Shinchiku iwai de ari kanpai
Nyuugaku iwai de ari kanpai
Sotsugyou iwai de ari kanpai
Niibichi sabitan ari kanpai
Ojii to issho ni ari kanpai
“ผมเคยฟังเพลงวงนี้” เพื่อนร่วมโต๊ะพูดพร้อมกับชี้ไปยังโปสเตอร์เพลงวง BEGIN วงดนตรีจากเกาะโอกินาวา หลังการสิ้นเสียงบอกเล่า โอกาตะ ผู้จัดการร้าน Okinawa Resturant Kinjo หรือโอกินาวา คินโจ ก็ผันตัวเป็นดีเจชั่วคราวเปิดเพลง Oji Jiman No Orion Beer จากวง BEGIN
Shinchiku iwai de ari kanpai!!
Nyuugaku iwai de ari kanpai!!
Sotsugyou iwai de ari kanpai!!
เพลงที่ฟังจบแต่ไม่รู้เนื้อหา ที่ลงท้ายประโยคด้วยคำว่า Kanpai หรือคัมปาย มีความหมายว่าชนแก้ว หรือดื่มให้หมด แม้จะแปลเนื้อเพลงไม่ออก แต่เมื่อบทเพลงดำเนินมาถึงคำร้องที่ว่า ไม่ใครสักคนต้องตะโกนคำว่า “คัมปายยย” สลับกับกิริยายกหมดแก้ว
นี่คือบรรยากาศการกิน-ดื่ม ที่ร้านโอกินาวา คินโจ ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ชวนทุกคนมากินอาหารตำรับโอกินาวา เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2006 และแน่นอนว่าวัตถุดิบหลายอย่างนำเข้าจากหมู่เกาะทะเลครามทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเช่นกัน
โอกินาวา คินโจ เป็นร้านขนาดไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เปิดให้บริการ 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นโต๊ะกินข้าวจัดเข้าชุด ประดับประดาด้วยแผ่นกระดาษสีเหลืองตามกำแพง โอกาตะเล่าว่า ป้ายสีเหลืองที่เห็นอยู่เป็นเมนูและราคาตามแบบฉบับร้านท้องถิ่นโอกินาวา ติดสลับกับโปสเตอร์ศิลปินในท้องที่
อาหาร เครื่องดื่ม บรรยากาศ ถูกคลอเคล้าด้วยเสียงเครื่องดนตรีเอกลักษณ์ประจำเกาะอย่าง ‘ซันซิน’ (三線 Sanshin) ส่วนชั้นสองของร้านออกแบบเป็นโต๊ะและที่นั่งบนเสื่อ
เมนูแรก ที่ผู้จัดการร้านอาหารตำรับโอกินา แนะนำคือ โกยะจำปรุรุ หรือมะระผัดไข่โอกินาวา
นับเป็นซิกเนเจอร์ของทางร้าน โอกาตะอธิบายต่อว่า โอกินาวาเป็นเกาะที่มีคนอายุยืน โดยสมัยโบราณ คนโอกินาวาเชื่อว่าความขมของมะระจะช่วยทำให้เลือดสะอาด ช่วยเรื่องความดันเลือด และเมนูที่มีชื่อเสียงที่สุดในโอกินาวาคือ โกยะจำปรุรุ จึงตั้งใจนำเมนูดังกล่าวมาทำให้คนไทยกิน เพราะอยากให้คนไทยมีอายุยืนยาวแบบคนโอกินาวา เพราะมะระเป็นผักที่มีประโยชน์และมีวิตามินซีสูง
หลายคนอาจไม่ชอบมะระ ไม่ถูกปาก และไม่ปลื้มรสขม แต่ขอแนะนำให้คุณลองเปิดใจกิน ‘โกยะจำปรุรุ’ ของร้านก่อน แล้วภาพจำมะระเดิมๆ อาจเปลี่ยนไปก็ได้
เมนูต่อมาคือ จีมามิโทฟู-เต้าหู้ถั่วลิสง
เป็นจานที่เรียกความสดชื่นได้เป็นอย่างดี สัมผัสที่ละเอียดนุ่มของเต้าหู้ มาพร้อมกับความสดชื่นที่ตัดสลับกับวาซาบิทำให้รสชาติลงตัวเป็นอย่างมาก
จานต่อมาคือ สุกุการัส โทฟู หรือเต้าหู้หน้าปลาเค็ม
เราเลือกสั่งจานนี้เพราะหน้าตาน่ารัก ประกอบกับอยากกินเต้าหู้หลายๆ แบบ กินคำแรกเรียกความสดชื่น รสชาติของปลาดองที่นำเข้าจากโอกินาวา มีรสชาติเค็มๆ ตัดกับรสจืดของโทฟูได้อย่างลงตัว
ราฟูเต้-หมูตุ๋นแบบโอกินาวา
โอกาตะเล่าว่า มักมีคำพูดประจำคนโอกินาวา “หมูสามารถกินได้ทั้งหมด นอกเสียจากคนที่กินหมูไม่ได้” เพราะคนโอกินาวาชอบกินเนื้อหมูมาก พร้อมกับขยายความว่า เดิมเมนูนี้มีเพียงราชวงศ์เท่านั้นที่สามารถกินได้ แต่ภายหลังแพร่หลายกลายเป็นอาหารประจำบ้าน
หากมองด้วยสายตา หลายคนอาจรู้สึกถึงความเลี่ยน แต่เมื่อลองกินแล้วกลับไม่มีความเลี่ยนหลงเหลืออยู่ เพราะทางร้านมีกรรมวิธีการเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ อย่างต่อเนื่องนาน 1 คืน จึงทำให้ความเลี่ยนในไขมันหมดไป และส่งผลให้เนื้อหมูมีความนิ่ม ไร้ความเหนียว
เมนูปิดท้ายคือ โอกินาวาโซบะ
อีกหนึ่งเมนูยอดฮิต ประจำร้านอิซากายะฉบับโอกินาวา โอกาตะอธิบายว่า มีธรรมเนียมนิยมต้องกินโอกินาวาโซบะเป็นการปิดท้ายมื้ออาหาร เพื่อล้างปาก และลิ้มรสชาติความกลมกล่อม ความพิเศษของจานนี้คือน้ำซุปทำมาจากการต้มซีอิ๊ว ฮือก้วย ต้นหอม ขิงแดง และหมูสามชั้น ทำให้รสชาติออกมาอร่อยกลมกล่อมเป็นอย่างมาก ข้อแนะนำคือต้องกินตอนซุปยังร้อนจะอร่อยที่สุด
โอกินาวา คินโจ ยังมีเมนูต้นตำรับท้องถิ่นอีกมากมาย หากใครสนใจสามารถเดินทางไปลองเมนูหลากหลายได้ นอกจากนี้ ร้านยังมีเมนูเห็ดและกระเจี๊ยบที่เราตั้งใจไปกิน แต่น่าเสียดายที่วันนั้นของหมด ซึ่งเมนูที่ทำจากกระเจี๊ยบและเห็ด เป็นวัตถุดิบที่รับมาจากค่ายลี้ภัยเมียนมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยทางร้านหวังว่ารายได้ในส่วนนี้จะช่วยชีวิตผู้อพยพในค่ายได้
โอกาตะเล่าถึงจุดเริ่มต้นการนำวัตถุดิบจากแม่สอดมาประกอบอาหารว่า ปกติแล้วทางร้านมีพนักงานเมียนมาจำนวนมาก ซึ่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา นับเป็นวิกฤตของร้านอาหาร และพนักงานเหล่านี้ไม่เคยทิ้งร้านไปไหน คอยช่วยเหลือทางร้านเสมอมา นี่จึงเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทางร้านพอจะทำได้
Fact Box
หากใครอยากลองกินอาหารโอกินาวา พร้อมกับอุดหนุนวัตถุดิบจากผู้ลี้ภัยเมียนมาก็สามารถเดินทางมาที่ร้าน โอกินาว่า คินโจ ตั้งอยู่ที่ สุขุมวิท 69 ใกล้ BTS พระโขนง เปิดทุกวัน เวลา 11:30-14:30 น. และ 17:00-23:00 น.