มี อย.ก็ใช่ว่าจะรับประกันความปลอดภัย กรณีนี้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่ง FDA หรือ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ตรวจหาสารเคมีที่ตกค้างในอาหารเมื่อปี 2016 พบ ‘ไกลไฟเสต’ หรือยากำจัดวัชพืช ในอาหารที่ชาวอเมริกันบริโภคเป็นประจำอย่างกราโนลาและแครกเกอร์ แต่รายละเอียดนี้ยังไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ
จนกระทั่ง เว็บไซต์เดอะการ์เดียน ใช้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ไปพบอีเมลสื่อสารภายในองค์กรของ FDA ที่ส่งเมื่อมกราคม 2017 ชี้ว่า นักเคมีของสำนักงานตรวจพบยาฆ่าหญ้าในอาหารที่ชาวอเมริกันบริโภคกันทั่วไป
“ผมเอาแครกเกอร์ข้าวสาลี กราโนลา และข้าวโพดมาจากบ้าน และมันก็มีไกลโฟเสตมากในระดับหนึ่ง” ริชาร์ด ทอมป์สัน นักเคมีเขียนอีเมลถึงเพื่อนร่วมงานเมื่อปลายปีที่แล้ว ทอมป์สันซึ่งทำงานในห้องปฏิบัติการภูมิภาคของ FDA ในอาร์คันซอเขียนว่า บร็อคโคลี่เป็นอย่างเดียวที่พบว่าปราศจากไกลโฟเสท
FDA ต้องทำตรวจหาสารตกค้างในอาหารทุกปี แต่ที่ทอมป์สันตรวจพบยาฆ่าหญ้าในอาหาร เป็นขั้นตอนที่ทอมป์สันกำลังทดสอบเพื่อหาวิธีที่จะใช้วิเคราะห์ ซึ่งหมายความว่า ข้อค้นพบเหล่านั้นจะไม่ถูกระบุไว้ในรายงานผลอย่างเป็นทางการ
ไกลโฟเสต เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นส่วนผสมหลักของยาฆ่าแมลงของมอนซานโต ในสหรัฐอเมริกามีการใช้ไกลโฟเสตมากกว่า 90 ล้านกิโลกรัมต่อปี ยากำจัดวัชพืชจะถูกฉีดใส่พืชโดยตรง รวมถึงข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และข้าวโอ็ต เกษตรกรจำนวนมาก เช่น ผู้ที่ปลูกผักขม อัลมอนด์ ใช้ไกลโฟเสตในพื้นที่เพาะปลูกก่อนที่พืชจะโต
FDA มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในอาหารทุกปี เพื่อเฝ้าระวังปริมาณสารตกค้างที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่ทางสำนักงานก็เพิ่งจะเริ่มทดสอบหาไกลโฟเสต ทั้งที่เป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารมากว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งข้อเรียกร้องให้ต้องตรวจสอบไกลโฟเสตมีเพิ่มขึ้นหลังจากหน่วยวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer – IARC) ขององค์การอนามัยโลก จัดให้ไกลโฟเสตอยู่ในกลุ่ม ‘อาจก่อมะเร็งในมนุษย์’ เมื่อปี 2015
ส่วนนักเคมีอีกคนหนึ่ง ณรงค์ แจ่มเกษม (Narong Chamkasem) พบระดับไกลโฟเสตในข้าวโพดที่สูงเกินกว่าที่ระดับที่ยอมรับได้คือ 6.5 ต่อ 1 ล้าน ขณะที่กฎหมายจำกัดที่ 5.0 ต่อ 1 ล้าน ปกติแล้วระดับที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดต้องถูกรายงานต่อสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency-EPA) แต่ FDA ก็เขียนจดหมายถึง EPA ว่าข้าวโพดที่ใช้ยังไม่ใช่ ‘ตัวอย่างที่เป็นทางการ’
เมื่อสอบถาม FDA เกี่ยวกับอีเมลและผลการตรวจสอบของสำนักงาน โฆษกของ FDA กล่าวเพียงว่า FDA ยังไม่พบว่ามีไกลโฟเสตสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในข้าวโพด ถั่วเหลือง นม และไข่ หนังสือพิมพ์การ์เดียนระบุว่า เขาไม่ได้กล่าวถึงผลการตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการที่สื่อสารในอีเมล
ข้อค้นพบอื่นๆ ในเอกสารของ FDA แสดงให้เห็นว่าในปี 2016 ณรงค์พบไกลโฟเสตในน้ำผึ้ง และข้าวโอ๊ต แต่หลังจากที่ผลออกมา FDA ก็สั่งยุติการตรวจสอบชั่วคราว และห้องแล็บของณรงค์ถูกใช้ให้ทำงานอื่นๆ ดังที่ปรากฎในเอกสารของ FDA โดยให้เหตุผลว่าการทดสอบเหล่านั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจหาไกลโฟเสตตกค้างอย่างเป็นทางการ
เมลสื่อสารที่ชี้เบาะแสยาฆ่าหญ้าในกราโนล่าและแครกเกอร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำรายงานที่ตรวจหาสารตกค้างในอาหารประจำปี 2016 คาดว่ารายงานของ FDA ฉบับทางการน่าจะเผยแพร่สู่สาธารณะในปีนี้หรือต้นปี 2019 เพราะรายงานมักจะเผยแพร่หลังจากการรวบรวมข้อมูล 2-2.5 ปี
“ประชาชนสนใจว่ามีสารพิษอะไรปนเปื้อนในอาหารของพวกเขา หากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งที่ตกค้างในอาหาร FDA ควรจะเผยแพร่ มันช่วยให้คนตัดสินใจอย่างมีข้อมูล คนที่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลทำงานนี้ ควรจะได้เห็นข้อมูล” ” เทรซีย์ วูดรัฟฟ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ฟรานซิสโก กล่าว
กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเริ่มทดสอบไกลโฟเสตที่ตกค้างในอาหารตั้งแต่ปี 2017 แต่ต้องล้มเลิกแผนการไป การขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ตกค้างมาพร้อมกับความพยายามของมอนซานโตในการปิดกั้นหลักฐานเกี่ยวกับไกลโฟเสตที่ตกค้าง ซึ่งบริษัทต้องต่อสู้ในชั้นศาลจากการถูกกล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทก่อให้เกิดมะเร็งในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
ที่มาภาพ: REUTERS/Jose Cabezas
ที่มา:
Tags: สุขภาพ, สหรัฐอเมริกา, สารพิษ, ไกลโฟเสต, ยาฆ่าหญ้า, ยากำจัดวัชพืช, FDA