รู้สึกไหมว่า ช่วงนี้งานหายากเหลือเกิน เด็กจบใหม่ยื่นสมัครงานแล้วสมัครงานอีก บางคนยื่นเป็น 100 ที่ บางคนยื่นเป็น 200 ที่ ก็ยังไม่เข้ารอบเรียกสัมภาษณ์งาน
ขณะเดียวกันเมื่อถึงรอบเรียกสัมภาษณ์ เตรียมพร้อม เตรียมตัว แต่งหน้า ใส่ชุดที่ดีที่สุดไปพูดจาอย่างคล่องแคล่ว แต่หลังจากวันนั้นก็เงียบหาย ไร้คนติดต่อกลับ ทั้งๆ ที่ก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี จากวันนั้นทุกอย่างก็วนลูปใหม่ กลับไปรีเฟรชหาตำแหน่งงานอีกครั้ง อ้าว ที่เดิมรับสมัครอีกแล้ว เขาไม่สนใจเราหรือนี่
อ้าว แล้วเราผิดตรงไหน ทำไมงานถึงไม่แมตช์กับเราเสียที ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี หรือตัวเราไม่ดี อ้าว แต่หลายที่ก็เปิดรับสมัครงาน 10 ตำแหน่ง 20 ตำแหน่งนี่นา แล้วทำไมเราถึงไม่เป็นคนที่ถูกเลือกสักที Work Tips สัปดาห์นี้จะช่วยไขคำตอบให้
1. จ็อบผี
ตำแหน่งงานอาจไม่ได้ว่างจริง เคยได้ยินคำว่า Ghost Jobs ไหม มีหลายที่เปิดตำแหน่งว่าง ทว่าไม่ได้ต้องการหาคนทำงานจริง อ้าว แล้วเปิดไปทำไม คำตอบก็คือ หลายองค์กรตั้งใจเปิดเพื่อให้เห็นว่าองค์กรเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการขยายทีม ขยายแผนก ขยายฝ่ายใหม่ๆ ทว่าคนทำงานจริงๆ แล้วเท่าเดิม ขณะที่อีกหลายที่ตั้งใจเปิดตำแหน่งนี้ไว้เพื่อรอผู้สมัครคุณสมบัติ ‘เทพ’ เข้ามาสมัคร ชนิดที่ว่าได้คนนี้ สามารถทำงานแทนได้อีก 5 คน ขณะที่บางกรณี ตำแหน่งนั้นอาจเปิดรอเพื่อ ‘ล็อก’ ให้ใครบางคนที่คุยกันหลังไมค์มาสมัคร
นอกจากนี้บางครั้งตำแหน่งผีๆ อาจเกิดขึ้นเพื่อ ‘เอาใจ’ พนักงานที่อยู่ข้างใน บทความใน LinkedIn ระบุว่า การเปิดรับตำแหน่งใหม่ การประกาศขยายทีม อาจเป็นการช่วยพนักงานข้างในในเชิงจิตวิทยาว่า เดี๋ยวสักวันจะมีคนมาช่วยคุณ ในขณะที่คุณต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ นอกจากนี้ในบางกรณี การเปิดตำแหน่งใหม่ อาจทำให้พนักงานห่วยๆ ที่มีอยู่เดิมได้รู้สึกกระตือรือร้นขึ้น เพราะหากคุณทำงานได้ไม่ถึงเป้าหมาย สุดท้ายอาจมีคนมาทำแทนคุณ
ฉะนั้นต่อให้คุณสมัครแทบตาย ความจริงที่น่าเศร้าก็คือสุดท้ายเขาก็จะไม่เลือกคุณ
2. HR ต้องเร่งทำยอด
คุณคิดว่า ‘ตัวชี้วัด’ ของบรรดาฝ่ายทรัพยากรบุคคลในแต่ละองค์กรคืออะไร คือหาคนเข้าร่วมทีม เข้าร่วมองค์กร ตามที่ผู้บริหารประกาศใช่หรือไม่ แต่ทำอย่างไรล่ะ ก็บริษัทคุณมันไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น ฉะนั้นเรื่องดาร์กๆ หน่อยก็คือ บรรดา HR ต้องเปิดรับสมัคร ต้องทำยอดหาพนักงานใหม่ บางองค์กรต้องการคนมากๆ HR ต้องทำยอดอย่างกับเป็นเซลส์ ในการหาคนมาสมัครงาน เปิดให้คนสมัครงาน อย่างที่ ‘นาย’ ต้องการ
เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่า ที่เห็นเปิดรับสมัครงานจำนวนมาก และบางครั้งก็เรียกคุณไปสัมภาษณ์ เกิดจากการที่ HR ต้องทำยอดให้ได้ตามตัวชี้วัด ซึ่งในหลายครั้ง สิ่งที่ HR หา บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่องค์กรหรือผู้บริหารต้องการสักเท่าไร เพราะ HR ไม่ใช่คนที่มาทำงานแบบเดียวกับตำแหน่งที่ประกาศหานี่ ถูกไหม? บางที่เขาแค่ทำยอด กับทำ เพื่อให้เห็นว่าทำแล้วเฉยๆ
3. ตัวคุณอาจไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น
สิ่งสำคัญก็คือ ในโลกทุนนิยม การแข่งขันในหลายตำแหน่งงาน หลายองค์กรสูงลิบลิ่ว ในมุมขององค์กร บางตำแหน่งอาจสมัครเข้ามา 50 คน 100 คน หรือมากกว่านั้นก็มี หากเป็นเด็กจบใหม่ ก็ต้องมั่นใจได้ว่า ในห้วงเวลาที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย คุณไม่ได้เพียง ‘เรียน’ อย่างเดียว แต่ทำกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถสะสมงานในพอร์ตฟอลิโอ จนเตะตาองค์กร
ขณะเดียวกันประสบการณ์การฝึกงานที่หลากหลาย ได้ทำงานครอบคลุมทุกด้าน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คุณมีแต้มต่อมากพอที่จะแข่งขันกับคนอื่น
นอกจากนี้ ในสังคมแบบไทยๆ หากคุณ ‘รู้จัก’ คนในอุตสาหกรรม ในแวดวงนั้นๆ กระทั่งมีการแนะนำและบอกต่อ ก็ยิ่งทำให้คุณดูมีภาษีดีกว่าคนอื่นมากขึ้นกว่าคนที่เก็บตัว คนที่ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนรู้จัก หรือเก่งเพียงแต่ในวงแคบๆ
ฉะนั้นสิ่งสำคัญก่อนที่จะถูกเรียกสัมภาษณ์ก็คือ ประสบการณ์ ผลงานที่ผ่านมาของคุณ น่าสนใจเพียงใด หากเป็นเพียงงานในวิชาเรียน ไม่ได้ทำกิจกรรม ไม่เคยคุยกับใครเลย ไม่ได้มีประวัติการฝึกงานที่น่าสนใจ โอกาสในการถูก ‘เรียก’ ก็อาจน้อยกว่าคนที่เตรียมตัวได้ดีกว่า
4. เศรษฐกิจไม่ดี
ข้อสำคัญที่สุดสำหรับเด็กรุ่นนี้ก็คือ คุณอยู่ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะโตต่ำ และหยุดชะงักมาเป็นเวลานานหลายปี และหากเทียบกับประเทศอื่นๆ นับตั้งแต่โควิด-19 เป็นต้นมา เรายังไม่มีเวลาที่ ‘ฟื้นตัว’ จริงๆ
การที่จีดีพีประเทศโตเพียงปีละ 2-3% ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีโอกาสขยายตัวอย่างยากลำบาก ขณะที่ตำแหน่งงานหลายอย่างถูกแช่แข็งไว้ ประเทศไทยไม่สามารถอยู่ในอุตสาหกรรมเทคสมัยใหม่ได้ เราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ล้าหลังและรอวันตาย ท่ามกลางสภาพการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเลยสักนิด
เปรียบเทียบง่ายๆ ประเทศไทยยังคงผลิตฮาร์ดดิสก์ ในขณะที่โลกเป็นฐานของ Data Center อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเราแทบจะอยู่ในช่วง ‘ตั้งไข่’ หากเทียบกับไต้หวันหรือมาเลเซีย อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเรา กลับปั่นป่วนอย่างหนักและตามโลกไม่ทัน เพราะไทยเลือกข้างบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นที่ถูก Disrupt อย่างหนัก ขณะที่ในทางการเมือง เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีสิทธิเลือกเอง ตัดสินใจเอง
สำหรับพวกคุณที่จบใหม่ พวกคุณคือผลผลิตของการเมืองที่ล้มเหลวจากคนรุ่นก่อนหน้า ขณะที่คนที่กำลังเติบโตในสายงานต่างๆ พวกคุณจะมีโอกาสเติบโตเร็วกว่านี้มาก หากอยู่ในห้วงเวลาที่ทุกอย่างดีกว่านี้ เศรษฐกิจเติบโตปีละ 7-8% เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน
ด้วยเหตุและปัจจัยเหล่านี้ ด้วย ‘ความล้มเหลว’ เหล่านี้ เป็นคำตอบสุดท้ายว่าทำไมคุณถึงหางานยากนัก ภายใต้สภาพเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้สภาพการเมืองแบบนี้
ที่มา:
– https://www.linkedin.com/pulse/what-ghost-jobs-how-can-you-avoid-them-wizehire-4yxdc/
– https://themomentum.co/report-kkp-analyze-thailand-exports-2024/
Tags: Work Tips, สัมภาษณ์งาน, หางาน, สมัครงาน