วิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีดำเนินมาถึงทางแพร่งอีกครั้ง โลกกำลังจับตาดูว่า มหาอำนาจอย่างสหรัฐ และจีนจะเดินเกมอย่างไร เกาหลีเหนือ-ใต้ จะต่อรองกันแบบไหนทุกฝ่ายจึงจะบรรลุจุดสมประโยชน์

นับแต่ข้อตกลงยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเมื่อทศวรรษ 2000 ล่มไม่เป็นท่า กระบวนการเจรจาหกฝ่าย คือ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ชะงักงันเรื่อยมา แต่จู่ๆสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นปลดอาวุธนิวเคลียร์ก็ทำท่าขยับเดินหน้าอีกรอบ  

ถ้าเกาหลีเหนือตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ ล้มเลิกการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล บรรยากาศทางการเมืองในแถบคาบสมุทรเกาหลีและย่านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะคลายอุณหภูมิร้อนรุ่มลงทันที แต่รัฐบาลเปียงยางย่อมเรียกร้องข้อแลกเปลี่ยน

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสหรัฐ จีน และเกาหลีใต้ จะโอนอ่อนตามข้อต่อรองของเกาหลีเหนือได้แค่ไหน แต่ละฝ่ายพึงพอใจผลลัพธ์การเจรจา ณ จุดใด  นับเป็นโจทย์ของการเจรจาหลายฝ่ายที่โลกกำลังตั้งตาชม

คิมพร้อมคุย ‘มุน-ทรัมป์’

นับแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมา ตัวละครในเกมนิวเคลียร์เกาหลีมีการเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มี.ค. เกาหลีใต้แถลงว่า ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง-อึน ตกลงที่จะพบหารือกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ-อิน ที่หมู่บ้านปันมุนจอม ชายแดนของประเทศทั้งสอง ในวันที่ 27 เมษายน

นอกจากเรื่องการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีแล้ว ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายจะพูดจากัน คือ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ก่อนหน้านั้น คิมกับประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ตกลงนัดหมายกันว่า ทั้งสองจะพบปะกันในเดือนพฤษภาคม แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาและสถานที่

ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีผ่อนคลายลงตามลำดับนับแต่เกาหลีเหนือส่งทีมนักกีฬาไปร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเกาหลีใต้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

อย่างที่รู้กัน โดยทางนิตินัยแล้ว เกาหลีทั้งสองยังคงมีสถานะเป็นคู่สงคราม เพราะสงครามเกาหลีเมื่อช่วงปี 1950-1953 ยุติลงด้วยการหยุดยิงเฉยๆ ยังไม่มีการลงนามสนธิสัญญาสงบศึก ไมตรีของฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้จึงง่อนแง่น กลายเป็นปมด้านความมั่นคงที่กำหนดวิถีความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีจนถึงปัจจุบัน

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม คิม จอง-อึน จัดเลี้ยงต้อนรับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ 2 คนที่ไปเยือนเปียงยาง จากนั้นทั้งสองบินไปยังสหรัฐฯ พร้อมกับนำสาส์นของคิมไปบอกทรัมป์ว่า คิมต้องการคุยกับทรัมป์ เกาหลีเหนือพร้อมปลดอาวุธนิวเคลียร์ ปรากฏว่า ผู้นำสหรัฐฯ ตอบรับคำเชิญชวน

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คิมนั่งรถไฟไปพบประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง ที่ปรุงปักกิ่ง จีนแถลงเมื่อวันพุธที่ 28 มี.ค. ว่า คิมรับปากที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ และยินดีพบกับประธานาธิบดีทรัมป์

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือและ ริ ซอล จู ภรรยา ในการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างไม่เป็นทางการ
(ไม่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ในภาพเกิดวันที่เท่าไร แต่สำนักข่าวกลางแห่งเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพนี้เมื่อ 28 มีนาคม 2561)

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จับมือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขณะพบปะในการเยือนประเทศจีนอย่างไม่เป็นทางการ
(ไม่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ในภาพเกิดวันที่เท่าไร แต่สำนักข่าวกลางแห่งเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพนี้เมื่อ 28 มีนาคม 2561)

 

ถึงตอนนี้ ทรัมป์ยังถือไพ่ไว้ต่อรอง 2 ใบ ใบหนึ่ง คือ ยังคงมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือไว้ต่อไป อีกใบคือ ระงับการทำข้อตกลงทางการค้ากับเกาหลีใต้เอาไว้ก่อน

สหรัฐหวังที่จะใช้ไพ่ทั้งสองใบนี้เป็นแต้มต่อ กดดันให้เกาหลีทั้งสองบรรลุข้อยุติปลดอาวุธนิวเคลียร์

แต่เรื่องคงไม่ง่ายนัก เพราะสหรัฐฯ จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ต่างมีจุดยืนที่แตกต่างกัน

 

นิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

เวลาติดตามข่าวต่างประเทศ เรามักเห็นภาพเกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ทดสอบขีปนาวุธ ชวนให้เข้าใจว่า เปียงยางเป็นตัวร้ายบนเวทีโลก

แต่นั่นเป็นผลจากสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ที่เกาหลีเหนือต้องพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร เพื่อรับมือภัยคุกคาม

นับแต่สงครามเกาหลียุติลง เกาหลีแบ่งเป็นสองประเทศ ฝ่ายเหนือกลายเป็นรัฐเผด็จการ ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสม์ ฝ่ายใต้ทำพันธมิตรทางทหารกับอเมริกา สหรัฐคุ้มครองเกาหลีใต้ด้วย ‘ร่มนิวเคลียร์’ (‘nuclear umbrella’) รัฐบาลโซลเปิดรับทหารอเมริกันเข้าไปตั้งฐานทัพ

เกาหลีใต้มั่งคั่งรุ่งเรืองขึ้นด้วยการเชื่อมต่อกับทุนนิยมอเมริกัน ทุนนิยมโลก เกาหลีเหนือจ่อมจมอยู่กับความอัตคัต ต้องพึ่งพาการอุปถัมป์ของจีน ซึ่งต้องการทัดทานอิทธิพลของอเมริกาในคาบสมุทรเกาหลี อันมีพรมแดนประชิดติดกับจีน

นโยบายร่มนิวเคลียร์และฐานทัพอเมริกัน รวมทั้งการซ้อมรบร่วมสหรัฐฯ – เกาหลีใต้ เป็นปัจจัยบั่นทอนความมั่นคง คุกคามความอยู่รอดและระบอบปกครองของรัฐเกาหลีเหนือ นี่คือสาเหตุมูลฐานที่ฝ่ายเหนือต้องเสริมสร้างเขี้ยวเล็บ ยิ่งป้องปรามกลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear deterrence)  

 

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กับขีปนาวุธข้ามทวีป ฮวาซอง-15
(สำนักข่าวกลางแห่งเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพนี้เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2560)

หลักประกันความมั่นคง

เกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ อย่างไร ย่อมขึ้นกับว่า เปียงยางได้รับ ‘หลักประกันความมั่นคง’ (security guarantees) ที่เพียงพอแก่การสร้างความรู้สึกปลอดพ้นจากภัยคุกคามหรือเปล่า

ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเกาหลีเหนือจะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขอย่างน้อย 2 อย่าง นั่นคือ สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเกาหลีใต้ และรัฐบาลวอชิงตันยกเลิกความเป็นพันธมิตรนิวเคลียร์กับรัฐบาลโซล

จุดยืนที่ว่านี้ เกาหลีเหนือยืนยันมาโดยตลอด ถือเป็น ‘ราคาขาดตัว’ ที่ไม่อาจลดหย่อนได้ มิฉะนั้น ฝ่ายเหนือย่อมตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูก “รวมชาติด้วยมาตรการใช้กำลัง” อันหมายถึงจุดสิ้นสุดของระบอบปกครองในกรุงเปียงยาง

เหตุที่วิกฤตนิวเคลียร์แก้ไม่ตกมาช้านานนั้นอยู่ที่การเกี่ยงงอนของฝ่ายสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้เกาหลีเหนือเป็นฝ่ายยอมถอยก่อน ด้วยการทำลายอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง รื้อทิ้งโรงงานและอุปกรณ์ทั้งหมด แล้วเปิดรับการตรวจพิสูจน์การปลดอาวุธโดยสมบูรณ์แบบ

ทั้งหมดนี้ต้องทำในทันทีหรือเร็วที่สุด จากนั้น ค่อยคุยกันเรื่องการยุติมาตรการคว่ำบาตร จนถึงการสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

ทว่าในการเจรจากับผู้นำเกาหลีใต้และสหรัฐฯ คาดกันว่า คิม จอง-อึน จะยอมถอยได้แค่จำกัดหรือระงับการพัฒนานิวเคลียร์ คงไม่อ่อนข้อจนถึงขั้นโยนทิ้งอาวุธมหาประลัยไปเสียทั้งหมดในคราวเดียว อย่างมากเท่าที่จะผ่อนปรนได้ คือ ยอมลดอาวุธอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แลกกับการตอบสนองที่สมน้ำสมเนื้อกัน   

 

พบกันครึ่งทาง

จนถึงขณะนี้ นักสังเกตการณ์บอกว่า ยังมองไม่เห็นวี่แววที่เกาหลีเหนือจะบรรลุข้อตกลงอย่างชื่นมื่นกับสหรัฐและเกาหลีใต้

รัฐบาลโซลมีจุดยืนในการเจรจาที่ใกล้เคียง แต่ลดราวาศอกกว่าอเมริกา นั่นคือ ตั้งเป้าสูงสุดไว้ที่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยอมรับว่า ฝ่ายเหนือคงไม่ยอมถอยสุดตัวในทันใด ดังนั้น เกาหลีใต้ยังเปิดใจรับฟังว่า เปียงยางจะยอมได้แค่ไหน

ท่าทีเปิดใจรับฟังข้อเสนอเช่นนี้เอง ทำให้ทรัมป์เอาเรื่องข้อตกลงการค้ามาใช้กดดันโซล เพื่อไม่ให้ยอมผ่อนปรนกับเกาหลีเหนือจนกระทบราคาขาดตัวของฝ่ายอเมริกัน

ข้างฝ่ายจีนนั้น ปักกิ่งมีจุดยืนร่วมกับเปียงยาง นั่นคือ หมูไป ไก่มา แต่ละฝ่ายต้องยอมลดและยอมแลก ด้วยเป้าหมายสุดท้ายที่ “คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์”

ในการเจรจารอบใหม่นี้ นักวิเคราะห์บอกว่า ราคาที่ทุกฝ่ายน่าจะพอยอมรับได้ ก็คือ เกาหลีเหนือยอมระงับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และการทดสอบขีปนาวุธ รวมทั้งชะลอการพัฒนาอาวุธไว้ก่อน ขณะที่สหรัฐและสหประชาชาติยอมผ่อนคลายการคว่ำบาตร หรือระงับการซ้อมรบร่วมของสหรัฐกับเกาหลีใต้

สูตรพบกันครึ่งทางแบบนี้ แต่ละฝ่ายจะว่าอย่างไร อีกไม่นานคงได้เห็นกัน

 

อ้างอิง:

Tags: ,