หลังจากเปิดตัวในปี 2018 แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ใช้งานกว่า 105 ล้านคน คิดเป็น 45% ของผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหมด ซึ่งมีกลุ่มผู้ใช้งานหลักเป็นวัยรุ่น Gen Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012) จำนวน 37.3 ล้านคน

ด้วยความสำเร็จที่น่ากลัวนี้ ทำให้สังคมอเมริกันเริ่มตื่นตัวและมองผลกระทบของสิ่งที่ดูไร้พิษภัยนี้ใหม่

คุณภาพคอนเทนต์ = คุณภาพสังคม

ทริสตัน แฮร์ริส (Tristan Harris) ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีมนุษยธรรมในสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ในรายการ 60 Minutes ของสำนักข่าว CBS ถึงความกังวลของเขาเกี่ยวกับภัยร้ายของแอปพลิเคชันชื่อดังอย่าง TikTok ว่าอาจกำลังลดประสิทธิภาพการเรียนรู้ของคนอเมริกัน รวมถึงข้อมูลที่น่าตกใจถึงความแตกต่างของคอนเทนต์ระหว่าง TikTok ที่ปล่อยให้คนทั่วโลกใช้งานโดยบริษัท ByteDance ประเทศจีน กับแอปฯ Douyin ที่พวกเขาผลิตใช้แค่ในประเทศของตัวเอง

“ในแอปฯ Douyin ผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 14 ปี จะถูกจำกัดให้ดูแต่คอนเทนต์ที่มีประโยชน์ อย่างเช่นวิธีทำการทดลองวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ที่บ้าน งานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ การศึกษา และวิดีโอที่สนับสนุนความรักชาติ แถมยังกำหนดเวลาการเล่นแอปฯให้ไม่เกิน 40 นาที ในขณะที่เด็กอเมริกันใช้เวลาไถแอปฯ นี้หลายชั่วโมงต่อวัน นี่คือ TikTok ในแบบที่พวกเขาไม่ปล่อยให้ประเทศอื่นในโลกใช้งาน มันเหมือนพวกเขาเสิร์ฟผักโขมให้เด็กในประเทศตัวเอง แล้วส่งยาเสพติดให้ประเทศที่เหลือ”

ทริสตันเสริมว่า “มีการสำรวจกับเด็กช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่นในสหรัฐฯ และจีนว่า เมื่อโตขึ้นพวกเขาอยากทำอาชีพอะไร ผลปรากฏว่าอาชีพอันดับหนึ่งที่เด็กอเมริกันอยากเป็นคืออินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในโลกออนไลน์ ส่วนผลของเด็กชาวจีนคือนักบินอวกาศ แค่นี้ผมก็เห็นอนาคตของแต่ละประเทศแล้ว และผมคิดว่านี่คือความตั้งใจ พวกเขารู้ว่าสื่อออนไลน์พวกนี้สามารถควบคุมความคิดของคนได้”

ผลสำรวจของ Global Web Index (GWI) ปี 2022 ก็ออกมายืนยันความกังวลดังกล่าวด้วยข้อมูลคอนเทนต์ยอดนิยมที่ผู้ใช้งานของแต่ละแอปพลิเคชันสนใจ ผู้ใช้งาน Douyin ส่วนใหญ่สนใจคอนเทนต์การเงินและเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ตามด้วยการศึกษาและศิลปะ ในขณะที่ผู้ใช้งาน TikTok ของสหรัฐฯ สนใจคอนเทนต์การเต้นแบบชาเลนจ์และวิดีโอตลกขบขัน

การเสพติดโซเชียลมีเดีย และผลกระทบต่อสภาวะทางจิต

ดร.​คาร์ล มาร์ซี (Dr. Carl Marci) จิตแพทย์ที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจเนอรัล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานแอปฯ TikTok ของคนในสหรัฐฯ ว่า การดูวิดีโอขนาดสั้นนานๆ ส่งผลให้เกิดอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) พวกเขาจะเสียความสามารถในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิเป็นเวลานานอย่างการเรียนหรือการอ่านหนังสือ ไปจนถึงการจัดลำดับความสำคัญและวางแผนเรื่องต่างๆ ในชีวิต

นอกจากนี้ การศึกษาผลสแกนสมองของผู้ร่วมทดลองที่ใช้งาน TikTok ยังแสดงให้เห็นถึงอาการเสพติดของสมอง เพราะพวกเขาไม่สามารถหยุดความต้องการที่จะดูวิดีโอต่อได้ จนจิตแพทย์หลายคนให้คำนิยาม TikTok ว่า คือเครื่องผลิตสารหลั่งความสุข (Dopamine Machine) ด้วยระบบอัลกอริทึมที่คำนวณและส่งคอนเทนต์ที่ชอบจำนวนมหาศาลขึ้นมาบนหน้าจอให้ได้ดื่มด่ำจนลืมเวลา

แต่ในเรื่องร้ายก็ยังมีเรื่องดี เพราะวัยรุ่นอเมริกันจำนวนไม่น้อยเริ่มตระหนักถึงปัญหาจากการใช้งานแอปฯ ชื่อดังแล้ว

สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ (New York Post) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก พวกเขาส่วนใหญ่พูดเหมือนกันว่าการอยู่บนแอปฯ นี้นานๆ เหมือนเอาเวลาชีวิตไปโยนทิ้ง และพวกเขาหลายคนต่างรู้สึกถึงการแข่งขันเปรียบเทียบกันของคนในแพลตฟอร์มนั้น การดูวิดีโอคนอวดข้าวของราคาแพงและชีวิตที่หรูหราทำให้พวกเขารู้สึกแย่กับตัวเอง หลายคนจึงตัดสินใจลบแอปฯ TikTok ออกจากมือถือ และเลือกใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่นร่วมกับเพื่อนในโลกออฟไลน์ โดยที่ไม่กลัวว่าจะตามเทรนด์ไม่ทัน

ที่มา:

https://www.cbsnews.com/news/tristan-harris-social-media-political-polarization-60-minutes-2022-11-06/

https://nypost.com/2022/04/08/tiktoks-impact-on-childrens-brains-likened-to-candy-store/

https://nypost.com/search/tiktok+waste+time/

https://www.adchina.io/douyin-vs-tiktok/

Tags: , ,