ชาวอาร์เมเนียชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอาร์เมเนียต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ล่าสุด นิโคล ปาชินเนียน (Nikol Pashinyan) แกนนำต่อต้านรัฐบาลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีประกาศพักรบชั่วคราว

การชุมนุมมีขึ้นตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค. หลังสภาอาร์เมเนียลงมติ 55 ต่อ 45 ไม่เลือก ‘นิโคล ปาชินเนียน’ ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่เสนอชื่อ ‘แซร์ช ซาร์กเซียน’ (Serzh Sargsyan) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 10 ปีแทน

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศ มีการปิดถนน สถานีรถไฟ รวมทั้งปิดถนนเข้า-ออกสนามบิน สื่อตะวันตกรายงานว่านี่เป็นการชุมนุมแบบอารยะขัดขืน และไม่มีการนองเลือดใดๆ

แกนนำพรรครีพับลิกันกล่าวว่า จะสนับสนุนให้ปาชินเนียนเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวในการลงมติเป็นวาระพิเศษอีกครั้งของรัฐสภาในวันอังคารหน้า (8 พ.ค.) ปาชินเนียนจึงบอกให้ผู้สนับสนุนของเขาหยุดพักการเคลื่อนไหว

แต่พรรครีพับลิกันไม่ได้ระบุชื่อของปาชินเนียนโดยตรง บอกเพียงว่าจะสนับสนุนผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อโดยสมาชิกสภาจำนวน 1ใน 3 และพรรคจะไม่ส่งผู้สมัคร ทำให้ปาชินเนียนเป็นผู้เข้าแข่งขันรายเดียว

“นี่ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้ นิโคล ปาร์ชินเนียน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย นิติรัฐ และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมประชาชนไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และจะไม่เหนื่อย” ปาชินเนียนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี

เมื่อเย็นวันพุธ ปาชินเนียนวัย 42 ปีกล่าวกับผู้ชุมนุมประมาณ 150,000 คนในใจกลางกรุงเยเรวาน เมืองหลวงของประเทศว่า เขาเชิญชวนให้สมาชิกสภาก้าวข้ามความเป็นพรรค แล้วลงคะแนนเสียงให้กับ ‘ผู้สมัครของประชาชน’ ด้วยตัวเองในการลงมติครั้งใหม่วันที่ 8 พ.ค. ที่จะถึงนี้

“ตอนนี้เราจะหยุดพักชั่วคราวและพักผ่อน” ปาชินเนียนบอกกับผู้สนับสนุนที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว “แม้ว่าเราจะไม่เหนื่อย เราต้องเก็บความเข้มแข็งไว้ และเตรียมพร้อมสำหรับการไล่ตามเป้าหมายของเรา กลับไปเรียนและอ่านหนังสือต่อเถิด”

เนื่องจากอาร์เมเนียเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และอยู่ใกล้กับมอสโก อาร์เมเนียถูกจับตามองอย่างระมัดระวังทั้งรัสเซีย และประเทศตะวันตก

อาร์เมเนียมีประชากร 3 ล้านคน และต้องพึ่งพารัสเซียซึ่งมีฐานทัพอยู่ในประเทศสองแห่ง โดยต้องพึ่งพารัสเซียในการสนับสนุนด้านพลังงาน เศรษฐกิจ และการแก้ไขความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาเซอร์ไบจัน แม้ว่ารัสเซียจะขายอาวุธให้กับทั้งสองประเทศก็ตาม

ปาชินเนียนยืนยันตลอดว่า การเคลื่อนไหวของเขาไม่ได้มาจากแรงผลักดันด้านภูมิศาสตร์ทางการเมือง แต่มาจากความต้องการที่จะรื้อถอนการปกครองของกลุ่มชนชั้นนำที่ถือครองอำนาจในประเทศมายาวนาน แต่รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ปรากฏมาตลอดในความขัดแย้งการเมืองของอาร์เมเนีย

ในจดหมายเปิดผนึกที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวันพุธ ผู้อำนวยการสำนักข่าวอาร์เมเนียเรียกร้องให้ผู้นำรัสเซียอยู่ห่างจากการเมืองของอาร์เมเนีย

“เชื่อเถอะว่า การอภิปรายเมื่อวันที่ 1 ไม่ได้เพิ่มจำนวนของประชาชนที่สนับสนุนการใกล้ชิดกับรัสเซียเลย” อรา ทาเดโวไซยาน (Ara Tadevosyan) ระบุในจดหมาย “คุณมีเรื่องที่ต้องนึกถึงอยู่เยอะแล้วในรัสเซียและระดับโลก เรื่องนี้ไม่คุ้มค่ากับเวลาหรอก”

ก่อนการลงมติเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สมาชิกสภาบางส่วนจากพรรครีพับลิกันวิจารณ์ปาชินเนียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เขาไม่จงรักภักดีกับรัสเซีย บางส่วนมองว่า การแสดงท่าทีจงรักภักดีต่อรัสเซียจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมความมั่นคงให้อาร์เมเนียได้

ริชาร์ด กิราโกเซียน ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาในเยเรวานกล่าว แม้จะไม่จริงใจขนาดไหน แต่ภาพที่แสดงออกมาว่า อาร์เมเนียเป็นพันธมิตรที่ภักดีต่อรัสเซียมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร เขามองว่ามันจะช่วยหลีกเลี่ยงการแทรกแซงหรือความเคลื่อนไหวใดๆ จากรัสเซียที่จะทำลายรัฐบาลใหม่”

ทั้งนี้ การปฏิวัติที่ปราศจากการนองเลือดของอาร์เมเนีย ช่วยหลีกเลี่ยงการตอบโต้ที่แข็งกร้าวจากรัสเซีย ซึ่งมักจะเข้าไปแทรกแซงประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน อย่างยูเครนหรือจอร์เจีย

 

ที่มา:

Tags: , , , , , ,