เมื่อเด็กๆ เติบโตมา สิ่งที่พ่อแม่หลายๆ คนคาดหวัง คือการที่เขาได้เรียนรู้และมีพัฒนาการที่สมวัย เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตสดใส แต่ดูเหมือนโจทย์ในโลกยุคนี้ จะไม่เหมือนกับโลกที่คนรุ่นพ่อแม่เติบโตมา
“คนไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 จะไม่ได้หมายถึงคนที่อ่านหรือเขียนหนังสือไม่เป็นอีกต่อไป แต่จะหมายถึงคนที่ไม่สามารถเรียนรู้ ลบล้างสิ่งที่เคยได้รู้ แล้วเริ่มเรียนรู้ใหม่อีกครั้งได้” แอลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) นักเขียนและนักธุรกิจชาวอเมริกันกล่าวเอาไว้ สะท้อนความจริงทุกวันนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว อาชีพที่เราเคยรู้จักและตั้งความฝันไว้ในวัยเยาว์ วันนี้อาจพลิกโฉม เปลี่ยนชื่อ หรือต้องอาศัยทักษะที่ซับซ้อนกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเพียง 4 ปี
ยกตัวอย่างตำแหน่งเหล่านี้ที่คาดว่าบริษัทต่างๆ กำลังต้องการจ้างภายในปี 2020 เช่น
- นักวิเคราะห์ข้อมูล : ผู้ที่ช่วยตีความข้อมูลมหาศาลให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจได้
- สถาปนิกและวิศวกร : โดยเฉพาะวิศวกรผู้ที่เชี่ยวชาญด้านชีวเคมี นาโนเทคโนโลยี โรโบติกส์ และวัสดุศาสตร์
- นักออกแบบผลิตภัณฑ์ : หนึ่งในทักษะที่เป็นที่ต้องการมาก คือความคิดสร้างสรรค์ เพราะอาชีพส่วนใหญ่ที่ทำซ้ำได้จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ แต่ธุรกิจต่างๆ จะยังต้องการนักออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ไม่ใช่แค่นี้ แต่ยังมีอาชีพอีกมากมายที่หลุดจากกรอบซึ่งเราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์ นักเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ นักแคสต์เกม นักกีฬาอี-สปอร์ต ฯลฯ ที่หากทำได้ดีและโดดเด่น ก็สร้างอนาคตที่สดใสได้ไม่แพ้ใคร
นักวิเคราะห์ตลาดแรงงานยังมองอีกว่า ตำแหน่งงานสองประเภทที่ค่าแรงจะสูงขึ้น อย่างแรก คืออาชีพที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคซึ่งยังเป็นที่ขาดแคลนในปัจจุบัน ส่วนงานประเภทที่สองกลับเป็น ‘อาชีพแบบไฮบริด’ หมายถึง อาชีพที่เกิดจากการควบรวมศาสตร์ที่แตกต่างเข้าด้วยกันกลายเป็นอาชีพใหม่ หรือจะเรียกให้ตื่นตาตื่นใจ ว่า ‘งานเรอเนสซองส์’ ก็ได้ เพราะใช้ทักษะที่หลากหลาย
เมื่ออาชีพแบบไฮบริดเหล่านี้ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าในยุคหน้า เก่งเรื่องเดียวไม่พอ แต่ต้องพร้อมจะเก่งในด้านอื่นๆ ตลอดเวลาด้วย เพราะการพลิกผันในวงการต่างๆ จาก disruption technology เรียกร้องให้เราเป็นผู้สามารถเรียนรู้ใหม่ได้ตลอดชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญก็คือความรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งจะผลักดันให้คนคนหนึ่งแสวงหาความรู้มาเติมเต็มตัวเองและโดดเด่นกว่าใครๆ
เพราะฉะนั้น หากต้องถามเด็กรุ่นใหม่ในเจเนอเรชัน Z ว่าพวกเขาอยากเป็นอะไร คำตอบอาจจะไม่ง่ายเหมือนคำตอบมาตรฐานที่สอนกันในห้องเรียน เพราะอาชีพที่ใหม่และเจ๋งกว่า พร้อมจะมาแทนที่คำตอบตายตัวนั้นเสมอ
แล้วพ่อแม่จะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร การตั้งความหวังให้ลูกตั้งแต่เขายังเด็ก ว่าอาชีพในฝันของเขาควรเป็นอะไร อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ทำได้และควรทำตั้งแต่ช่วงแรกๆ คือการเชื่อในสิ่งที่เขารัก เพื่อให้เขาเป็นคนได้เลือกเองว่าอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองในวันข้างหน้าคืออะไร และกลายเป็นอนาคตในแบบที่เขาชอบ
เคล็ดลับในการสร้างทักษะการเรียนรู้ที่เริ่มได้เลยวันนี้ ได้แก่
- ลองให้เขาเลือก
ให้เด็กๆ ได้ลองเลือกอะไรง่ายๆ ด้วยตัวเองบ้าง เช่น จะใส่เสื้อผ้าอะไร หรือจะกินอะไรเป็นอาหารว่าง นั่นจะช่วยให้เขาเป็นคนกล้าตัดสินใจ
- ช่วยให้เขาทำสิ่งที่เริ่มแล้วให้เสร็จลุล่วง
เด็กๆ จะรู้สึกพึงพอใจมากเมื่อเขาได้เริ่มทำอะไรใหม่ๆ และทำมันได้สำเร็จ ต้องช่วยสนับสนุนพวกเขาบ้างเมื่อต้องการ แต่ระวังอย่าไปทำแทนทั้งหมดนะ
- เลือกอาหารที่ช่วยด้านพัฒนาการของสมอง
สารอาหารที่จำเป็นเพื่อให้เด็กๆ มีพัฒนาการไปตามวัย นอกจากโปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี โฟเลต ไอโอดีน จากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ถั่ว รวมทั้งวิตามินต่างๆ และกรดไขมันโอเมก้าสามแล้ว ยังมีแอลฟา-แลคตัลบูมิน (Alpha-Lactalbumin) สารอาหารประเภทโปรตีนที่มีความสำคัญต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมองของเด็ก พบมากในนมแม่ และสฟิงโกไมอีลิน (Sphingomyelin) พบมากในเยื่อหุ้มเซลล์โดยเฉพาะบริเวณส่วนแอกซอนของเซลล์ประสาท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณกระแสประสาทของสมอง สัมพันธ์กับความคิดอ่าน การเรียนรู้ การจดจำ ตลอดจนการพัฒนาสติปัญญาของแต่ละบุคคล ซึ่งสารนี้พบมากในนมแม่ ไข่แดง และนมวัว
- ฟูมฟักความสร้างสรรค์
กระตุ้นให้เด็กๆ ตั้งคำถาม หรือให้พวกเขาทดลองเล่นกับวัสดุต่างๆ ว่าเอาไปทำอะไรได้บ้าง และให้พวกเขาได้พบเจอประสบการณ์ที่หลากหลาย
- ทำกิจกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เด็กๆ ต้องการเวลาในการทำแต่ละกิจกรรมให้นานขึ้นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อที่จะมีส่วนร่วมและใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมนั้นจริงๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ
เมื่อชีวิตของลูกน้อยยังอีกยาวไกล สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะทำได้ในวันนี้ คือเปิดโอกาสให้เขาได้ลอง เพื่อให้รู้ว่าเรื่องใดที่เขารัก และกระตือรือร้นจะเรียนรู้เกี่ยวกับมันให้รอบด้าน เพื่อให้เขาได้เดินออกไปสร้างอนาคตในแบบที่ตัวเองชอบ โดยไม่มีกรอบของชื่ออาชีพมาขวางกั้น
ที่มา:
- https://www2.deloitte.com/insights/us/en/deloitte-review/issue-21/changing-nature-of-careers-in-21st-century.html#endnote-30
- https://www.forbes.com/sites/ellevate/2018/08/06/the-skills-you-need-to-succeed-in-2020/#18b7e29b288a
- https://www.weforum.org/agenda/2016/01/8-jobs-every-company-will-be-hiring-for-by-2020/
- http://www.pbs.org/parents/childdevelopmenttracker/six/approachestolearning.html
- https://www.scholastic.com/parents/family-life/creativity-and-critical-thinking/learning-skills-for-kids/6-life-skills-kids-need-future.html
- https://www.health.harvard.edu/blog/brain-food-children-nutrition-2018012313168
- http://haamor.com/