1
“ถ้าเราส่งมันลงเลือกตั้งอีก แพ้แน่นอน!”
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา จะเกิดขึ้นในปี 2024 พรรครีพับลิกันดูจะคึกคักเป็นอย่างมาก เพราะต้องการทวงคืนอำนาจนำให้กับพลังอนุรักษนิยม ฝ่ายขวา หลังพ่ายแพ้ให้กับพรรคเดโมแครตในปี 2020 ไป แถมยังมีความแปดเปื้อน จากเหตุการณ์บุกรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม 2021 ของพวกคลั่งขาว และกลุ่มชนที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
ศึกการช่วงชิงว่าใครจะเป็นตัวแทนของพรรค ไปสู้กับตัวแทนพรรคเดโมแครต ที่คาดว่าน่าจะเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โจ ไบเดน (Joe Biden) จึงน่าสนใจเป็นอย่างมาก
เพราะตัวแทนจากรีพับลิกัน ต่างคึกคัก ต้องการคะแนนเสียง พร้อมกับพยายามฉีกตัวเองจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ซึ่งมีความประสงค์อยากจะสู้ศึกครั้งนี้ แก้มืออีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนทางนักการเมืองในพรรครีพับลิกัน ต่างรู้สึกและอ่านเกมแล้วว่า หากยังดื้อดึงสนับสนุนทรัมป์ต่อไป มีหวังได้แพ้การเลือกตั้งแน่นอน แถมทรัมป์เองยังเป็นตัวเลือกที่ขายไม่ค่อยได้อีกต่อไปแล้วด้วย
ดังนั้นภารกิจฝ่ายขวาทวงคืน อนุรักษนิยมกู้ชาติ จึงเป็นหน้าที่ของพรรครีพับลิกัน ในการเกาะกลุ่มตลาด ผลิตนโยบาย ปราศรัยเพื่อซื้อใจประชาชนอเมริกัน
เพื่อหวังกลับไปกุมอำนาจในทำเนียบขาวได้อีกครั้ง
มันเป็นภารกิจที่ไม่ง่าย เพราะความยากอยู่ที่ว่า ใครจะได้เป็นตัวแทนถือธงนำ ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ใครจะเป็นผู้สมัครที่จะหาเสียง เพื่อหวังเข้าไปนั่งในทำเนียบขาว
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะสหรัฐอเมริกาคือมหาอำนาจ ประธานาธิบดี เป็นตำแหน่งที่ทำงานภายใต้ธงการเมือง ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน ล้วนมีผลกระทบต่อโลกใบนี้อย่างมาก
นี่จึงถือเป็นการอุ่นเครื่องวอร์มเรียกน้ำย่อยกันว่า ผู้สมัครเหล่านี้ ใครกันจะมีสง่าราศี ทะลวงเก็บคะแนนเสียง เป็นผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน
แต่ที่แน่ๆ ผู้มีอำนาจในพรรค พยายามย้ำแล้วย้ำอีกว่า อย่าให้โดนัลด์ ทรัมป์ชนะคะแนนการหยั่งเสียงเลือกเป็นอันขาด
แฟนเดนตายแห่งพรรครีพับลิกัน และนักการเมืองต่างย้ำว่า
“ให้ทิ้งทรัมป์ไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับมัน หากยังหวังชนะการเลือกตั้งปธน. ครั้งนี้”
2
ตัวเต็งคนแรกที่มีลุ้น จะได้เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน จะเป็นใครได้ที่ไหน นอกจากอดีตประธานธิบดีทรัมป์ของเรานั่นเอง ซึ่งเจ้าตัวก็มุ่งมั่นว่าศึกครั้งนี้ เขาจะลงอีกสมัย สร้างความหวาดวิตกให้กับคนทั้งโลกเป็นอย่างมาก
หากดูผลโพลเบื้องต้น พบว่าตัวเลขที่คนนิยมทรัมป์นั้น ยังสูงอยู่มาก เพราะเขายังมีบารมี ปราศรัยโผงผางเดือดถูกใจ พูดโกหก ไม่มีหลักฐาน ก็ยังบอกว่าเรื่องจริง ตอนนี้ฐานคะแนนเสียงเขา สูงเป็นอันดับ 1 อย่างไรก็ดีมนต์ขลังของทรัมป์ ดูจะไม่ได้มีพลานุภาพดังเดิม เหมือนตอนชนะเลือกตั้งในปี 2016 อีกแล้ว
หากดูการเลือกตั้งสภาผู้แทน ทั้งส.ส. วุฒิสมาชิก และผู้ว่าการรัฐ ทั้งในปี 2018 การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ที่ทรัมป์แพ้เลือกตั้ง แล้วปลุกวาทกรรม โดนโกง จนเกิดความวุ่นวายสะเทือนโลก การเลือกตั้งเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าเวลาทรัมป์เชียร์ใคร คนมักจะได้คะแนนเสียงน้อยกว่า คนที่ทรัมป์ไม่ได้เชียร์
เรื่องนี้มาเห็นได้ชัดก็การเลือกตั้งในปี 2022 ที่แม้สภาล่าง ส.ส.รีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในสภา จนดันคนจากพรรคเป็นประธานรัฐสภาได้สำเร็จ แต่หากพิจารณาให้ดี จะพบว่ารีพับลิกัน ได้ผู้แทนน้อยกว่าที่คาด แถมในสภาสูง หรือวุฒิสมาชิก พวกเขาพ่ายให้กับพรรคเดโมแครตอย่างหมดรูป ทวงคืนเสียงข้างมากสภาสูงไม่สำเร็จ แถมยังเสียที่นั่งไปอีกด้วย
โดยผู้สมัครหลายคนที่สอบตกนั้น มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ สุดที่รัก เป็นคนสนับสนุน ยืนยันว่าต้องเลือกคนนี้ แต่ปรากฏว่าถึงเวลาจริงๆ บริวารทรัมป์ ต่างสอบผ่านเข้าเป็นผู้แทนน้อยกว่าที่เก็งกันไว้
ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันบางคน เหมือนก็รู้ว่า ชื่อเสียงทรัมป์นั้นชักจะขายไม่ออกแล้ว จึงตีตัวออกห่าง จากภักดี ก็หันมาโจมตีวิจารณ์อดีตปธน. อย่างหนักหน่วง ซึ่งทำให้บางคนสอบผ่านเข้าไปนั่งเป็นผู้แทนได้อย่างสมหวังอีกด้วย
พอล ไรอัน (Paul Ryan) อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งถือเป็นนักการเมืองชนชั้นนำของพรรครีพับลิกัน ที่แม้จะขออยู่เงียบๆ ไม่เล่นการเมืองในช่วงเวลาที่ตาทรัมป์เป็นปธน. มาครั้งนี้ แกออกมาวิจารณ์ใส่ยับอย่างเต็มที่
ไรอันย้ำว่า การชูทรัมป์ ทำให้พรรครีพับลิกันบ้อท่าพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว เขาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันหยุดทรัมป์เสียที เขาไม่เหมาะกับตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด ซึ่งกลุ่มคนย่านชานเมือง ที่เคยเป็นฐานเสียงโหวตให้ทรัมป์ ถึงตอนนี้ ก็มีแนวโน้มจะไม่เอาทรัมป์อีกแล้ว
ดังนั้นหากรีพับลิกันบ้าจี้ดันอดีตปธน.ไปดวลกับโจ ไบเดน ก็มีโอกาสแพ้สูง เพราะไบเดนเองเป็นนักการเมืองที่เขี้ยวลากดิน และมีฐานเสียงในหมู่คนขาวตามชนบทอย่างมาก เพราะเขาเข้าใจคนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากเอามาซัดกัน รับรองว่าไบเดนชนะแบบนอนมาแน่ๆ
ไรอันย้ำว่า แม้แต่พวกฝ่ายขวาจัด ก็รู้ดีว่า หากอยากชนะการเลือกตั้ง อย่าเอาทรัมป์เด็ดขาด
3
เต็ง 1 ทรัมป์ดูจะสะบักสะบอม และไม่น่าเข้าวิน แม้จะมีคะแนนนำ แต่ดูเหมือนจะถูกไล่บี้และคงถูกแซงในไม่ช้า โดยผลงานของเต็ง 2 ดาวรุ่งไฟแรงของพรรครีพับลิกัน ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ที่ชื่อ รอน เดอซานติส (Ron DeSantis)
ชายคนนี้ถือเป็นตัวแรงแห่งกลุ่มอนุรักษนิยม เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยลและฮาร์วาร์ด เมื่อก่อนก็เชียร์ทรัมป์ แต่ตอนนี้เพื่อคะแนนเสียง ก็ต้องสับอดีตปธน. อย่างเละเทะ โดยการเลือกตั้งผู้ว่ารัฐฟลอริดา ปี 2022 เดอซานติส ชนะคู่แข่งด้วยคะแนนเสียงนำห่าง ถึง 1.5 ล้านคะแนน สูงเป็นประวัติการณ์ของรัฐ ในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว
อดีตทนายหนุ่มวัย 44 ปีคนนี้ ถือเป็นดาวรุ่งของฝ่ายขวาอเมริกันขนานแท้ เดอซานติส มีประวัติเคยรับใช้กองทัพเรือ ไปรบในอิรัก ก่อนจะเป็นส.ส. ในช่วงปี 2013 – 2018
หลังจากนั้น เขาชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดาในปี 2019 โดยมีมุมมองแก้ปัญหาแบบขวา ที่เชื่อในเสรีภาพปัจเจก ลดภาษี และต่อต้านผู้อพยพเข้าเมือง ความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน
ช่วงโควิด-19 ระบาด เดอซานติส ยกเลิกมาตรการใส่หน้ากาก และไม่บังคับให้คนไปฉีดวัคซีน ซึ่งมันทำให้ฟลอริดา มียอดผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูง แต่ไม่มากไปกว่ารัฐที่มีมาตรการคุมเข้มโควิดเท่าไหร่นัก นี่จึงทำให้เขาถูกมองว่ามีประสิทธิภาพในการบริหารรัฐกิจแบบอนุรักษนิยมเป็นอย่างยิ่ง
เดอซานติส เจาะเข้าถึงคะแนนเสียงของฝ่ายขวาในอเมริกา เขาเซ็นกฎหมายคุมเข้มเรื่องการประท้วง ยกเลิกการสอนเรื่องสีผิวในโรงเรียน ไม่ให้สอนเรื่องเพศสภาพที่หลากหลาย โดยเชื่อว่ามันจะสร้างความขัดแย้งในสังคม
หากคุณเป็นฝ่ายซ้ายคงจะโมโหกับเรื่องนี้มากๆ แต่ฟลอริดาที่เขาปกครอง รีพับลิกันมีผู้แทนในสภามลรัฐมากกว่าเดโมแครตเป็นครั้งแรกได้สำเร็จด้วย
เดอซานติส มีนโยบายเรื่องการคุมเข้มผู้อพยพเข้าเมือง เขาจับผู้อพยพที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แล้วส่งไปยังมลรัฐที่มีผู้ว่าการจากพรรคเดโมแครต เพื่อจัดการปัญหานี้เอง แม้จะโดนวิจารณ์ แต่ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาแบบฝ่ายขวาที่น่าตื่นตะลึงอย่างมาก
ผลโพลชี้ว่า เดอซานติส คะแนนตามทรัมป์เป็นอันดับ 2 แต่ก็ไม่หนีห่างมาก เขายังมีเวลาจะขยับไล่บี้ เพราะตอนนี้ ยังมีไม่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะขอชิงตำแหน่งตัวแทนประธานาธิบดีอเมริกาของพรรค
หากจะมองฝ่ายขวาที่น่าสนใจ แบบมีประสิทธิภาพ ไม่บ้าๆ บวมๆ ถือว่าเดอซานติสน่าสนใจอย่างมาก เพราะจุดเด่นของเขาที่ฝ่ายขวาชอบใจมาก นั่นก็คือ
“เขามีมาดผู้นำ ที่ไม่สะทกสะท้านอะไรเลย”
4
ผู้สมัครคนต่อมา เธอมีพ่อแม่เป็นคนอินเดีย และประกาศตัวว่าจะลงสมัครขอเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว นั่นก็คือ นิกกี้ เฮลีย์ (Nikki Haley) อดีตทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ สมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดีนั่นเอง
ความน่าสนใจอีกอย่าง คือเธอเป็นทีมงานทรัมป์ไม่กี่คน ที่ถูกเลือกให้ทำงาน แล้วก็ได้ลาออกเอง ไม่ถูกไล่ออก แถมตอนจากกัน ยังไม่โดนอดีตปธน. คนนี้ด่าไล่หลังเหมือนคนอื่นๆ เอาแค่นี้ก็ถือว่าหญิงคนนี้ไม่ธรรมดาแล้ว
เฮลีย์ เคยเป็นผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา ในปี 2009 โดยเธอเป็นผู้ว่าหญิงคนแรกของรัฐนี้ แถมยังมีเชื้อสายอินเดียอีกด้วย เรียกได้ว่าในรัฐที่ดูอนุรักษนิยม เธอต้องมีลีลาจังหวะจะโคนและโดดเด่นมาก จนทำให้คนในรัฐลงคะแนนให้เป็นผู้ชนะ
ในสมัยที่เป็นผู้ว่า เฮลีย์เองเคยออกนโยบายที่ดูซ้ายมากๆ นั่นก็คือให้เอาธงสมาพันธรัฐ ซึ่งเป็นธงของกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ที่เชียร์การมีทาส และได้ทำสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งธงดังกล่าวถือเป็นตัวแทนการเหยียดผิว แม้พวกฝ่ายขวา จะเบี่ยงอ้างว่าเป็นอัตลักษณ์ของคนใต้ก็ตาม
ทั้งนี้เฮลีย์สั่งให้เอาธงนี้ออกจากสภาของรัฐ เพราะการมีอยู่ของธงนี้ เท่ากับสนับสนุนระบอบทาส ซึ่งเธอก็ทำได้สำเร็จ จนดูเหมือนมีความสามารถในการอยู่กับกลุ่มอนุรักษนิยมได้เป็นอย่างดี
เฮลีย์ย้ำกับประชาชนเสมอว่า สหรัฐอเมริกา ต้องการผู้นำรุ่นใหม่ และด้วยวัยเพียง 51 ปี จึงดูเป็นความหวังใหม่ ที่น่าสนใจสำหรับฝ่ายขวาอย่างยิ่ง
“พรรครีพับลิกัน แพ้คะแนนป็อปปูลาร์โหวต 7 ครั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งหมด 8 ครั้ง ดังนั้นควรถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว”
แน่นอนว่าเฮลีย์ได้กระตุกสาวกทรัมป์กับไบเดน ซึ่งทั้งสองคนนี้ แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันสุดขั้ว แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ อายุมากแล้ว ทรัมป์ตอนนี้ก็ 76 แล้ว ส่วนไบเดน ก็ 80 ปี หากใครได้เป็นประธานาธิบดีต่อ ก็จะเป็นผู้นำที่ชราภาพอย่างมาก
เฮลีย์จึงย้ำอีกครั้งว่า มันควรถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ได้แล้ว
5
สำหรับผู้สมัครคนอื่นๆ นั้น บางคนยังกั๊กไม่เปิดตัว ที่เปิดตัวก็ยังไม่น่าสนใจมาก แต่สิ่งหนึ่งที่พรรคเดโมแครตเริ่มตระหนักอย่างชัดเจนแล้ว นั่นก็คือ คะแนนเสียงของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เริ่มจะเทไปให้กับกลุ่มอนุรักษนิยม และสนับสนุนพรรครีพับลิกันมากขึ้นกว่าเดิม
ยกตัวอย่าง คนอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นที่รู้กันมานานนมว่า เชียร์เดโมแครตมาตลอด ณ บัดนี้ หลายคนเปลี่ยนใจเป็นฝ่ายขวาขึ้นมา ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า ช่วงโควิด-19 ดูเหมือนคนเอเชียจะถูกก่อเหตุอาชญากรรมจากความเกลียดชัง เพราะมีคนเพี้ยนคิดว่า คนเอเชียเป็นผู้นำไวรัสโควิดเข้ามาในอเมริกา ซึ่งเราก็ได้เห็นอาชญากรรมแบบนี้หลายครั้ง มีคนไทยถูกก่อเหตุทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ เสียชีวิตด้วย
ความหวั่นไหวตรงนี้ ประจวบกับสถานการณ์ที่ตำรวจอเมริกันโดนจับตา ลดงบประมาณ เพราะก่อเหตุรุนแรงต่อคนดำ ส่งผลมุมกลับทำให้ตำรวจไม่กล้าทำอะไร จนอาชญากรรมพุ่งพรวดเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งนี้เป็นปัญหาที่นักการเมืองจากพรรครีพับลิกันเห็น แล้วชูธงความมั่นคง ความปลอดภัยในสังคม มันไปถูกใจคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียอย่างมาก จนแห่กันลงคะแนนเลือกผู้แทนจากพรรครีพับลิกันมาหลายสนามแล้ว
นี่จึงเป็นฐานคะแนนอันโอชะ ที่ฝ่ายขวายิ้มอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้กลุ่มคนเชื้อสายอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นพลเมืองอเมริกัน ก็เลือกรีพับลิกันเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ
งานนี้จึงเป็นโอกาสอันดีของฝ่ายขวาที่จะได้แก้มือ เข้าไปครองทำเนียบขาวให้ได้อีกครั้ง โดยมีคะแนนเสียงที่พร้อมจะเทให้พวกเขาไม่น้อยอยู่เหมือนกัน
แต่โจทย์ข้อแรกของงานนี้ก็คือ ต้องมีตัวแทนผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เหมาะสมให้ได้เสียก่อน
เพราะหากได้โดนัลด์ ทรัมป์ดังเดิม ก็ขอให้หวนนึกถึงคำพูดของพอล ไรอันที่พูดไว้อย่างหวาดหวั่นว่า
“ถ้าเราส่งมันลงเลือกตั้งอีก แพ้แน่นอน!”
ที่มา
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-63550237
https://www.vox.com/politics/2023/2/23/23611828/2024-republican-presidential-candidates-trump-desantis-haley
https://people.com/politics/2024-presidential-candidates/
https://www.politico.com/news/2024-elections
https://abcnews.go.com/Politics/running-president-2024/story?id=96849127
https://www.nytimes.com/2023/02/14/us/politics/nikki-haley-president-trump.html
https://www.nytimes.com/interactive/2023/03/06/magazine/paul-ryan-interview.html?campaign_id=9&emc=edit_nn_20230307&instance_id=87055&nl=the-morning®i_id=133553334&segment_id=127088&te=1&user_id=9f4172e6f598f64f625d347bf52e765c
https://www.nytimes.com/2023/03/06/briefing/asian-americans-conservative-republican.html?campaign_id=7&emc=edit_mbae_20230307&instance_id=87014&nl=morning-briefing%3A-asia-pacific-edition®i_id=133553334&segment_id=127054&te=1&user_id=9f4172e6f598f64f625d347bf52e765c
Tags: The Politician in Crime, การเมืองอเมริกัน, โดนัลด์ ทรัมป์, อนุรักษนิยม, โจ ไบเดน