและแก้วพลาสติกชีวภาพ จากการวิ่งในภาคเหนือ รวมถึงภาคตะวันออกและภาคกลาง ที่จะเกิดขึ้นในคราวต่อไป ก็จะได้รับการส่งต่อเข้าสู่กระบวนการ Upcycling เพื่อใช้ในกิจกรรมภาคต่อไปเช่นเดียวกับที่ผ่านมา 

ด้วยการผสานแนวคิดของจีซีเข้ากับการแสดงพลังของเหล่านักวิ่งของโครงการ ‘ก้าว’ ทำให้กิจกรรม ‘ก้าวคนละก้าว ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็กๆ’ เป็นก้าวที่สร้างสรรค์และเป็นแบบอย่างให้กับผู้จัดงานหรือแม้กระทั่งคนทั่วไป ในการหาทางเลือกใหม่ๆ ของการลดขยะพลาสติก ที่สามารถลงมือได้เลยเพียงเริ่มต้นจากก้าวแรก

Fact Box

แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ซึ่งมีฉลาก GC Compostable จะสลายตัวได้ในสภาวะที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความชื้น จุลินทรีย์ เช่น สภาวะในกองปุ๋ยหมักอินทรีย์มาตรฐาน ซึ่งอุณหภูมิภายในกองปุ๋ยหมักตามธรรมชาติจะอยู่ที่ 55-60 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 50-55 เปอร์เซ็นต์ โดยจะสลายตัวได้ภายใน 6-24 เดือน

Tags: , , , ,