ทรัมป์ประกาศเลือกสิงคโปร์เป็นที่พูดคุยกับคิมได้แค่สัปดาห์เดียว เกาหลีเหนือก็ขู่ยกเลิกนัดเสียแล้ว  ในมุมของเปียงยาง สหรัฐอเมริกาเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว จนตอนนี้ยังไม่เสนอข้อแลกเปลี่ยนที่สมน้ำสมเนื้อสำหรับการปลดอาวุธนิวเคลียร์

สัญญาณในทางบวกเกิดสะดุดกึกในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเกาหลีเหนือ ‘ขู่’ ที่จะล้มแผนนัดพบระหว่างผู้นำสูงสุด คิมจองอึน กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกับยกเลิกนัดหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกับเกาหลีใต้เมื่อ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา

บรรยากาศสมานไมตรีระหว่างสองเกาหลีเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ดูเปี่ยมความหวัง กระทั่งคิมกับมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ร่วมกันออกปฏิญญาปันมุนจอม แสดงเจตจำนงว่า ปรารถนาให้คาบสมุทรเกาหลีมีสันติภาพถาวร ปลอดอาวุธนิวเคลียร์

เจตจำนงที่ว่านี้จะปรากฏเป็นจริงได้ก็แต่โดยความเห็นพ้องระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับผู้นำสหรัฐฯ บวกกับความเห็นดีเห็นงามจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ความยินยอมพร้อมใจย่อมไม่อาจเกิดขึ้นเองได้ลอยๆ

แต่ละฝ่ายต้องยอมถอย ต้องยอมแลก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุจุดสมประโยชน์ แล้วสรุปเป็น ‘ข้อตกลง’ สำหรับการผูกพันในพันธะต่างๆ ที่มีต่อกัน

ถ้าคิมยกเลิกนัดหมายกับทรัมป์ตามคำขู่ ดีลระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ที่โลกตั้งความหวังกันไว้ ก็จะแท้งก่อนคลอด

ทำไมเกาหลีเหนือขู่ล้มโต๊ะเจรจา แยกอธิบายได้เป็นสองข้อใหญ่ ข้อแรก ความน่าสนใจของการพบปะพูดจา ข้อสอง ความน่าไว้วางใจของการทำตามข้อตกลง

สำหรับข้อแรก อุปมาง่ายๆ ว่า ผู้ซื้อ คือ สหรัฐอเมริกา ยังเสนอราคาที่ต่ำเกินกว่าจุดที่ผู้ขายรับได้อย่างสุดกู่ ในเงื่อนไขแบบนี้ วิธีที่ผู้ขายจะเรียกราคาเพิ่มก็คือ หันหลังหนีผู้ซื้อ จนกว่าจะได้ราคาเสนอซื้อใหม่ ที่น่าสนใจมากพอจะขึ้นโต๊ะโอภาปราศรัยกัน

ส่วนข้อสอง ประวัติของผู้ซื้อจากกรณีนิวเคลียร์ของลิเบียกับอิหร่าน สร้างความคลางแคลงแก่ผู้ขาย เกาหลีเหนือยังไม่เชื่อใจว่า ถ้าปลดอาวุธนิวเคลียร์แล้ว สหรัฐฯจะไม่บดขยี้คิมจองอึนเช่นเดียวกับชะตากรรมของกัดดาฟี หรือบอกเลิกข้อตกลงแต่ฝ่ายเดียวเหมือนกรณีดีลอิหร่าน

 

‘ทรัมป์’ เสนอราคาใหม่

เมื่อวันพุธที่ 16 พฤษภาคม เกาหลีเหนือขู่ที่จะล้มเลิกกำหนดนัดหมายระหว่างทรัมป์กับคิมที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายน โดยหยิบยกการซ้อมรบร่วมทางอากาศของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ เป็นข้ออ้าง

รัฐบาลเปียงยางบอกว่า  การซ้อมรบตามวงรอบ ในชื่อรหัส ‘แม็กซ์ ธันเดอร์’ ถือเป็นการยั่วยุ มุ่งร้ายต่อเกาหลีเหนือ และท้าทายต่อปฏิญญาปันมุนจอม ซึ่งสองเกาหลีประกาศไว้เมื่อวันที่ 27 เมษายน

ถ้อยแถลงระบุว่า “สหรัฐฯต้องคิดให้รอบคอบเกี่ยวกับชะตากรรมของกำหนดนัดพบระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับผู้นำสหรัฐฯ”

เกาหลีเหนือดูมีท่าทีไม่พอใจ จนถึงขณะนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ เอาแต่เรียกร้องให้รัฐบาลเปียงยางปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่เสนอข้อแลกเปลี่ยน

“ถ้าสหรัฐฯพยายามต้อนเราให้จนมุม เพื่อกดดันให้เราละทิ้งนิวเคลียร์แต่ฝ่ายเดียว เราก็หมดความสนใจที่จะพูดคุยด้วย” รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศคนที่หนึ่ง คิมแคกวาน ระบุในแถลงการณ์ “เมื่อเป็นเช่นนี้ เปียงยางจำเป็นต้องทบทวนการเข้าร่วมการพบหารือระดับผู้นำที่สิงคโปร์ในเดือนหน้า”

สหรัฐฯ เองส่อแววว่า พอเข้าใจในความคับข้องของเกาหลีเหนือ วันต่อมา ทรัมป์ดูจะพยายามกล่อมให้คิมขึ้นโต๊ะเจรจา ด้วยการรับปากว่า ถ้าทำข้อตกลงกัน ขอรับประกันความปลอดภัยของคิมจองอึน

ผู้นำทำเนียบขาวบอกว่า ตามข้อตกลงที่จะลงนามกันนั้น คิมจะ “ได้รับการคุ้มกันอย่างแข็งขัน” และบอกว่า “เขาจะอยู่ในอำนาจได้ต่อไป ปกครองประเทศได้ต่อไป”

แถมบอกด้วยว่า “ประเทศของเขาจะร่ำรวยมาก”

ฟังดูแล้ว ทรัมป์ยังตอบสนองความต้องการของเปียงยางในมิติที่แคบ นัยของข้อเสนอใหม่นี้ครอบคลุมแค่เรื่องตัวผู้นำกับการยกเลิกมาตรการการคว่ำบาตร ที่จะนำไปสู่การเปิดรับการค้าการลงทุนระหว่างกัน และการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ

ท่าทีงอนง้อที่ว่านี้จะดึงดูดใจให้คิมหันกลับมาพูดจากับทรัมป์หรือเปล่า ยังน่าสงสัย เพราะยังห่างไกลจาก ‘ราคาขั้นต่ำ’ ที่เกาหลีเหนืออยากได้

อย่างที่เคยบอก ข้อแลกเปลี่ยนที่เปียงยางต้องการ คือ หลักประกันความมั่นคง ซึ่งมีความหมายกว้าง แต่รูปธรรมหลักๆ ก็คือ สหรัฐฯ ต้องถอนทหารออกจากเกาหลีใต้ และยกเลิกนโยบาย ‘ร่มนิวเคลียร์’ ที่อเมริกาปกป้องคุ้มครองเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ของฝ่ายสหรัฐฯ นี่เอง คือ เหตุปัจจัยที่ทำให้เกาหลีเหนือเลือกเส้นทางระเบิดร้ายแรงและขีปนาวุธ ฉะนั้น ถ้าจะให้เกาหลีเหนือโยนทิ้งเครื่องมือสร้างดุลอำนาจ อเมริกาก็ต้องกำจัดเหตุปัจจัยนี้

แน่นอนว่า การกำจัดเหตุปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อสงครามเกาหลียังไม่ยุติโดยนิตินัย เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นได้รับการปกป้องด้วยร่มนิวเคลียร์เสมอมา อีกทั้งร่มนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ยังใช้ปรามจีนด้วยในเวลาเดียวกัน เกิดเป็นโครงสร้างดุลอำนาจที่คานกันไปมาในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

คำถามใหญ่จึงมีอยู่ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตร คือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น พร้อมยกเลิกร่มนิวเคลียร์แลกกับการปลดอาวุธทำลายล้างสูง (nuclear disarmament) ของเกาหลีเหนือไหม

ในจุดยืนของเกาหลีเหนือ ถ้าฝ่ายของอเมริกาตอบตกลงในคำถามใหญ่ข้อนี้ นั่นจึงค่อยมาว่ากันถึงความหมายของคำว่า เพิกถอนอาวุธนิวเคลียร์ (denuclearization)

เพิกถอนนิวเคลียร์ มีนิยามในเชิงสัมพัทธ์ หมายความว่า ลดกำลังรบอย่างสมดุลทั้งสองฝ่าย  เป็นการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่า แต่ละฝ่ายต้องถอยอย่างสมน้ำสมเนื้อกัน ไม่ใช่เรียกร้องให้เกาหลีเหนือถอยสิบเก้า อเมริกาถอยแค่ห้าก้าว ร่มนิวเคลียร์ก็กางไม่ยอมหุบ ฐานทัพอเมริกันในเกาหลีใต้ก็ไม่ยอมถอน ซ้อมรบร่วมก็ไม่ยอมเลิก แบบนั้นย่อมไม่ใช่หลักประกันความมั่นคง

อยากได้ของมูลค่า 100 บาท ยินดีจ่ายราคาแค่ 10 บาท แถมขู่สำทับว่า ถ้าไม่ยอมขาย ประเดี๋ยวจะเจอ ‘ลิเบีย โมเดล’ แบบนั้นคนแถวเปียงยางเขาเรียกว่า เอาแต่ได้

‘ลิเบีย โมเดล’

ในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัส ทรัมป์ยังให้คำมั่นด้วยว่า ถ้าเปียงยางตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ อเมริกาจะไม่ถล่มเกาหลีเหนือ เหมือนที่ทำกับลิเบีย

สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ บรรดาประเทศที่เป็นปรปักษ์กับอเมริกาจึงพัฒนาขีดความสามารถด้านปรมาณูเพื่อถ่วงดุลกับคู่ปรับ

อิรัก อิหร่าน ลิเบีย เกาหลีเหนือ ล้วนเดินหมากในเส้นทางนี้ มีความคืบหน้ามากบ้างน้อยบ้าง และต่างได้รับการตอบสนองด้วย ‘แครอท’ และ ‘ไม้เรียว’ ทั้งเพื่อจูงใจและเพื่อกดดัน ด้วยความมุ่งหวังให้คู่ขัดแย้งทั้งหลายยอมล้มเลิกอาวุธทำลายล้างสูง

ลิเบียทำข้อตกลงเมื่อปี 2003 แต่พอถึงปี 2011 เกิดกระแส ‘อาหรับสปริง’ ชาวลิเบียลุกฮือต่อต้านมุอัมมาร์ กัดดาฟี ซึ่งปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1969 สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตรุมถล่มกำลังทางทหารของลิเบีย จนกัดดาฟีถูกโค่นอำนาจและถูกสังหาร

ในอาการงอนง้ออีกข้อหนึ่ง ทรัมป์บอกว่า ข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะไม่เหมือนกับของลิเบีย

“ตัวแบบของลิเบียผิดกันไกลมาก เราทำลายล้างประเทศนั้น”  ผู้นำสหรัฐฯ พูดคล้ายจะน่ารับฟัง

แต่ทรัมป์สำทับตามมาด้วยว่า ลิเบีย โมเดล คงต้องเกิดขึ้นแน่นอน หากเกาหลีเหนือไม่ยอมทำข้อตกลง

ถ้าเปรียบคิมจองอึนเป็นผู้ขาย เมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้ว คนขายจะอยากขายไหม

ลิเบีย โมเดล เป็นอย่างไร เล่าสั้นๆ ได้ว่า เมื่อสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช  รัฐบาลลิเบียยอมส่งมอบอุปกรณ์สร้างระเบิดนิวเคลียร์ที่รับซื้อจากหัวหน้าโครงการนิวเคลียร์ของปากีสถาน อับดุล กาเดร์ ข่าน ให้แก่สหรัฐฯ หลังจากซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก ถูกโค่นล้มในสงครามที่นำโดยอเมริกา

สมัยรัฐบาลบารัค โอบามา วอชิงตันสนับสนุนกองกำลังนาโตในปฏิบัติการทิ้งระเบิด ที่อ้างว่าเป็นการป้องกันไม่ให้กัดดาฟีสังหารหมู่พลเรือน ทำให้กัดดาฟีต้องหนีหัวซุกหัวซุน ฝ่ายกบฏไปเจอตัวเขาแอบซ่อนในท่อระบายน้ำแล้วฆ่าทิ้งแม้เจ้าตัวร้องขอชีวิต นาทีสังหารมีคลิปวีดีโอเป็นหลักฐาน

กรณีลิเบียเป็นภาพคาใจสำหรับเกาหลีเหนืออย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อปี 2016 หลังทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ สื่อของรัฐพูดพาดพิงถึงลิเบียกับอิรักว่า “ระบอบของซัดดัม ฮุนเซนในอิรักและระบอบของกัดดาฟีในลิเบีย ไม่สามารถหลีกหนีชะตากรรมของการทำลายล้างได้ เมื่อล้มเลิกโครงการพัฒนานิวเคลียร์”

ในถ้อยแถลงขู่ล้มโต๊ะเจรจา เปียงยางยังพาดพิงถึงมือวางแผนเบื้องหลังลิเบียโมเดล ซึ่งกลับมานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงประจำทำเนียบขาว จอห์น โบลตัน ด้วย

โบลตัน นักวางแผนสายเหยี่ยว พูดหลายครั้งว่า ข้อตกลงยุตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือจะเดินตามตัวแบบของลิเบีย

รัฐมนตรีช่วยฯต่างประเทศของเกาหลีเหนือ คิมแคกวาน บอกเมื่อวันพุธ ตำหนิคำพูดของโบลตันว่า “ไร้สาระ”

“โลกรู้ดีว่า ประเทศของเราไม่ใช่ลิเบียหรืออิรักซึ่งต้องพบกับชะตากรรมอันน่าเศร้า” ผู้แทนเปียงยางพูดเป็นนัยถึงสองผู้นำที่ถูกปลิดชีพ

ทรัมป์ดูจะเข้าใจถึงความอ่อนไหวของการเอาลิเบียโมเดลมาเทียบเคียงกับดีลเกาหลีเหนือ เขาพูดชัดเจนเมื่อวันพฤหัสบดีว่า วอชิงตันไม่ได้ต้องการผลลัพธ์แบบลิเบีย

คอยดูกันต่อไปว่า เมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้ว คิมจองอึนจะสนใจกลับขึ้นโต๊ะเจรจาหรือเปล่า และก่อนหน้าเจรจา ต่างฝ่ายต่างจะงัดลูกเล่นอะไรขึ้นมาสร้างมูลค่าต่อรองอีกบ้าง

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , ,