มีใครโกหกราคาสิ่งของที่ซื้อมากับคนในครอบครัวบ้าง

เช่น เมื่อถูกแม่ถามว่า ‘ซื้อกระเป๋าใบนี้มาเท่าไร’ คุณกลับตอบว่า ไม่แพง แค่ไม่กี่ร้อยบาทเอง ทั้งที่ราคาจริงอาจสูงกว่านั้นถึง 10 เท่า แล้วหายนะก็บังเกิดเมื่อแม่ไหว้วานให้ซื้อให้อีกใบเพราะเห็นว่ามันสวยดี

การโกหกเรื่องตัวเลข บางคนอาจเป็นราคาข้าวของเครื่องใช้หรือของสะสม และบางคนก็เป็นค่าบัตรคอนเสิร์ต ที่มักกดราคาเท็จให้ต่ำที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อจุดประสงค์หลักคือ หลีกเลี่ยงการโดนบ่น จึงทำให้เหตุการณ์นี้คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายบ้าน และกับทุกวัย ทั้งวัยเรียนที่เก็บเงินจากค่าขนมหรือทำงานพิเศษ วัยทำงานที่หาเงินเองได้แล้ว

ทั้งที่ไม่ได้รบกวนเงินครอบครัว แต่เหตุผลที่เราไม่บอกราคาจริงคืออะไร

อย่างที่เกริ่นไปว่า สาเหตุหลักนั้นเป็นเพราะไม่อยากโดนตำหนิเรื่องการใช้เงิน เพราะการตัดสินใจซื้อของบางอย่างที่เราเองก็คิดว่ามันราคาสูง เช่น บัตรคอนเสิร์ต ทริปไปเที่ยวต่างประเทศ คอร์สอาหารแบบโอมากาเสะ (Omakase) แต่พอชั่งน้ำหนักแล้วคิดว่ามันคุ้มค่า สุดท้ายเราก็ยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสุขส่วนตัว หรือประสบการณ์บางอย่าง โดยกังวลไปเองว่าพ่อแม่คงไม่เห็นด้วย จึงทำให้เราไม่กล้าบอกคนในครอบครัวว่าจ่ายเงินไปเท่าไร

หรือในอีกกรณีหนึ่ง พ่อแม่มักคิดว่าเราชอบซื้อของไร้สาระ ไม่จำเป็นต่อชีวิต หรือมันอาจเป็นของที่ต้องมี แต่พ่อแม่เห็นว่าเรามีมากจนเกินไปแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องซื้ออีกเรื่อยๆ จนดูเหมือนการใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย เช่น ของสะสม เครื่องสำอาง กระเป๋า รองเท้า ทำให้เหล่าลูกๆ จึงต้องโกหกว่า ซื้อมาในราคาถูก เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ รอดพ้นจากการโดนว่ากล่าว

ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่คนไทยที่ลูกต้องรู้สึกผิดเมื่อซื้อของ เพราะในบอร์ดของ The Student Room ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของประเทศอังกฤษ ที่เปิดให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาตั้งกระทู้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น มักมีกระทู้ตั้งคำถามว่า ทำไมพ่อแม่ต้องโกรธเมื่อเราสั่งซื้อของ และดูเหมือนว่า สาเหตุจะเอนเอียงไปในแง่ของพ่อแม่มองว่าลูกใช้เงินฟุ่มเฟือย

สำหรับวัยเรียนที่ยังต้องพึ่งพาเงินของพ่อแม่แทบทั้งหมด คงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะโดนดุด่าหากใช้เงินซื้อสิ่งที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย แต่กับลูกที่เข้าสู่วัยทำงาน เป็นผู้ใหญ่ที่หาเงินได้เอง ทำไมถึงยังโดนติเตียนเรื่องการใช้เงินที่หามาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองอยู่

คำตอบของเรื่องนี้ในมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ เป็นเพราะค่านิยมในการใช้ชีวิตของพ่อแม่กับลูกๆ ต่างกัน พ่อแม่มีทัศนคติว่า ต้องเก็บหอมรอมริบเพื่ออนาคต อดเปรี้ยวไว้กินหวาน แต่คนยุคใหม่ของลิ้มรสหวานในวันนี้เลยดีกว่า จึงใช้เงินซื้อความสุขควบคู่ไปกับการเก็บเงินบ้างแต่ไม่ได้เคร่งครัดเท่าพ่อแม่

ด้วยมุมมองการใช้จ่ายที่แตกต่างกันระหว่างคน 2 รุ่น เว็บไซต์ The Mash-Up American เผยแพร่บทความและตั้งคำถามว่า ‘คุณใช้เงินไปกับอะไรบ้าง (ที่พ่อแม่คุณไม่มีวันจ่าย)’ โดยในบทความมีคำตอบของบุคคลทั่วไปที่หลากหลาย แต่ที่น่าสนใจคือกลับเป็นของใช้ธรรมดา อย่างเช่น เอมี (Amy) ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี เธอตอบว่าเป็นแชมพูและครีมนวดผม ซึ่งในอดีตพ่อแม่ของเธอไม่เคยซื้อเลย หรือคำตอบของ โรเบน ฟาร์ซาด (Roben Farzad) ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวและอิหร่าน เล่าว่าเขาใช้เงินไปกับอาหารเปอร์เซียแสนอร่อย ในจำนวนเงินที่ทำให้แม่ใจสลายได้เลย

ในขณะที่ เคธี เอลเดอร์ (Cathy Elder) ระบุว่า การซื้อหนังสือเป็นสิ่งที่ครอบครัวของเธอมองว่าฟุ่มเฟือย เพราะสามารถยืมมาจากหนังสมุดได้ รวมถึงอินเทอร์เน็ต WiFi และพ่อแม่ไม่ยอมใช้เครื่องทำความร้อนหรือ เครื่องปรับอากาศเพราะอยากประหยัดไฟ จนกระทั่งในวันนี้ที่มีหลานถึงได้ยอมเปิดใช้

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่ามาตรวัดความฟุ่มเฟือยของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน อีกทั้งค่านิยมในการใช้จ่ายไม่เหมือนกัน พ่อแม่อาจมองว่าลูกใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ แม้จะเป็นการใช้จ่ายธรรมดาสามัญอย่างอาหาร หรือค่าไฟก็ตาม

แต่ในกรณีที่เราโกหกราคาสินค้ากับพ่อแม่ เพราะรู้ตัวเองดีว่ากำลังซื้อของราคาแพงเกินตัวอยู่จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตัวเองอีกครั้งว่าการใช้จ่ายนั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ ซึ่งไม่เพียงแค่ลูกๆ แต่รวมถึงสามีภรรยาที่ไม่กล้าบอกราคาจริงด้วย

ท้ายที่สุดหากเป็นไปได้ เหล่าลูกๆ ก็ควรจะบอกราคาจริง และอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องซื้อให้ครอบครัวเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่คนในครอบครัวเข้าใจผิดว่าราคาถูก จนฝากซื้ออีกชิ้น ในราคาที่ต่ำกว่าหลายเท่า

Tags: , , ,