ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่รัสเซียกำลังจะเขี่ยลูกเริ่มเล่น สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับการแข่งขันรายการใหญ่มาโดยตลอดก็คือการทำนายผลการแข่งขัน ซึ่งใครๆ ล้วนอยากมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นเกจิฟุตบอล แฟนบอลทั้งที่เป็นแฟนพันธุ์แท้และแฟนเฉพาะกิจ หรือแม้กระทั่งเจ้าของหมึกพอล รวมถึงคนที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องสักเท่าไรอย่างนักวิเคราะห์ในสถาบันการเงิน
คนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินชื่อกลุ่มสถาบันการเงินโกลด์แมนแซ็คส์ (Goldman Sachs) (สำหรับคนที่ไม่คุ้นนัก โกลด์แมนแซ็คส์คือบรรษัทวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) โดยเฉพาะชื่อเสีย(ง)ของบรรษัทนี้จากวิกฤตซับไพรม์ในช่วง ปี ค.ศ. 2008 แต่ที่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้คือโกลด์แมนแซ็คส์เคยทำนายผลฟุตบอลโลกด้วยเช่นกัน…
ซึ่งแม้ว่าจะผิด แต่ก็ใกล้เคียงมากๆ
Goldman Sachs กับการทำนายผลฟุตบอลโลก
ในปี ค.ศ. 2014 เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิล ทีมวิเคราะห์ของโกลด์แมนแซ็คส์ออกรายงานฉบับหนึ่งซึ่งทำนายผลการแข่งขันโดยใช้แบบจำลองทางสถิติ แบบจำลองนี้ใช้ข้อมูลการจัดอันดับจากผลการแข่งขันที่ผ่านมา ประตูได้-เสีย และตัวแปรอื่นๆ ประกอบกัน ผลจากแบบจำลองพบว่า บราซิลเจ้าภาพจะชนะอาร์เจนตินา 3 ประตูต่อ 1 ในนัดชิงชนะเลิศ และคว้าถ้วยแชมป์โลกไปครอง (แต่ในความเป็นจริง ทีมแซมบ้าแพ้เยอรมนีเละเทะ 1 ประตูต่อ 7 ตกรอบไปตั้งแต่รองชนะเลิศ)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบบจำลองของโกลด์แมนแซ็คส์จะทำนายผลแชมป์โลกผิด แต่ก็แม่นยำพอใช้ เพราะเยอรมนีถูกจัดให้เป็นเต็งสามที่จะคว้าแชมป์ นอกจากนี้ แบบจำลองยังทำนายทีมที่เข้ารอบรองชนะเลิศถูกสามในสี่ทีม และทายทีมที่เข้ารอบแปดทีมสุดท้ายถูกครึ่งหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์ของโกลด์แมนแซ็คส์อาจจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของทีมชาติบราซิล เพราะในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 2010 ก็เคยทำนายว่าบราซิลจะได้แชมป์โลกเช่นเดียวกัน และแม้ว่าจะทำนายผู้ชนะเลิศผิด (บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศ) แต่ผลการคาดการณ์ก็ใกล้เคียงความจริงไม่น้อย เพราะแบบจำลองจัดให้ทีมที่เข้าชิงชนะเลิศทั้งสเปนและเนเธอร์แลนด์เป็นทีมเต็งสองและเต็งสามที่จะคว้าแชมป์ตามลำดับ ขณะที่ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปีนี้นั้น นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ยังคงเชื่อมั่นในฝีเท้าของพลพรรคนักเตะแซมบ้าเช่นเคย โดยคาดว่า บราซิลน่าจะล้างแค้นแชมป์เก่าเยอรมนีได้สำเร็จในนัดชิงชนะเลิศ ส่วนทีมอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายได้ลุ้นถึงรอบตัดเชือก ได้แก่ ฝรั่งเศสและโปรตุเกส ตรงข้ามกับสเปนและอาร์เจนตินาที่จะทำผลงานได้น่าผิดหวังและกระเด็นตกรอบแปดทีมสุดท้าย ขณะที่ซาอุดิอาระเบียจะสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเขี่ยทีมหมีขาวเจ้าภาพตกรอบแรก
PwC กับการทำนายผลฟุตบอลโลก
นอกจากสถาบันการเงินอย่างโกลด์แมนแซ็คส์แล้ว บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับ ‘บิ๊กโฟร์’ อย่าง PricewaterhouseCoopers หรือ PwC ก็เคยร่วมวงทำนายผลฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 2014 ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แบบจำลองที่ PwC นำเสนอนั้นแตกต่างจากแบบจำลองของโกลด์แมนแซ็คส์ เพราะ PwC พยายามค้นหาปัจจัยที่กำหนดผลการแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แทนที่จะคาดการณ์ผู้ชนะโดยตรง สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากจะใช้ปัจจัยด้านฟุตบอล (เช่น ผลการแข่งขันในฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายที่ผ่านๆ มา จำนวนนักฟุตบอลอาชีพ และภูมิภาคที่จัดการแข่งขัน) แล้ว นักวิเคราะห์ของ PwC ยังนำตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ มาประกอบด้วย
ตามรายงานของ PwC นั้น ตัวแปรทางเศรษฐกิจที่นำมาใช้ ได้แก่ จีดีพีต่อหัว และจำนวนประชากร ผลจากแบบจำลองพบว่า จีดีพีต่อหัวนั้นไม่สัมพันธ์กับผลการแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย กล่าวคือ ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าไม่ได้มีผลงานที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ซึ่งต่างจากการแข่งขันโอลิมปิก) ขณะที่จำนวนประชากรมีความสัมพันธ์กับผลการแข่งขัน โดยประเทศที่มีประชากรมากกว่ามักมีผลการแข่งขันที่ดีกว่า ยกเว้นกรณีของสหรัฐอเมริกา (ที่เรียกฟุตบอลว่าซอคเกอร์) และอุรุกวัย (เจ้าของแชมป์โลกสองสมัย)
เมื่อรวมปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว นักวิเคราะห์ของ PwC คาดการณ์คล้ายกับโกลด์แมนแซ็คส์ว่า บราซิลจะเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุด ตามมาด้วยเยอรมนีและอาร์เจนตินา ซึ่งผลการทำนายนี้ใกล้เคียงกับความจริงพอสมควร เพราะทั้งเยอรมนีและอาร์เจนตินาต่างก้าวเท้าเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศที่สนามมาราคานาสำเร็จ นอกจากนี้ PwC ยังทำนายได้ถูกต้องว่า โคลอมเบียและอุรุกวัย (เข้ารอบแปดทีมและ 16 ทีมสุดท้ายตามลำดับ) จะสร้างผลงานได้ดีกว่าอิตาลีและอังกฤษ (ตกรอบแรกทั้งคู่)
UBS กับการทำนายผลฟุตบอลโลก
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเข็ดจากการทายผลผิดหรือขี้เกียจ เพราะในคราวนี้นั้น PwC มิได้ออกรายงานเพื่อทำนายผลฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการ (แม้ว่าจะแอบทายไว้ในรายงานจับกระแสเศรษฐกิจโลกเมื่อปลายปีที่แล้วว่าบราซิลจะคว้าแชมป์โลกครั้งนี้) อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินอีกรายหนึ่งยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำนายผลต่อไป สถาบันการเงินแห่งนี้คือ UBS ซึ่งเป็นกลุ่มวาณิชธนกิจรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วที่บราซิล ในปี ค.ศ. 2014 นักวิเคราะห์ด้านการลงทุนของ UBS ทำนายไว้คล้ายกับโกลด์แมนแซ็คส์ว่าบราซิลจะชนะอาร์เจนตินาในนัดชิงชนะเลิศ (ซึ่งผิดเช่นเดียวกัน) มาในคราวนี้ UBS ยังคงใช้แบบจำลองที่ใช้สำหรับวิเคราะห์ทางเลือกในการลงทุนเพื่อทำนายผลเช่นเคย
หลังจากการประมวลผลในแบบจำลองหนึ่งหมื่นครั้งก็พบว่า ‘หุ้น’ ที่น่าจะมีโอกาสคว้าดาวมาประดับหน้าอกสูงที่สุดคือแชมป์เก่าเยอรมนี (ด้วยโอกาสราว 24%) ตามมาด้วยบราซิล (20%) และสเปน (16%) ขณะที่ม้ามืดที่น่าจับตา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และอาร์เจนตินา ส่วนเจ้าภาพอย่างรัสเซียนั้นน่าจะยุติเส้นทางของตนไว้แค่รอบ 16 ทีมสุดท้ายเท่านั้น
ระหว่าง Goldman Sachs กับ UBS ใครจะทำนายผลได้แม่นกว่ากันนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป
เปเล่ vs สถาบันการเงิน
การทำนายผลโดยใช้แบบจำลองของเหล่านักวิเคราะห์ในสถาบันการเงินอาจจะผิดก็จริง แต่อย่างน้อยก็ยังดูใกล้เคียงกว่าผู้ที่อยู่ในวงการมายาวนานอย่างเปเล่ นักเตะบราซิลเลี่ยนชื่อดังในตำนาน
ในฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านๆ มานั้น การคาดการณ์ของเปเล่นั้นผิดพลาดจนแทบจะกลายเป็นคำสาป เพราะทีมที่อดีตยอดนักเตะชี้เป้าล้วนไปไม่ถึงฝั่งฝัน ตั้งแต่อิตาลีในปี ค.ศ. 1990 (ตกรอบรองชนะเลิศ) โคลอมเบียในปี ค.ศ. 1994 (แพ้รวดตกรอบแรก) สเปนและอังกฤษในปี ค.ศ. 1998 (ตกรอบแรกและรอบ16 ทีมสุดท้ายตามลำดับ) อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส โปรตุเกส และอิตาลี ในปี ค.ศ. 2002 (สามทีมแรกร่วงตกรอบแรก ส่วนขุนพลอัซซูรี่ตกรอบสิบหกทีมสุดท้าย) บราซิล อาร์เจนตินา อังกฤษ และฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 2006 (สามทีมแรกตกรอบแปดทีมสุดท้าย ส่วนทีมตราไก่ดีหน่อยที่หลุดเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ)
ในปี ค.ศ. 2010 เปเล่เลิกเลือกตัวเต็ง แต่คาดการณ์ว่า ไนจีเรียจะสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ (เซอร์ไพรส์กว่าเพราะตกรอบแรก) ส่วนฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2014 ที่บ้านเกิดของตนเองเป็นเจ้าภาพนั้น เปเล่มองว่าบราซิลและอังกฤษมีโอกาสพอๆ กัน (ทีมแซมบ้าโดนทีมอินทรีเหล็กไล่อัดตกรอบรองชนะเลิศ ส่วนทีมสิงโตคำรามตกรอบแรก)
นิทานเรื่องนี้ไม่ได้สอนอะไร เพราะเราต่างรู้ดีว่า ‘ฟุตบอลลูกกลมๆ’ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตำนานนักเตะชื่อดังหรือสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ก็ทำนายผิดบ้างถูกบ้างด้วยกันทั้งนั้น
และถ้าจะนับกันจริงๆ แล้วล่ะก็ หมึกพอลทำนายแม่นกว่าเยอะ.
Tags: fifa, Goldman Sachs, ฟุตบอลโลก, world cup, UBS, PwC, หมึกพอล