มองย้อนเหตุการณ์กราดยิงอย่างอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักจะเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร ล่าสุดกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้เกิดคำถามว่ามีปัจจัยใดบ้างสามารถเป็นสาเหตุที่ประกอบสร้างความวิปริตในสังคมได้ถึงเพียงนี้

น่าสงสัยเหลือเกินว่าเกิดอะไรขึ้นกับ สิบตำรวจเอก ปัญญา คำราบ อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับราชการตำรวจ ผบ.หมู่ ป้องกันและปราบปราม สน.นาวัง ที่รับราชการตำรวจมาเกือบ 10 ปี ก่อนถูกจับเป็นคดีความและได้รับโทษต้องออกจากราชการเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เพราะพบว่าเขาครอบครองยาเสพติดเมทแอมเฟตามีนเม็ดเดียว จนก่อเหตุร้ายแรงเช่นนี้ ในตอนแรกสังคมพุ่งประเด็นไปที่ปัญหายาเสพติด แต่กลับกลายว่าผลตรวจไม่พบสารเสพติดในตัวผู้ก่อเหตุ แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน

แม้ว่าสาเหตุและแรงจูงใจยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งสังคมกำลังถอดบทเรียน พุ่งเป้าไปยังปัญหาด้านยาเสพติด ปัญหาด้านสุขภาพจิตตำรวจ และระเบียบเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนของตำรวจเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เราไม่อาจมองข้ามปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ สภาพแวดล้อมและการบ่มเพาะเขาขึ้นมา

“เขาเป็นมนุษย์ที่พังพินาศอย่างหนัก จนวางแผนจะเอาคืนทุกคน”1

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจที่ ‘เกลียดชังต่อสังคม’ ของผู้ก่อเหตุที่ถูกกดทับด้วยความอยุติธรรมมาอย่างยาวนานและรุนแรง อีกทั้งสังคมเพิกเฉยต่อความเจ็บปวดในจิตใจจากความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น2 ทำให้เกิดความเคียดแค้น ชิงชัง และต้องการให้บุคคลอื่นเจ็บปวดเช่นเดียวกับเขา

การรับราชการตำรวจซึ่งมีความเสี่ยงสูงและความตึงเครียดในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่น้อย ทำให้อัตราฆ่าตัวตายของตำรวจมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า3 อีกทั้งอัตราเสพติดสุรายังสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า4 ชวนให้วิเคราะห์ปัจจัยทางวัฒนธรรมการทำงานของตำรวจในโรงพักว่าวัฒนธรรมในสถานที่ทำงานของเขาอาจมีเหตุปัจจัยอย่างไรบ้างที่อาจนำไปสู่ความเลวร้ายนี้

 

วัฒนธรรมเชิงโครงสร้างสถานีตำรวจ

โครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นระบบบังคับบัญชาคล้ายแบบทหาร-กองทัพ และรวมศูนย์บังคับบัญชา โดยมีสั่งการแนวดิ่งแบบบนลงล่าง (Top down) เบ็ดเสร็จ สำหรับการวางระบบในโรงพักได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการกำกับดูแล ตรวจสอบ ประเมินการทำงานรวมถึงการลงโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง5 จึงสามารถสั่งลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้โดยง่าย ทำให้การขัดคำสั่งหรือขัดใจผู้บังคับบัญชาเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก อาจเรียกได้ว่าการบริหารงานของตำรวจมีลักษณะแบบเผด็จการ

เมื่อระบบนี้อยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบทุนนิยม จึงได้เปลี่ยนผันมาเป็นลักษณะ ‘วัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์เชิงแลกเปลี่ยน’6 เนื่องจากในสถานีตำรวจยังมีการเกื้อหนุนกันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับใต้บังคับบัญชาเป็นแบบอุปถัมภ์

ด้านการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชา ในทางการทำงานก็สมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เช่น นายเชื่อใจฝากงานให้จัดการได้ อีกทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาก็อาจได้การประเมินที่ดีและประโยชน์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโยกย้าย หรือแม้แต่การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในความผิดพลาดบางประการ แต่หากเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่เชื่อฟังนาย มีปัญหาขัดแย้ง ขัดใจ ก็อาจส่งผลในทางที่ไม่ดีนักทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การถูกจับจ้อง เขม่น ความผิดเล็กน้อยก็อาจทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ฯลฯ

วัฒนธรรมและโครงสร้างเหล่านี้ผลักดันให้ตำรวจใต้บังคับบัญชาจะต้อง ‘อยู่เป็น’ ภายใต้การทำงานที่มีความกดดันและความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอน โดยอยู่ใน ‘ภาวะจำยอม’ ต่อระบบบังคับบัญชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขัดขืนก็จะเกิดความลำบาก แม้ว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งก็ตาม จึงไม่แปลกใจที่มีตำรวจใต้บังคับบัญชาจำนวนมากที่รู้สึกอึดอัดกับระบบและก่อให้เกิดความเครียดสะสมจากการทำงาน แต่หลีกเลี่ยงการเรียกร้องที่อาจนำไปสู่การมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา

นอกจากนี้ยังมีสภาวะแวดล้อมที่พยายามสร้างให้ตำรวจในองค์กร ‘เข้มแข็ง’ ต่อระบบเหล่านี้ด้วยกระบวนการขัดเกลาทางสังคมในคนกลุ่มอาชีพเดียวกันให้เกิดความเข้มแข็งทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมและการถูกยอมรับเข้าไปเป็นหนึ่งในกลุ่มตำรวจที่มีบุคลิกภาพ กระบวนการคิด ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เป็นที่ยอมรับในแวดวง จึงทำให้มีการผสมผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรม เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างกลมเกลียว และช่วยเหลือเกื้อกูลค้ำจุนกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างลักษณะทางวัฒนธรรม ‘รักษาความลับ’ ที่เป็นกลไกสำคัญในการอยู่ร่วมกัน ปกปิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากสายตาภายนอก แยกตัวออกจากสังคมและมักจะคบค้าสมาคมกันเอง ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตำรวจ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือกันและกัน ปิดบังความผิดพลาดหรือแม้แต่การได้รับการปกป้องจากผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ ตำรวจมักจะทนไม่ได้ต่อพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากไปจากบรรทัดฐานสังคม7

ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรตำรวจมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมสูงมาก และแยกตัวออกจากสังคมทั่วไป เมื่อกลุ่มวัฒนธรรมตำรวจมีบรรทัดฐานทางความประพฤติอย่างหนึ่ง แต่หากตำรวจเกิดละเมิดต่อกฎหรือลักษณะทางวัฒนธรรมหรือบรรทัดฐานอย่างใด หรือแม้แต่การไม่เป็นที่ชื่นชอบของนาย ก็ย่อมถูกกลุ่มตอบโต้ ทำให้เป็น ‘แกะดำ’ เสียเพื่อนฝูงหรือกลุ่มความสัมพันธ์ และถูกขับจากกลุ่ม เมื่อสายใยทางสังคมขาดสะบั้นลง สิ่งที่ตามมาคือพฤติกรรมเบี่ยงเบนและอาจนำไปสู่การเป็นอาชญากร

 

สายใยทางสังคมขาดสะบั้น – ความเกลียดชังสังคม

ปรากฏการณ์ที่ ส.ต.อ.ปัญญาถูกให้ออกจากราชการเพียงเพราะครอบครองยาเสพติดเพียงเม็ดเดียว ซึ่งเป็นโทษที่เล็กน้อย สร้างความรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่ง เนื่องจากหากในองค์กรที่มีความสัมพันธ์อันดีในโรงพัก เรื่องเท่านี้ก็อาจไม่เป็นคดีความและสามารถ ‘เป่า’ ได้ไม่ยาก8 จนความน่าสนใจในการศึกษาอย่างละเอียดถึงความสัมพันธ์ในโรงพักของ ส.ต.อ.ปัญญา ว่ามีความสัมพันธ์กับบุคลากรต่างๆ ในโรงพักในลักษณะใดกันแน่

คาดได้ว่าอาชญากรรมเป็นผลมาจากความคับข้องใจ ความเครียดจากสภาวะแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ ความทุกข์ทรมานของผู้ถูกกดทับทางสังคมอย่างรุนแรงโดยต่อสู้ไม่ได้ รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งสายใยทางสังคมซึ่งเป็นปัจจัยควบคุมพฤติกรรมของเขาได้หายไป เขาไม่มีใครที่จะให้ความสำคัญหรือมีเป้าหมายทางอาชีพการงานอีกต่อไป เรียกได้ว่าเมื่อเขาล้มเหลวจากการทำงาน ทำให้คุณค่าในการใช้ชีวิตของเขาขาดหายไป ก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังต่อสังคมอย่างรุนแรง

วัฒนธรรมองค์กรตำรวจที่มีระบบบังคับบัญชาคล้ายทหาร สามารถสร้างความกดดันในการทำงานและความไม่แน่นอนให้กับผู้ปฏิบัติงานได้มาก ทั้งผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการประเมิน ติดตาม ตรวจสอบ หรือแม้แต่พิจารณาลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะจำยอมโดยไม่กล้าโต้แย้ง ส่งผลให้เกิดความเครียดในการทำงานได้มาก

ความล้มเหลวด้านการทำงานในวัฒนธรรมตำรวจ จนถึงขั้นให้ออกจากราชการตำรวจ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับผู้บังคับบัญชาหรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดจากการกดทับทางสังคมสะสม ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงานในองค์กรตำรวจ ประกอบกับปัจจัยความเครียดอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์วิปริตเช่นนี้

การทบทวนความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในองค์กรตำรวจยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตใจของตำรวจอีกจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะความเครียด กดดัน และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือการก่ออาชญากรรมลักษณะเดียวกันนี้ในอนาคต

 

เชิงอรรถ

1 เดชา ปิยะวัฒน์กูล, “มีเรื่องLive Ep.55 – “เหตุกราดยิง” อาชญาวิทยา –​ จิตวิทยา,” 7 ต.ค.2565, https://www.youtube.com/watch?v=C5AfTvu6w2c.

2 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “วัฒนธรรมองค์กรตำรวจ และวัฒนธรรม “โรงพัก”,” 9 ต.ค.2565, https://www.facebook.com/photo/?fbid=481643784008243&set=a.472177154954906

3 Workpointtoday, “เปิดสถิติ “ตำรวจไทย” ฆ่าตัวตาย,” 26 ก.พ. 2561, https://workpointtoday.com/เปิดสถิติ-ตำรวจไทย/#:~:text=และเพราะตำรวจมีอาวุธ,หนี้สิน%20และปัญหาเรื่องงาน.

4 นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล, “มีเรื่องLive Ep.55 – “เหตุกราดยิง” อาชญาวิทยา –​ จิตวิทยา,” 7 ต.ค.2565, https://www.youtube.com/watch?v=C5AfTvu6w2c

5 คำสั่งของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2559 เรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน, ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559, https://library.parliament.go.th/sites/default/files/assets/files/give-take/content_ncpo/NALT-ncpo-head-order7-2559.pdf.

สังศิต พิริยะรังสรรค์, “กระจายอำนาจให้ตำรวจจังหวัด สลัดอุดมการณ์ศักดินา เปลี่ยนโรงเรียนตำรวจเป็น Police Academy,” ใน โรดแมปปฏิรูปตำรวจ, ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร (กรุงเทพ: โรงพิมพ์เดือนตุลา), 17-19.

7 เทิดสยาม บุญเสนา, “วัฒนธรรมตำรวจกับการปฏิบัติหน้าที่สอบสวน,” 20 มี.ค. 2560, https://thamaaya.wordpress.com/2017/03/20/วัฒนธรรมตำรวจกับการปฏิ/.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “วัฒนธรรมองค์กรตำรวจ และวัฒนธรรม “โรงพัก”,” 9 ต.ค.2565, https://www.facebook.com/photo/?fbid=481643784008243&set=a.472177154954906.

Tags: , , , , , , , , , , , ,