การฟอกเขียว (Greenwashing) เริ่มเป็นที่รู้จักของโลกตั้งแต่ราวปี 2528 ขณะที่การย้อมรุ้ง (Rainbow Washing) ครั้งแรกๆ ของไทยอาจย้อนไปในกรณีอันเป็นที่จดจำเมื่อปี 2558 หลังสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศ ไอศครีมยี่ห้อหนึ่งพยายามมีส่วนร่วมกับการยอมรับคนเพศหลากหลายอย่างฉับพลัน ด้วยการโพสต์รูปไอศครีมรสถั่วดำพร้อมแคปชันว่า ‘เพื่อน กูรักมึงว่ะ’ ซึ่งผิดฝาผิดตัวด้วยประการทั้งปวง

กรณีข้างต้นดูจะตรงกับที่ วาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร นักกิจกรรมเควียร์เฟมินิสต์ ผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมกว่า 10 ปี และแกนหลักของทีมงานจัด Bangkok Pride กล่าวถึงนิยามของการย้อมรุ้งว่า คือกรณีที่ “บริษัทมีนโยบายที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ แต่สุดท้ายพอช่วงได้เทรนด์ของการตลาด ก็ลุกขึ้นมาโปรโมตการตลาดอย่างน่าอาย”

อย่างไรก็ตาม นิยามข้างต้นอาจไม่เพียงพอในสายตาของผู้คนจำนวนมาก เมื่อทีมงาน Bangkok Pride ตัดสินใจรับสปอนเซอร์จากทุนใหญ่ ซึ่งถูกสังคมวิพากษ์ถึงสถานะทุนผูกขาดและความเชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มาเสมอ ซึ่งกรณีนี้หลายคนมองว่าคือการ ‘ย้อมรุ้ง’ เช่นกัน

การพูดคุยระหว่างวาดดาวกับธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

ในฐานะตัวแทนองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อม ที่ต่อกรกับบรรษัทอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรขนาดใหญ่มาตลอด ธารามองเรื่องนี้ตลอดจนมองการฟอกเขียวที่คู่ขนานไปกับการย้อมรุ้งอย่างไร? ขณะเดียวกันมุมมองของวาดดาวที่รู้ว่า โลกของทุนนิยมกำลังแย่งชิงพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เธอเลือกต่อรองเชิงอำนาจกลับ นับว่าน่าสนใจมากเช่นกัน

The Momentum หวังว่า บทสนทนาระหว่างธารากับวาดดาวครั้งนี้ จะทำหน้าที่เป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ทางความคิดช่วงรุ่งอรุณการย้อมรุ้งของไทย ซึ่งมีความคิดมากมายเกิดขึ้น และต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างหนักหน่วง เพราะหากการต่อสู้เพื่อให้ได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมนับว่ายากแล้ว การตั้งรับกับการย้อมรุ้ง เช่นเดียวกับที่ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต้องตั้งรับความแยบยลของการฟอกเขียว นับว่ายาก ท้าทาย และต้องช่วงชิงการนำหนักหน่วงไม่แพ้กัน