คุณรู้จักคำว่า อัลเทอร์เนทีฟร็อกจากศิลปินไทยคนไหน
แม้หลายคนจะมีหลากคำตอบ ตามแต่ยุคสมัยที่ตนเริ่มเสาะหาความแตกต่างของดนตรีจากเพลงตลาดในตอนนั้น แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่คงมีชื่อของ ‘อรอรีย์’ อยู่ในใจ ในฐานะวงดนตรีแห่งยุคสมัยที่แตกต่างและน่าจดจำ จนกลายเป็นไอคอนิกที่คนยังพูดถึงจวบจนปัจจุบัน
ในยุคที่เพลงป็อปรุ่งเรือง อรอรีย์ถือกำเนิดในปี 2538 ภายใต้สังกัดค่ายเบเกอรี่มิวสิค และด้วยทิศทางของวงที่ชัดเจน ทั้งในแง่ของดนตรีที่ดิบห่าม รวมถึงตัวฟรอนต์แมนอย่าง อร-อรอรีย์ จุฬารัตน์ ก็เป็นเหมือนหน้าตาของวงการดนตรียุคนั้น ว่าต้องการอะไรที่แตกต่างมาโดยตลอด
แม้จะมีช่วงที่หายไปจากฉากหน้าของวงการดนตรีอยู่บ้าง แต่ในการกลับมาทุกครั้งของอรอรีย์ก็จะยังคงได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น จากทั้งแฟนเพลงหน้าเก่าและหน้าใหม่อยู่เสมอ ซึ่งรวมถึงในคราวนี้ที่มีคิวขึ้นแสดงสดใน Maho Rasop Festival 2024
ในช่วงเวลาที่กำลังเตรียมตัวอย่างขะมักเขม้น The Momentum มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับอรอรีย์ ถึง Bird Sound Studio ว่า การกลับมาครั้งนี้หลังจากช่วงโควิด-19 อรอรีย์มีความเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ของสมาชิก ดนตรี และตัวตน หลังจากอยู่ในวงการดนตรีมาแล้วกว่า 30 ปี
พูดถึงอรอรีย์วันนี้ในฐานะวงรุ่นใหญ่ วันนี้มีวิธีเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังหน้าใหม่อย่างไรบ้าง
พูดกันตรงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคของเราเท่าไรนัก เพราะส่วนใหญ่ก็ทำงานในแบบตามใจตัวเองมาตลอด เรามองงานตัวเองเป็นศิลปะ อะไรที่อยากถ่ายทอด สิ่งไหนที่ทำแล้วมีความสุข เราก็จะทำ ส่วนเรื่องที่มันจะไปถูกใจใคร โดนใจกลุ่มไหน เราไม่ได้สนใจเท่าไรเลย
แต่สิ่งที่น่าแปลกคืออะไรรู้ไหม ทุกครั้งที่เราไปแสดงสดในวันนี้ เรามักจะเห็นแฟนเพลงอายุน้อยลงทุกครั้งเลย เป็นเด็กมหาวิทยาลัยก็มี บางคนถึงขั้นไปสักเป็นชื่อวงเลยนะ เราก็ถามไปว่า ไปรู้จักเรามาจากที่ไหน เขาก็บอกว่าฟังมาจากสตรีมมิงบ้าง รู้จากคนอื่นแนะนำบ้าง
เราว่าเด็กสมัยนี้เขาแสวงหาสิ่งที่เขาอยากฟัง มันไม่ได้เหมือนยุคเราที่รอให้สื่อมาป้อนดนตรีอย่างเดียว
สำหรับเราแค่เห็นแฟนเพลงมาดู ก็ดีใจแล้ว จะเป็นรุ่นไหนไม่สำคัญเลย อย่างน้อยเราได้ถ่ายทอดสิ่งที่อยากเล่า คนฟังเขาเอ็นจอยกับดนตรีของเรา มันก็ทำให้การกลับมาเล่นดนตรีสนุกมากขึ้น
อะไรที่ทำให้ตัดสินใจกลับมาแสดงสดอีกครั้ง
ตอนปี 2007 วง Pru เขาเขียนเพลงโปรด ขึ้นมา ซึ่งเขาระบุเอาไว้เลยว่า ต้องให้เราเป็นคนมาร่วมร้องในเพลงนี้ด้วย ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เราได้กลับมาทำเพลงจริงๆ จังๆ จนหลังจากนั้นก็ซุ่มทำอัลบั้มที่ 3 มาเรื่อยเลย จนกว่าจะได้ปล่อยให้ฟังก็ปี 2017
แล้วพอปี 2020 ก็มาติดโควิด-19 เราก็หยุดเล่นดนตรีอีกครั้ง ทุกอย่างมันหยุดไปหมดเลย ตัวเราเองก็ล้มป่วยด้วย เลยไม่ได้รับงานแสดงหลังจากนั้น คือมันเล่นกีตาร์ไม่ได้เลย นิ้วเราแข็งไปหมด ตอนนั้นก็คิดว่า จะกลับมาเล่นดนตรีไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ
ดังนั้นวันนี้ที่มีโอกาสได้เล่นดนตรีเราเล่นมีความสุข รู้สึกดีมากๆ ที่ได้มาทำสิ่งนี้อีกครั้ง เหมือนอาการป่วยของเรา มันสอนให้รู้ว่า ชีวิตมันไม่มีอะไรแน่นอน เรารักษาตัวดีแค่ไหน สุดท้ายเราก็ป่วยได้
ดังนั้นตอนนี้มีอะไรที่อยากทำ ก็ให้รีบทำซะ
แสดงว่าวันนี้เป้าหมายของการแสดงสดเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
เป้าหมายในการทำเพลงของเราตั้งแต่เด็ก เราไม่ได้อยากเป็นนักดนตรีที่อยากเท่ อยากดัง อยากมีหนุ่มมาห้อมล้อม รวมถึงไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นนักดนตรีด้วยนะ เราเป็นคนชอบทำเพลง ชอบเขียนเพลงมากกว่า เรารู้สึกว่ามันคืองานศิลปะ เป็นการระบายแบบหนึ่งของตัวเรา
ดังนั้นเราจะมีความเป็นเหมือนฤๅษี ชอบอยู่ในถ้ำ ทำในสิ่งของเรา ดังนั้นการขึ้นเวทีไม่ใช่สิ่งที่ถนัดเท่าไร ถ้าสังเกตสมัยก่อน เราแทบไม่พูดบนเวทีเลย ขึ้นไปร้องเพลงจบก็ลงมา แต่เดี๋ยวนี้มีคุยมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังน้อยอยู่นะ (หัวเราะ) เราใช้คำว่า รีแลกซ์ สบายใจมากขึ้นมากกว่า
การที่วงดนตรีมีอายุยาวขนาดนี้ มันมีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่คงเป็นข้อดี เพราะการที่วงตัวเอง ผลงานของตัวเอง อยู่ได้มานานขนาดนี้ ยังมีคงฟังอยู่เรื่อยๆ แสดงว่ามันยังมีอะไรที่พิเศษอยู่
มีอะไรที่ต้องปรับตัวบ้างไหม ในการทำให้วงของคุณเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังในวันนี้
อาจเพราะด้วยความที่อรอรีย์ไม่ใช่วงที่ทำเพลงในกระแส เราคืออัลเทอร์เนทีฟจึงไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำให้ดัง เป็นที่รู้จักในวงกว้างแบบเพลงป็อป เราเลยไม่ค่อยมีแรงกดดันตรงนั้น
อีกอย่างคือเราเชื่อว่ามันยังมีกลุ่มผู้ฟังที่ชอบดนตรีแบบเดียวกับเราอยู่ เลยทำให้ยังมีคนตามฟัง มีเด็กรุ่นใหม่ๆ มาดูเราแสดงสดอยู่เสมอ
หากมีคนถามว่า อรอรีย์เป็นวงดนตรีแบบไหน คุณจะตอบอย่างไร
สมัยก่อนเราจะบอกว่าเป็นอัลเทอร์เนทีฟกรันจ์ (Alternative Grunge) เนื้อแท้เราคือวงร็อก เราชอบทุกอย่างที่เป็นร็อก ชอบเสียง Distortion เยอะๆ
แต่ในวันนี้เราบัญญัติว่า ตัวเองเป็น ‘กรันจ์เกรซ’ มาจาก กรันจ์ ผสมกับชูเกซ (Shoegaze) เพราะอย่างน้อย เบิร์ดที่เป็นสมาชิกวงเรา เขาก็เป็นเจ้าพ่อดนตรีสไตล์ชูเกซผสมกับเท็ดดี้อีกที มีสไตล์ชัดเจนเลยได้ทิศทางของวงประมาณนี้ในปัจจุบัน
สุดท้ายตัวตนก็ยังเป็นร็อกอยู่นั่นแหละ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป มันก็มีความเปลี่ยนแปลงตามมา
อะไรที่ยังคงเป็นสิ่งที่เหมือนสำหรับอรอรีย์ตั้งแต่วันแรก
คำตอบอย่างง่ายที่สุดคือเสียงของเรา รวมถึงสไตล์ในการแต่งเพลง ชุดคอร์ด ที่น่าจะไม่เปลี่ยน สิ่งที่เป็นตัวตนของเรามันก็จะยังคงอยู่ในอรอรีย์เสมอ แต่ในส่วนอื่นๆ ที่มีหลายคนเข้ามาช่วยทำให้เกิดเป็นเพลงในช่วงเวลาต่างๆ ทำให้อาจจะเป็นสไตล์ของดนตรี เสียงของกีตาร์ ที่มันเปลี่ยนไปบ้าง
รู้สึกอย่างไรบ้างที่จะได้ขึ้นแสดงในงาน Maho Rasop Festival 2024
อย่างที่บอกว่าช่วงที่เราไม่ได้เล่นดนตรี ก็แทบไม่ได้อัปเดตแวดวงดนตรีเลย Maho Rasop Festival เราก็ไม่รู้เลยว่าใหญ่ขนาดไหน แต่พอดี แป๋ง (พิมพ์พร เมธชนัน) ที่สนิทกัน เขาเป็นคนชวนให้มาเล่น ซึ่งพอฟังเขาเล่าก็รู้สึกว่า เขาตั้งใจ เขามีแนวทางชัดเจน รวมถึงพอเราฟังเหตุผลของเขาที่เขาเลือกเรา ก็ตัดสินใจตกลง
ซึ่งตอนนี้ก็ตื่นเต้นมากๆ เหมือนเป็นตัวแทนประเทศไทย เหมือนเป็นได้ไปแข่งมหกรรมโอลิมปิก (หัวเราะ)
ตัวคุณเองมีวงที่อยากดูใน Maho Rasop Festival 2024 ไหม
เราอยากดู AIR กับ White lie นะ แล้วก็อยากดูวงน้องๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย อยากไปอัปเดตวงการดนตรี
มีอะไรอยากบอกแฟนคลับบ้างที่จะเตรียมตัวมาฟังในงานครั้งนี้บ้าง
ใครที่ไปงานครั้งนี้ จะเห็นเราเพลงจากอัลบั้มแรก จะมีเพลง Side B ที่เราไม่เคยเล่นเลยเหมือนกัน ดังนั้นใครที่ชื่นชอบวงอรอรีย์แบบดิบๆ อัลเทร์เนทีฟกรันจ์ ชอบอะไรแบบเรโทร (Retro) ก็อยากให้มาเจอกันในงานนี้
Tags: Maho Rasop Festival, อรอรีย์, Ornaree, อรอรีย์ จุฬารัตน์, Maho Rasop Festival 2024, The Frame