“เช้าแล้ว! รีบลุกไปตักบาตร เดี๋ยวไม่ทันพระ” แต่สะลึมสะลือดูนาฬิกายังไม่ 6 โมงเช้า
หรือ “ตื่นไปช่วยแม่ซื้อกับข้าวหน่อย เดี๋ยวตลาดวาย” รีบลุกอย่างไว แต่ออกจากบ้านมาฟ้ายังไม่สว่างเลย
เช้าวันหยุดยาวอยากนอนตื่นสายให้เต็มอิ่มหลังจากลุยงานมานาน แต่ที่บ้านก็ปลุกตั้งแต่ไก่โห่ให้ไปทำภารกิจของจักรวาล จนหลายคนคงเกิดคำถามว่า ทำไมที่บ้านชอบใช้งานเราในวันหยุดยาว (แม้หลายบ้านจะใช้งานทุกวันหยุดสุดสัปดาห์) แล้วยิ่งในวันสงกรานต์ยิ่งมีภารกิจพิเศษมากมาย ทั้งไปซื้อกับข้าวที่ตลาด ตักบาตรตอนเช้า หรือหลายครอบครัวก็ต้องไปทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัด กลับมาถึงบ้านแล้วแม่ก็มอบหมายภารกิจให้ช่วยทำความสะอาดบ้านต่อ แล้วต้องพบปะกินข้าวกับญาติพี่น้อง หรือกับเพื่อนของพ่อแม่ จนถามตัวเองว่า นี่วันหยุดจริงไหม ทำไมตารางแน่นกว่าวันทำงานเสียอีก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่หยุดสงกรานต์กลับบ้านแต่ละที ภารกิจเยอะจนนึกว่าตัวเองเป็น สส.
เนื่องจากหยุดยาวสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวมักได้หยุดตรงกัน ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา รวมถึงบรรดาญาติพี่น้องคนอื่นด้วย ทำให้พ่อแม่เราจะตื่นเต้นกับวันหยุดสงกรานต์มากจนอยากให้ลูกมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม และอาจลืมคิดไปว่า ลูกเองก็เหนื่อยกับการทำงานหรือการเรียนในวันธรรมดามากจนอยากใช้เวลานี้พักผ่อนให้เต็มที่
เราจึงได้หาขั้นตอนง่ายๆ ในการพูดคุยตกลงกันในครอบครัวที่กิจกรรมแน่น เพื่อไม่ให้มีสมาชิกในครอบครัวคนไหนต้องเหนื่อยใจในวันหยุดยาว
-
ถามความสมัครใจล่วงหน้า
สำหรับพ่อแม่ที่อยากให้ลูกทำทุกภารกิจด้วยกันทั้งวัน ต้องการให้ลูกไปข้างนอกด้วยกันทุกแห่งหน อยากให้พ่อแม่ลองประเมินความสำคัญของกิจกรรมว่า จำเป็นต้องมีลูกไปด้วยไหม ถ้าลูกไปด้วยแล้วลูกจะมีฟังก์ชันอย่างไร เช่น การชวนลูกไปกินข้าวกับเพื่อนของพ่อแม่ หากสังเกตุดูแล้วลูกไม่เคยสนุกกับกิจกรรมนี้หรือแทบไม่มีส่วนร่วมในบทสนทนาเลย ทำได้แค่นั่งเฉยๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง อาจต้องถามความสมัครใจล่วงหน้าก่อนว่า ครั้งนี้ลูกอยากไปด้วยไหม
การถามความสมัครใจล่วงหน้าจะช่วยให้ลูกมีเวลาได้ลองคิดทบทวน พิจารณาแล้วค่อยตัดสินใจ และพ่อแม่เองก็มีสิทธิโน้มน้าวลูกให้เห็นข้อดีของการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในวันหยุดยาวอีกด้วย แต่ทั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ต่อรองในเรื่องของเวลา และในเรื่องอื่นๆ ด้วย
-
ประเมินเวลาและปรับเวลา
เมื่อพ่อแม่มอบหมายภารกิจให้ทำในวันหยุด เชื่อว่าใจจริงลูกไม่ได้อยากปฏิเสธพ่อแม่เสียทีเดียว เพียงแต่ติดตรงที่อยากพักผ่อนมากกว่าออกไปตะลอนข้างนอกบ้าน เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรประเมินเวลาคร่าวๆ ว่า แต่ละกิจกรรมจะเสร็จภายในกี่ชั่วโมง เช่น การไปซื้อของ การไปวัด หรือไปพบปะญาติ เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสวางแพลนสำหรับวันหยุดยาวของตัวเอง ได้แบ่งเวลาไปทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ บ้าง อย่างการนอนดูซีรีส์ หรือออกไปสังสรรค์กับเพื่อนตัวเอง
รวมถึงในบางกิจกรรมอยากให้พ่อแม่ลองปรับเวลาให้สายลงสักหน่อย เพื่อให้ลูกมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น หรือไม่ต้องเร่งรีบให้ลูกตื่นเช้าจนเกินไป เพราะในวันธรรมดาที่ลูกต้องไปเรียนหรือทำงานก็ต้องตื่นเช้าอยู่แล้วทุกวัน เพราะฉะนั้นอย่างน้อยควรปล่อยให้ลูกได้ตื่นสายบ้าง
-
ให้มีวันหยุดพักผ่อนจริงๆ สักวัน
สำหรับบ้านไหนที่มีภารกิจเยอะก็อาจทำให้ตารางกิจกรรมวันหยุดแน่นเป็นพิเศษ แต่ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์เรามีวันหยุดอย่างน้อย 3 วัน ควรให้ลูกได้มีวันหยุดพักผ่อนอย่างแท้จริงสักวัน โดยเฉพาะคนที่เรียนหรือทำงานต่างจังหวัด แล้วต้องใช้เวลาเดินทางกลับบ้านหลายชั่วโมง รวมถึงเดินทางกลับไปทำงานหลังสงกรานต์เป็นช่วงที่รถทุกคันมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ต้องติดอยู่บนถนนนานๆ นั่นก็เท่ากับว่าร่างกายแทบไม่ได้พักผ่อนเลย ดังนั้นในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ หากลูกอยากนอนอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ก็ควรปล่อยไปสักวัน
สุดท้ายนี้การพูดคุยตกลงกันในครอบครัวต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และประนีประนอมซึ่งกันและกัน เพื่อให้บ้านยังคงเป็นเซฟโซนของลูกในวันหยุดยาวทุกเทศกาล
Tags: family, สงกรานต์, Songkran, Family Tips, Long Holiday, วันหยุดยาว