เควิน ซิสตรอม (Kevin Systrom) และไมค์ ครีเจอร์ (Mike Krieger) สองผู้ก่อตั้งอินสตาแกรมลาออก และจะหยุดทำงานในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และถือเป็นความท้าทายอีกครั้งที่เฟซบุ๊กตัองเผชิญ
เว็บไซต์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ทั้งคู่แจ้งกับทีมบริหารของอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กเมื่อวันจันทร์ที่ 24 กันยายน โดยไม่ได้ให้เหตุผล เพียงแต่บอกว่าจะหยุดพักช่วงหนึ่งเท่านั้น
ต่อมา ซิสตรอมโพสต์บล็อกในเว็บไซต์อินสตาแกรมว่า “ไมค์และผมรู้สึกขอบคุณ ทีมทำงาน 8 ปีที่อินสตาแกรม และ 6 ปีกับทีมเฟซบุ๊ก เราเติบโตจาก 13 คนกลายเป็นพันคนและมีสำนักงานทั่วโลกที่ร่วมสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีชุมชนใช้งานกว่า 1 พันล้านคน ตอนนี้เราพร้อมแล้วสำหรับบทใหม่ในชีวิต”
“เราวางแผนสำรวจความอยากรู้อยากเห็นและความคิดสร้างสรรค์ของเราอีกครั้ง สร้างสิ่งใหม่ที่ต้องทำให้เราก้าวถอยหลัง เข้าใจสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา และจับคู่มันกับสิ่งที่โลกต้องการ
โฆษกของเฟซบุ๊กยังไม่ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้
การลาออกของทั้งคู่ชวนให้สงสัยถึงอนาคตของอินสตาแกรมในมือของเฟซบุ๊ก ซึ่งสองปีที่ผ่านมา ถูกวิจารณ์เรื่องการไม่ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ และป้องกันผู้ใช้จากการแทรกแซงจากต่างประเทศ
ซิสตรอมและครีเจอร์รู้จักกันตั้งแต่ปี 2008 ขณะที่ได้รับทุนในโครงการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Burbn ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Instagram ซึ่งตอนนี้มีผู้ใช้กว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ช่วงแรกเน้นไปที่การถ่ายรูปในชีวิตประจำวันด้วยไอโฟน โดยมีฟังก์ชันแต่งภาพผ่านฟิลเตอร์หลากหลาย จนทำให้ภาพถ่ายธรรมดาดูมีศิลปะ และนั่นทำให้แอปนี้เป็นที่นิยม จนในที่สุดก็ต้องตามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์กแห่งเฟซบุ๊ก
เฟซบุ๊กซื้ออินสตาแกรมในปี 2012 ด้วยเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนั้นมีผู้ใช้ประมาณ 30 ล้านคน จนถึงตอนนี้ อินสตาแกรมเป็นหนึ่งในแอปที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเฟซบุ๊ก
เมื่อเฟซบุ๊กเห็นว่าคนหนุ่มสาวหันไปหาสแนปแชต อินสตาแกรมก็เปลี่ยนจากที่เน้นการเป็นแอปพลิเคชั่นแชร์รูปเป็นเพิ่มฟีเจอร์ภาพเคลื่อนไหวแบบสแนปแชตขึ้นมา จากนั้นอินสตาแกรมก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
การลาออกของผู้ก่อตั้งทั้งสองคนนี้ทำให้เกิดความระส่ำระสายสำหรับคนทำงาน เพราะไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้นำของบริษัท และไม่แน่ว่าพนักงานที่ทำงานอยู่มาตั้งแต่ก่อตั้งจะยังทำงานต่อไปหรือไม่
ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กให้อิสระกับอินสตาแกรมค่อนข้างมาก ซิสตรอมและซัคเคอร์เบิร์กทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด อินสตาแกรมไม่ถูกบังคับให้ต้องมีโฆษณาข้ามแพลตฟอร์มจากเฟซบุ๊ก หรือไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องความเป็นส่วนตัว
แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เควิน เวล (Kevin Weil) รองประธานบริษัทอินสตาแกรมย้ายไปอยู่ทีมบล็อกเชนใหม่ของเฟซบุ๊ก ส่วน อดัม มอซเซรี (Adam Mosseri) รองประธานเฟซบุ๊กนิวส์ฟีด ซึ่งเป็นคนในวงใกล้ชิดกับซัคเคอร์เบิร์กเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นอกจากนี้ยังมีการโยกย้ายคริส แดเนียลส์ (Chris Daniels) หัวหน้า Internet.org ให้ไปทำงานที่ WhatsApp นักวิเคราะห์มองว่าการโยกย้ายนี้เป็นอันตรายต่อการทำงานอย่างเป็นอิสระ
เฟซบุ๊กสูญเสียผู้ก่อตั้งธุรกิจอื่นๆ ที่ตนเองไปซื้อกิจการมาแล้วหลายคน เดือนเมษายน แจน โคอุม (Jan Koum) ผู้ก่อตั้ง WhatsApp ซึ่งเฟซบุ๊กซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2014 ลาออกเพราะกังวลเรื่องจุดยืนของเฟซบุ๊กในการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้
ที่มา:
- https://www.nytimes.com/2018/09/24/technology/instagram-cofounders-resign.html
- https://techcrunch.com/2018/09/24/instagram-founders-leave/
- https://instagram-press.com/blog/2018/09/24/statement-from-kevin-systrom-instagram-co-founder-and-ceo/
ที่มาภาพ: The New York Times
Tags: เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, เควิน ซิสตรอม, Kevin Systrom, ไมค์ ครีเจอร์, Mike Krieger