เกียรติภูมิของสิงคโปร์บนเวทีโลกยกระดับขึ้นอีกขั้น เมื่อผู้นำมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่พูดจากับผู้นำของประเทศที่จ่อสถานะชาตินิวเคลียร์อย่างเกาหลีเหนือ
สิงคโปร์มีนักการทูตเก่งกาจ พูดอ่านเขียนได้หลายภาษา เป็นนักเจรจาพาทีตัวกลั่น หนังสือเดินทางของสิงคโปร์ทรงพลังที่สุด ถือเข้าประเทศอื่นได้เลยไม่ต้องขอวีซา หรือขอเมื่อไปถึงปลายทาง ได้มากกว่าพาสปอร์ตของชาติไหนๆ ในโลก
การสร้างชาติของสิงคโปร์ พัฒนาจากหมู่บ้านประมงเขละขละคละคลุ้งสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ผู้นำประเทศกินเงินเดือนสูงที่สุดในปฐพี กลายเป็นตำนานเล่าขาน ตั้งแต่ในร้านกาแฟของคนเชื้อสายจีนจนถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำ
เมื่อปลายสัปดาห์ โลกหันไฟสปอตไลท์ฉายส่องสิงคโปร์ เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่นัดพบกับผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ คิมจองอึน โดยล็อคเอาวันที่ 12 มิถุนายน 2018 เป็นวันกำหนดพูดจาหารือ
ผู้นำอเมริกันไม่ได้แจกแจงเหตุผลที่เลือกสิงคโปร์ ประเทศเกาะที่มีพลเมือง 5.6 ล้านคน แต่นักสังเกตการณ์บอกว่า นั่นเป็นเพราะสิงคโปร์มีความพร้อมหลายด้าน ซึ่งเป็นศักยภาพเฉพาะตัว นอกจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งอันเหมาะสม
ทีวีจากช่องเกาหลี ออกอากาศในโคเรียทาวน์ ที่ลอสแองเจลิส กำลังเผยแพร่ข่าวการเตรียมพบปะกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ
(ภาพถ่ายเมื่อ 27 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Lucy Nicholson)
ไม่ไกลเกินไปสำหรับคิม
เรื่องตำแหน่งที่ตั้งน่าจะเป็นข้อพิจารณาแรกสุด ว่ากันว่าผู้นำเกาหลีเหนือตั้งแต่รุ่นปู่ถึงคนปัจจุบัน ไม่ชอบไปไหนไกลบ้าน กลัวเกิดรัฐประหารในประเทศ กลัวถูกลอบสังหาร
นักวิเคราะห์บางรายบอกว่า เกาหลีเหนือไม่มีเครื่องบินที่บินไกลถึงสวิตเซอร์แลนด์หรืออเมริกา หรือถ้าบินไปถึงก็คงต้องแวะเติมน้ำมันให้เสียราศีผู้นำประเทศนิวเคลียร์ อันนี้จริงเท็จอย่างไรไม่รู้ได้
สิงคโปร์อยู่ห่างจากกรุงเปียงยางประมาณ 5,000 กิโลเมตร แม้โซลหรือโตเกียวมีระยะทางสั้นกว่า แต่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นติดภาพเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ขณะที่ปักกิ่งมีภาพเป็นลูกพี่ของเกาหลีเหนือ
ถ้ามองหาที่นั่งคุยปลอดพ้นกลิ่นอายของฝักฝ่าย มีแต่คู่เจรจาสองต่อสอง ระหว่างผู้นำของประเทศที่กำลังแสวงจุดสมดุลแห่งผลประโยชน์ของกันและกัน ต้องเลือกเจ้าภาพที่ทั้งสองฝ่ายวางใจในความไม่ถือหางข้างใดข้างหนึ่ง
บรรยากาศเป็นกลาง
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่สิบประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ
ว่าตามจริง สิงคโปร์คบหาใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มานาน ทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับอเมริกาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทุกวันนี้ เรือและเครื่องบินของกองทัพอเมริกันยังเข้าเทียบท่าเป็นประจำ
เมื่อปี 2012 รัฐบาลของ บารัค โอบามา ยังยกสถานะสิงคโปร์ให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย ก่อนที่ประเทศทั้งสองจะลงนามข้อตกลงเสริมในด้านความมั่นคงอีกฉบับในอีกสามปีต่อมา
อย่างก็ดี สิงคโปร์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเปียงยางตั้งแต่ปี 1975 (เช่นเดียวกับไทย) มีการแลกเปลี่ยนกันในหลายมิติ เช่น หน่วยงานเอ็นจีโอพาชาวเกาหลีเหนือมาเยี่ยมชมความทันสมัยของสิงคโปร์ เป็นต้น สิงคโปร์เพิ่งระงับการค้ากับเปียงยางตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นในระยะหลัง
ลิ้มไถ่เหว่ย ผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อธิบายว่า สิงคโปร์วางตัวเป็นกลาง ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบคงเส้นคงวา ทั้งยังเป็นประเทศเล็ก ไม่มีเจตนาร้าย ไม่มีขีดความสามารถที่จะทำอันตรายประเทศอื่น
อารักขาเยี่ยมยอด
นักวิเคราะห์บอกว่า สิงคโปร์ทำงานได้เนี้ยบในด้านการอารักขาผู้นำ กลไกด้านความมั่นคง ทั้งตำรวจ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ได้รับการฝึกปรืออย่างดี มีประสิทธิภาพสูง จึงเหมาะแขกวีไอพีอย่างทรัมป์กับคิม
สิงคโปร์เคยโชว์ผลงานลือเลื่องในวงการทูตในปี 2015 ตอนนั้น ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่นัดพบครั้งประวัติศาสตร์กับประธานาธิบดีไต้หวัน หม่าอิงจิ่ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำปักกิ่งกับไทเปพบกันนับแต่สงครามกลางเมืองเมื่อ 7 ทศวรรษก่อนหน้า
การพบปะระหว่างประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง กับประธานาธิบดีไต้หวัน หม่าอิงจิ่ว ที่สิงคโปร์ในปี 2015 ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกของผู้นำสองประเทศในรอบเกือบ 7 ทศวรรษ
(ภาพถ่ายเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2015 โดย REUTERS/Edgar Su)
คราวนี้ก็จะคล้ายกับคราวนั้น ในแง่ที่ว่าเป็นการนัดหมายกระชั้นชิด ประเทศเจ้าบ้านมีเวลาเตรียมการไม่กี่สัปดาห์สำหรับงานรักษาความปลอดภัย
มีการคาดเดากันด้วยว่า ทรัมป์กับคิมอาจไปนั่งคุยกันที่แชงกรีลา โรงแรมแห่งนี้มีประสบการณ์สูงในการรับงานที่ต้องอารักขาบุคคลสำคัญ ทุกๆปี เจ้าหน้าที่กลาโหมจาก 28 ประเทศเอเชีย-แปซิฟิกต้องมานั่งสัมมนาในงาน ‘แชงกรีลา ไดอะล็อก’ ที่นี่
ไอทีแข็งแกร่ง
นอกจากความพร้อมด้านการบินซึ่งขึ้นชื่อลือเลื่องแทบไม่ต้องสาธยายแล้ว สาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับงานช้างระดับนี้อีกอย่างก็คือ เทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ
สิงคโปร์มีโครงข่ายการสื่อสารที่สามารถแพร่กระจายข่าวได้อย่างมีประสิทธิผล และยังมีความพร้อมในการรองรับสื่อมวลชนหลายพันคนที่จะต้องแข่งกันรายงานข่าวในเวลาเดียวกัน
คิดไปแล้วให้น่าเสียดาย ตอนแรก ไทยมีข่าวเป็นแคนดิเดตตีคู่มากับสิงคโปร์ สุดท้ายทรัมป์ไม่เลือกไทย
นั่นทำให้วิสัยทัศน์ที่เราโฆษณาตัวเองเป็น ‘ฮับแห่งเอเชีย’ ดูลอยไกลออกไป.
อ้างอิง:
Tags: คิม จอง อึน, โดนัลด์ ทรัมป์, สิงคโปร์