มาถึงวันนี้ ต้องเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี ความสำเร็จกับบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ‘แอปเปิล’ (Apple) ที่เปิดตัวบริการอย่าง ‘แอปเปิลเพย์’ (Apple Pay) ที่มุ่งเน้นให้บริการทางการเงินกับกลุ่มผู้ใช้งานให้สามารถชำระเงิน เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องพกพาบัตรเครดิต (Credit Card)
โดยการใช้งานนั้น ผู้ใช้งานจะต้องลงทะเบียนบัตรเครดิตของธนาคารที่รองรับไว้ในแอปพลิเคชัน Wallet เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในร้านค้า ร้านอาหาร หรือระบบขนส่งมวลชน ผ่านเทคโนโลยีระบบสื่อสารระยะใกล้ (Near Field Communication: NFC)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาของบริการนี้ทำให้พฤติกรรมของผู้ใช้งานเปลี่ยนไปพอสมควร จากสถิติที่ Capital One Shopping รวบรวมไว้ระบุว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา แอปเปิลเพย์มีส่วนแบ่งของวิธีการชำระเงิน เพื่อการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์สูงถึง 14.2% และ 3.5% ตามลำดับ จากวิธีการชำระทุกรูปแบบ
ขณะที่มูลค่าของการทำธุรกรรมผ่านแอปเปิลเพย์ทั่วโลกยังสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดประมาณ 200 ล้านล้านบาท ซึ่งในสหรัฐฯ มีตัวเลขผู้ใช้งานแล้วกว่า 60.2 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 75 ล้านคนภายในสิ้นปี 2030 ขณะที่ตัวเลขของผู้ใช้งานทั่วโลกมีมากถึง 640 ล้านคน โดยการให้บริการดังกล่าวทำเม็ดเงินให้แอปเปิลอยู่ที่ 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 62.7 ล้านบาท
แม้ว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะไม่ได้สร้างรายได้ให้กับพอร์ตของบริษัทมากนัก แต่หากดูที่จำนวนผู้ใช้งานแล้วนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอปเปิลเพย์เป็นบริการที่มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย
จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน บริการดังกล่าวเปิดให้บริการแล้วกว่า 86 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีให้บริการแล้วที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และล่าสุดคือเวียดนาม ที่เปิดให้บริการเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันการให้บริการทางการเงินของแอปเปิลในประเทศไทยยังไม่เปิดให้บริการ แม้ว่าประเทศไทยมีร้านค้าทางการของแอปเปิล (Apple Store) มากถึง 2 สาขา ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (ICONSIAM) และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (centralwOrld) ก็ตามที
The Momentum จึงรวบรวมสาเหตุต่างๆ เพื่อตอบข้อสงสัยที่ว่า อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้แอปเปิลเพย์ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทยเสียที ทั้งที่สยามเมืองยิ้มเป็นหนึ่งในผู้นำของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในโลกยุคปัจจุบัน
คำตอบแรกที่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้คือ ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแรงจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ อย่างบริการ ‘พร้อมเพย์’ (PromtPay) เมื่อปี 2017 ที่ทำให้ประชาชนไทยสามารถทำธุรกรรม ผ่านหมายเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์อย่างง่ายดาย
แบงก์ชาติยังเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี QR Code มาปรับใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชน จึงออกแนวนโยบายการใช้มาตรฐาน Thai QR Code ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบการชำระเงินของร้านค้าขนาดกลางและขนาดย่อย โดยลูกค้าจะใช้แอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์เพื่ออ่าน QR Code ของร้านค้า จากนั้นข้อมูลการชำระเงินจะส่งผ่านระบบ มีการตรวจสอบความถูกต้อง และตัดเงินจากบัญชีของผู้ใช้งานไปยังร้านค้าได้ทันที ซึ่งการทำธุรกรรมลักษณะนี้จะทำให้เกิดการเก็บข้อมูลทางการเงิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อหรือการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดรับกับความต้องการได้
นอกจากนั้นการทำธุรกรรมผ่าน QR Code ของประเทศไทยยังสะดวกสบาย ผู้ประกอบการสามารถเดินทางไปขอที่ธนาคารพาณิชย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แตกต่างจากการใช้งานแอปเปิลเพย์ที่จะต้องมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีอย่าง POS (Point of Sales) รองรับ
นั่นจึงทำให้สถิติการใช้ QR Payment ของประเทศไทยก้าวทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการทำธุรกรรมกว่า 5,700 ล้านครั้ง มีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.92 แสนล้านบาท ในปี 2024
อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายฝ่ายประเมินไว้คือ ‘ค่าธรรมเนียม’ ที่แอปเปิลเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์สูงเกินไป จนทำให้ธนาคารมองว่า ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ก่อนหน้านี้มีการรายงานข่าวลักษณะเช่นนี้ออกมา กับกรณีที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ (United States Department of Justice: DOJ) ออกมากล่าวโทษเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ค่าธรรมเนียมของแอปเปิลที่เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์นั้นสูงเกินไปที่ 15 เบสิสพอยต์ หรือคิดเป็น 0.15% ของการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง แปลว่า ทุกการทำธุรกรรม 100 บาท แอปเปิลจะได้รายได้ 0.15 บาท
กระทรวงยุติธรรมจึงมองว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของแอปเปิลที่สูง กลายเป็นต้นทุนที่สำคัญของธนาคาร จึงบีบให้ธนาคารพาณิชย์ต้องลดการให้บริการสิทธิประโยชน์และฟีเจอร์สำคัญแก่ลูกค้า
นอกจากสาเหตุที่กล่าวมา กฎระเบียบและข้อบังคับของท้องถิ่นต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แอปเปิลไม่เปิดให้บริการเช่นเดียวกัน โดยกฎหมายที่เป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจเข้ามาเปิดให้บริการ มีทั้งกฎหมายการเก็บข้อมูลส่วนตัว รวมถึงกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้า ที่ปัจจุบันแอปเปิลกำลังเผชิญคดีความในประเด็นดังกล่าวอยู่ในภาคพื้นทวีปยุโรป ที่หน่วยกำกับดูแลพบว่า แอปเปิลจำกัดสิทธิการใช้เทคโนโลยี NFC ทำให้คู่แข่งรายอื่นไม่สามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อการทำธุรกรรมบนระบบนิเวศ (Ecosystem) ของแอปเปิลได้
จากปัจจัยที่กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของการลงทุนขนานใหญ่ของระบบการเงินของไทยก็ดี เรื่องของค่าธรรมเนียมก็ดี หรือแม้แต่กฎระเบียบ จึงนับเป็นความท้าทายของแอปเปิล ต่อการเปิดให้บริการทางการเงินในประเทศไทย ที่นับว่าเป็นผู้นำของสังคมไร้เงินสด เพราะปัจจุบันเริ่มมีคู่แข่งเปิดให้บริการทางการเงินในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘ซัมซุงเพย์’ (Samsung Pay) และ ‘กูเกิลเพย์’ (Google Pay)
สุดท้ายเหล่าสาวกของค่ายผลไม้แห่งก็ยังคงต้องรอกันต่อไปว่า บริการนี้จะเปิดให้ใช้ได้ในประเทศไทยเมื่อไร
Tags: GIZMODE, ระบบชำระเงิน, บัตรเครดิต, การเงิน, Apple, เทคโนโลยี, Apple Pay