เมื่อเข้าสู่วันตรุษจีน ไม่ว่าคุณจะมีเชื้อสายจีนหรือไม่ ‘อั่งเปา’ ซองสีแดงคงเป็นสิ่งแรกๆ ที่คุณนึกถึงในเทศกาลนี้ และสำหรับเด็กๆ นี่คือวันแสนสุขใจเมื่อได้รับเงินอั่งเปาจำนวนไม่น้อยจากญาติผู้ใหญ่เป็นของขวัญปีใหม่ และคงวาดหวังว่าจะนำเงินไปซื้อสิ่งของที่อยากได้ แต่ต้องฝันสลายทุกปี เมื่อเงินในซองแดงนี้ถูกพ่อแม่ริบไปทุกซอง
และหากลองเสิร์ชเรื่องลูกโดนริบซองอั่งเปาในโซเชียลมีเดีย หรือถามไถ่เพื่อนรอบตัวจะพบว่า มีลูกหลายบ้านประสบชะตากรรมเดียวกัน และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยทีเดียว เพราะในปี 2561 ที่ประเทศจีน เคยมีคดีที่ลูกฟ้องร้องพ่อแม่ข้อหายักยอกเงินอั่งเปา เป็นเงินราว 5.8 หมื่นหยวน (ประมาณ 268,864 บาท) โดยพ่อแม่ไม่ยอมนำเงินอั่งเปาที่ยึดไปมาจ่ายค่าเทอมมหาวิทยาลัยให้ลูก จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล และในที่สุดลูกก็เป็นฝ่ายชนะคดีไป
อย่างไรก็ตามแม้ลูกจะไม่เคยสัมผัสเงินในซองเลย แต่ลูกบางบ้านก็อาจมีมุมมองต่อเงินอั่งเปาต่างกัน จากบทสัมภาษณ์ของ BBC ในปี 2018 เผิงลี (Pengli) ชาวจีนสิงคโปร์ให้ความคิดเห็นว่า “พ่อแม่บอกกับเราว่า การที่ยึดอั่งเปาไปก็เพื่อเอาไปใส่ซองอั่งเปามอบให้คนอื่น สำหรับเรามันเมกเซนส์นะ เพราะนัยสำคัญของมันคือการให้ มากกว่าเรื่องเงิน”
ทั้งนี้สาเหตุที่พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกเก็บอั่งเปาเอาไว้เอง แต่ละครอบครัวคงมีเหตุผลต่างกัน และหากใครยังจำได้ เมื่อปี 2566 มีข่าวของสาวฮ่องกงที่แม่ของเธอเพิ่งมาเฉลยว่า อั่งเปาที่แม่ริบไปเป็นเวลา 20 ปี แม่เพียงแค่เก็บไว้ให้ลูกตลอด โดยแม่ไม่เคยนำออกมาใช้เลย เมื่อเธอแกะซองออกมานับก็พบว่ามันมากถึง 7 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 3 แสนบาท)
ข่าวนี้คงทำให้หลายคนที่โดนริบซองอั่งเปาไปตั้งแต่เด็กมีความหวังขึ้นมาว่า วันหนึ่งพ่อแม่จะคืนซองทั้งหมดให้เราบ้าง แต่ถ้าหากพ่อแม่คนไหนกำลังใช้วิธีการเดียวกับในข่าว เพื่อเก็บเงินแทนลูก โดยไม่อธิบายให้ลูกเข้าใจก่อนว่ายึดเงินไปเพื่ออะไร วิธีนี้คงไม่เวิร์กนัก เพราะอาจสร้างปมในวันตรุษจีนให้ลูกไปอีกหลายปี
สำหรับตรุษจีนปีนี้ คงจะดีไม่น้อยหากพ่อแม่จัดการเงินอั่งเปาของลูกด้วยวิธีใหม่ โดยลองใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกได้รู้จักบริหารและเก็บออมเงินของตนเอง เมื่อได้เงินอั่งเปาในแต่ละปี พ่อแม่ต้องถามลูกก่อนว่า อยากเอาเงินนี้ไปซื้ออะไร จำกัดงบประมาณในการซื้อของของลูก เพื่อแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อน อธิบายลูกว่า ก้อนนี้สำหรับซื้อของที่ลูกอยากได้ และอีกก้อนคือเงินสำหรับเก็บออม ไม่ว่าจะหยอดกระปุกออมสิน หรือเปิดบัญชีธนาคารในชื่อของลูก พร้อมเพิ่มแรงจูงใจในการออมเงินให้ลูกเมื่อออมครบ 1 ปี โดยให้ของขวัญหรือให้เงินเพิ่มเล็กๆ น้อยๆ และสำหรับเด็กที่เริ่มโตแล้ว ควรอธิบายเรื่องดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนจากธนาคาร เพื่อเริ่มต้นกระตุ้นวินัยทางการเงินให้ลูก
แต่บางครอบครัวที่เก็บเงินอั่งเปาของลูก เพื่อใช้เป็นเงินสำรองในการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ค่าชุดนักเรียน รายจ่ายอื่นในครอบครัวที่นอกเหนือจากการศึกษาของลูก หรืออาจมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ ที่ต้องเอาเงินอั่งเปาของลูกมาใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้จุดนี้สอนลูกทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบ และชัดเจนว่าลูกได้รับเงินอั่งเปามาจำนวนเท่าไร แล้วให้พ่อแม่ยืมเงินไปเท่าไร ซึ่งข้อดีของวิธีการนี้จะส่งผลให้เด็กมีทักษะการจัดการเงินที่ดีในระยะยาว แต่พ่อแม่ก็ควรพยายามหาเงินมาคืนลูกด้วย
การสอนลูกออมเงินและบริหารจัดการเงินจากซองอั่งเปา หัวใจหลักอยู่ตรงที่พ่อแม่ต้องคิดว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินส่วนตัวของลูกจริงๆ และลูกมีสิทธิที่จะได้ใช้เงินของขวัญตรุษจีนนี้ไปกับสิ่งที่ลูกต้องการ
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-asia-43151075
Tags: family, Family Tips, Lunar New Year, วันตรุษจีน, อั่งเปา