อันดับแรกต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาก่อนเลยว่า ‘การเดินป่า’ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่เคยมีอยู่ในหัวของผู้เขียนมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ความเจ็บปวดและบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้น และด้วยเหตุผลที่ผู้เขียนเป็นคนประเภทชอบเดินเที่ยวอยู่ในเมืองมากกว่า จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมการเดินป่าถึงไม่ค่อยเหมาะกับผู้เขียนเท่าไร
แต่หากย้อนกลับไปในทริปเยือนสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้บินลัดฟ้าไปยังรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ กับทีม California Milk Advisory Board (CMAB) ที่พาเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และสื่อในภูมิภาคเอเชียไปรัฐนี้ เพื่อเปิดประสบการณ์ลิ้มลองกับผลิตภัณฑ์นม (Daily Products) ของเกษตรกรท้องถิ่น
ทันทีที่เห็นหนึ่งในแผนการเดินทางครั้งนี้ ทำเอาผู้เขียนอึ้งพักใหญ่
“มีเดินป่าอีกแล้วเหรอ”
ผู้เขียนบ่นกับตัวเองในใจ เพราะก่อนหน้าที่จะมาเยือนที่นี่ ผู้เขียนเองก็ได้ไปเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดเพชรบูรณ์ กับทีม The Momentum ในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า
สำหรับหมุดหมายการเดินป่าในครั้งนี้ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากซานฟรานซิสโก (San Francisco) สักเท่าไร ซึ่งคือ Muir Woods National Monument อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสิ่งมีชีวิตที่สูงที่สุดในโลกอย่าง ‘สนเรดวูด’ (Redwood) ที่มีอายุมากกว่า 600 ปีแล้ว
อนุสรณ์สถานแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 554 เอเคอร์ สร้างขึ้นในปี 1908 เพื่อเป้าหมายของการพิทักษ์พื้นที่ป่าและพันธุ์พืชที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ ภายหลังยุคตื่นทอง (Gold Rush) ที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินในเมืองใหญ่ ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมีมากขึ้นตามไปด้วย
ประกอบกับในช่วงปี 1906 ที่รัฐแคลิฟอร์เนียเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของเมืองได้รับความเสียหาย ประชากรกว่า 2 แสนรายกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) ดังนั้นแล้ว ‘ต้นไม้’ จึงกลายเป็นหนึ่งในหนทางของพวกเขาในการสร้างบ้านขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า ด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจก็ดีหรือสาเหตุจากภัยพิบัติเองก็ดี ส่งผลให้การบริโภคไม้ของนครใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในปีเดียวกันนั้นเอง สภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา (The United States Congress) ออกพระราชบัญญัติโบราณวัตถุ (Antiquities Act of 1906) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศ ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการประกาศพื้นที่เขตอนุสรณ์สถานแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ Muir Woods ถูกประกาศเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติลำดับที่ 7 ของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา
เกริ่นกันไปเยิ่นยาวสำหรับที่มาที่ไปของผืนป่าแห่งนี้ ตอนนี้คงถึงเวลาแล้วที่ผู้เขียนจะเดินเข้าไปยังพื้นที่ป่า โดยก่อนจะเริ่มเดินทาง ผู้เขียนก็ขอแวะอ่านป้ายกันสักหน่อย เพื่อดูว่า หากเราเดินเข้าไปแล้วจะพบกับอะไรบ้าง เนื่องจากผู้เขียนเองก็ไม่เคยมายังป่าสนเรดวูดแห่งนี้มาก่อนเหมือนกัน
“ทันทีที่เข้าไปยังป่าสนเรดวูดที่เป็นดั่งบ้านของเจ้าต้นไม้ยักษ์โบราณ ที่หยั่งรากแตะกับลำธารเรดวูด เจ้าไม้ยักษ์ได้แพร่กิ่งก้านปกคลุมหุบผาและยกยอดมงกุฎ (ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะหมายถึงยอดไม้) สู่พระอาทิตย์
“เดินเร่ภายใต้แมกไม้เย็นๆ ประกอบกับเสียงน้ำในลำธารที่ไหลริน หากมองขึ้นไปด้านบนจะพบกับแสงอาทิตย์ที่เล็ดลอดผ่านยอดไม้มาประทับที่บ่าของคุณ หากหยุดมองลงไปที่ลำน้ำ อาจจะพบกับแซลมอนหรือปลาเทราต์ก็เป็นได้”
ข้างต้นคือข้อความชวนสร้างจินตนาการที่ผู้เขียนได้อ่านบนแผ่นป้ายไม้ ที่ทางอุทยานได้ติดตั้งบริเวณจุดขายตั๋ว ก่อนจะเดินหน้าไปยังป่าใหญ่แห่งนี้
ทันทีที่เข้ามา ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้คงหนีไม่พ้นคำว่า ‘เย็น สงบ และเพลิดเพลิน’ ด้วยความที่ป่านี้มีต้นสนเรดวูดเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้บรรยากาศรอบข้างเป็นไปอย่างที่โฆษณาไว้จริงๆ
หากให้อธิบายตามคำจำกัดความที่ผู้เขียนได้ให้ไว้ Muir Woods ในช่วงเดือนที่ผู้เขียนไปเยือนมีอุณหภูมิสบายๆ ราว 15-17 องศาเซลเซียส ด้วยความที่ตลอดแนวเป็นป่าสนทึบ ทำให้แสงแดดสาดส่องมาไม่มากจนเกินไป สมกับชื่อเทรลว่า ‘Canopy View Tree’ ที่ตลอดทางเดินจะปกคลุมไปด้วยยอดไม้ของสนเรดวูด
เท่านั้นยังไม่พอ Muir Woods ยังมีลำน้ำ Redwood Creek ที่ไหลลงมาจากภูเขาตามาลไพส์ (Mount Tamalpais) ไหลตลอดแนวทางเดินทำให้อากาศมีความชื้นเล็กน้อย ประกอบกับเสียงไหลของธารน้ำและนกร้อง ยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้มีความสงบมากขึ้นไปอีก
การเดินป่าครั้งนี้จึงนับว่า ไม่เหนื่อยมากนักในความคิดของผู้เขียน
ถึงอย่างนั้น โชคกลับไม่เข้าข้างผู้เขียนเท่าไร เมื่อในลำน้ำกลับไม่ปรากฏเจ้าปลาแซลมอนหรือปลาเทราต์สักตัวให้ได้เห็น ตามที่ป้ายหน้าอุทยานเขียนไว้
เมื่อเดินเข้าไปลึกขึ้น บรรยากาศรอบข้างก็ยิ่งเงียบสงบ รอบข้างทางเดินปรากฏพืชพันธุ์เล็ก ใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่อย่างสนเรดวูด ด้วยความชื้นที่พอเหมาะพอควร จึงไม่แปลกใจที่จะพบพืชกลุ่มมอสและเฟิร์นขึ้นเรียงรายตลอดการเดินเทรลครั้งนี้
ในครึ่งหลังของเทรล ด้วยบรรยากาศสงบ พร้อมกับกลิ่นไอน้ำ ความชื้น เสียงนกและเศษหินที่โดนรองเท้าเหยียบ ทำให้ผู้เขียนเองรู้สึกถึงความสบายและเพลิดเพลินมาก เสมือนเป็นการเดินทำสมาธิและใช้เวลาอยู่กับตัวเอง
อย่างไรก็ตามในการเดินเที่ยวชมแมกไม้ครั้งนี้ ผู้เขียนมีเวลาไม่มากนักเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะทริปยังมีจุดหมายที่ต้องเดินทางไปต่อ ทำให้สามารถเดินได้ในเพียงไม่กี่เส้นทาง
Muir Woods ยังมีอีกหลายเส้นทางให้ได้สำรวจ ทั้ง Hillside Trails ที่เป็นเส้นทางนำไปสู่ป่าทึบ หรือ Dipsea Trails เป็นเส้นทางเดินเขาที่พาไปสู่วิวทุ่งหญ้าและมหาสมุทรแปซิฟิก ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่อุทยาน
มาจนถึงตอนนี้ แม้ว่าผู้เขียนเองจะยังหาคำตอบที่เหมาะสมของคำถามที่ว่า ‘คนเราเดินป่าเพื่ออะไร’ ให้กับตัวเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยผู้เขียนก็รู้แล้วว่า สิ่งหนึ่งที่การเดินป่าสามารถมอบให้กับเราได้นั่นคือ การได้ใช้เวลากับตัวเอง คิดทบทวนในแต่ละก้าวของการเดิน ชมความสวยงามของแมกไม้ ฟังเสียงน้ำไหลและเสียงนกร้อง ก็พอจะคลายเรื่องในใจไปได้บ้าง
และคงถึงเวลาแล้ว ที่ผู้เขียนจะต้องทบทวนกับความคิดแสนตั้งแง่ของตัวเองว่า การเดินป่ามันไม่ได้แย่ไปเสียทีเดียว
Tags: ท่องเที่ยว, ธรรมชาติ, Out and About, Hiking, เดินป่า, Muir Woods