“สำหรับ 6 ตุลาคม 2519 สิ่งที่ต้องทำก็คือ ผมไม่อยากเห็นมันเกิดขึ้นอีกแล้ว ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”
เป็นความมุ่งหมายของ ‘บดินทร์ สายแสง’ ผู้ที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นของ ‘6 ตุลาฯ’ ที่แม้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพข่าว บันทึกส่วนบุคคล ปากคำของผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ จนถึงงานวิชาการต่างๆ
แต่บดินทร์ตั้งคำถามเพิ่มเติมถึงประเด็นอื่นๆ เพื่อมองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ให้กว้างขวางขึ้น ผ่านอีก 2 ตัวละครหลัก คือ ‘ซีไอเอ’ (CIA) และ ‘พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย’ (พคท.)
สิ่งที่บดินทร์ค้นพบเบื้องต้น มีทั้งความเคลื่อนไหวของซีไอเอที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ และเอกสารการประชุมของ พคท. ที่สะท้อนว่าอาจรู้ล่วงหน้าถึงการล้อมปราบที่จะเกิดขึ้น
‘จิ๊กซอว์’ เหล่านี้ อาจทำให้ภาพของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชัดเจนขึ้น ด้วยความหวังท้ายสุดที่จะให้เราได้คำตอบว่า ใครคือคนสั่งการและอนุญาตให้มีการล้อมปราบในวันนั้น
ทำไมคุณถึงสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ตอนที่ผมทำภาคนิพนธ์ ตอนเรียนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นได้ทำเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งใช้มาจนถึงปี 2534 (ก่อนถูกยกเลิกไปโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. ที่ทำรัฐประหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534) ตอนทำวิจัยเรื่องนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นมันมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาก เช่น มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ซึ่งถือเป็นประชาธิปไตย และการเมืองตอนนั้นก็เปิดกว้างมาก
แต่หลังจากนั้นเพียงสามปี ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ชัยชนะของประชาชนมีได้แค่ไม่กี่ปี ก็ถูกพลิกกลับด้าน มีการฆ่ากันในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็มีการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้รัฐบาลขวาจัด ซึ่งก็ถูกรัฐประหารล้มไปในปี 2520 การเมืองช่วงนั้นจึงมีความผันผวนเยอะมาก
หลังจากนั้นในปี 2521-2534 แม้จะมีความพยายามก่อกบฏ หรือความพยายามรัฐประหาร แต่ก็ไม่สำเร็จ เสน่ห์ของการเมืองหลัง 14 ตุลาฯ อีกอย่างคือ ความผันผวนทางการเมือง ขบวนการนักศึกษา พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) และอีกอย่างก็คือหลังจากนั้นดูเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ไปเชื่อมโยงกับการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ด้วย
ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเห็นว่าข้อมูลในช่วง 6 ตุลาคม 2519 น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาในแง่ว่าใครทำอะไร และเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น เป็นการศึกษาปรากฏการณ์นี้แบบโดดๆ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามันเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงถึงตาย และมันไม่ได้ทำลายชีวิตคนเท่านั้น มันยังทำลายความจริงไปด้วย
ดังนั้น ผมจึงอยากต่อจิ๊กซอว์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังทำได้ไม่ครบ เพราะความขัดแย้งนี้ยากจะหาส่วนประกอบความจริง แต่ผมเห็นว่ามันมีรูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงบริบทสงครามเย็นของโลกในตอนนั้นด้วย
บริบทสงครามเย็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไร
มีนักวิชาการชื่อ รูดอล์ฟ รัมเมล (Rudolph Rummel) ซึ่งสอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาเรื่อง Democide ซึ่งเป็นนิยามของการฆาตกรรมโดยรัฐบาล (Murder by Government) โดยเจ้าหน้าที่กระทำการภายใต้อำนาจของรัฐบาล กล่าวคือพวกเขาปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง หรือด้วยการอนุมัติโดยชัดแจ้งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยคำนี้มันมีความหมายกว้างกว่าศัพท์ทั่วไป คือมันกินรวมถึงการสังหารพลเรือนโดยรัฐที่มีนิยามครอบคลุมการปราบปรามหลายรูปแบบ
รัมเมลศึกษาความรุนแรงที่เกิดจาก Democide นี้ และพบว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีสูงมาก ก่อนจะลดลงไปในช่วงเวลาต่อมา แล้วมาพุ่งสูงในทศวรรษ 1960-1970 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็น และตรงกับเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมของไทยพอดี
สิ่งที่ผมสนใจคือไปศึกษารูปแบบความรุนแรงที่รัฐกระทำในประเทศอื่นๆ แล้วเอามาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในไทยและของต่างประเทศ เพราะมันจะทำให้เห็นภาพว่า ทำไมช่วงทศวรรษ ’70 จึงมีความรุนแรงโดยรัฐเกิดขึ้นถี่ขนาดนี้
ไม่เพียงเท่านั้นในปี 1975-1976 (พ.ศ. 2518-2519) ทั่วทั้งโลกมีความพยายามจะก่อรัฐประหารสามสิบสองครั้ง ซึ่งถี่มากขึ้นกว่าจากปีก่อนหน้านั้น และหลังจากช่วงเวลานั้น ก็ยังไม่มีตัวเลขการพยายามก่อรัฐประหารที่สูงเท่านี้เลย นี่ก็เป็นความน่าสนใจที่จะต้องเอาบริบทสงครามเย็นมาดูว่ามันเกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในไทยด้วย
คุณคิดว่าเพราะอะไรจึงทำให้ช่วงทศวรรษ 1970 มีความรุนแรงจากรัฐสูงขนาดนั้น
อาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้น การแข่งขันทางอุดมการณ์ในสงครามเย็นเข้มข้นมาก ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายคอมมิวนิสต์ บางประเทศมีผู้เสียชีวิตรวมหลักล้านคน และในช่วงนั้นมันมีกระแสใหญ่สองอย่างเกิดขึ้นทั่วโลก
อย่างแรกคือการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และอย่างที่สอง คือการปราบปรามผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์
ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ มันก็จะมีการปราบปรามผู้คิดต่าง ทั้งในยุโรปตะวันออก ในสหภาพโซเวียต และในจีน
แต่ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสม์ มันมีการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วย เช่น ในอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1965-1966 ซึ่งถือเป็นการ Democide ด้วย กล่าวคือมันมีการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีสมาชิกหลายล้านคน ตรงนี้มีหลักฐานชัดเจนว่า สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาหรือซีไอเอให้การสนับสนุนด้วย
การที่ซีไอเอสนับสนุนทางการอินโดนีเซียในการล้อมปราบคอมมิวนิสต์นั้น ก็เพราะว่าหากอินโดนีเซียเปลี่ยนระบอบการปกครอง พวกเขาจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากสุดเป็นลำดับ 3 ของโลกที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสม์ รองจากจีนและสหภาพโซเวียตในตอนนั้น
คนมักมองแต่เหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาพยายามสกัดกั้นการลุกลามของคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม แต่การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียก็สำคัญไม่แพ้กันด้วย
ทั้งนี้ ผมมีข้อสังเกตจากหนังสือของ วินเซนต์ เบวินส์ (Vincent Bevins) ซึ่งเป็นสื่อมวลชนและเขียนหนังสือเรื่อง Jakarta Method ซึ่งชี้ให้เห็นบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการหนุนหลังอินโดนีเซียปราบคอมมิวนิสต์ สิ่งที่น่าสนใจคือมีซีไอเอคนหนึ่งชื่อว่า จอห์น พี. ลอนแกน (Jonh P. Longan) ซึ่งเป็นคนได้รับอนุญาตให้การสนับสนุนแก่อินโดนีเซีย และช่วงเวลานั้นเขาประจำการอยู่ในประเทศไทยด้วย
จอห์น พี. ลอนแกน มีบทบาทอย่างไรในการปราบปรามคอมมิวนิสต์
ต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้หมายความว่าเขาอยู่เบื้องหลังทุกเรื่องนะครับ แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงขณะที่อินโดนีเซียมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์นั้น เขาอยู่เมืองไทย โดยเข้ามาช่วงปี 1950-1960 และระหว่างนั้นก็เดินทางไปลาตินอเมริกา ซึ่งก็รู้อยู่ว่ามีรูปแบบการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงเช่นกัน
อาจเป็นไปได้ว่า ซีไอเอเห็นรูปแบบการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียที่ได้ผล จึงกลายเป็นอินโดนีเซียโมเดลที่ถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะลาตินอเมริกา ก่อนที่จอห์นจะยุติบทบาทนี้ไปในปี 1973 (พ.ศ. 2516) ที่สำคัญเขาเคยเป็นตำรวจตระเวนชายแดนในสหรัฐอเมริกา (US. Border Patrol) มาก่อนด้วย และอย่างที่เราทราบคือเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ของไทย กำลังที่ใช้ในการปราบปรามก็คือกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)
สิ่งที่ผมอยากรู้ก็คือ ในช่วงเวลานั้น ตชด. ของไทยมีการเรียนการสอนอะไรบ้าง เพื่อจะได้เอาไปเปรียบเทียบกับกองกำลังในประเทศต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม
ที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจว่าในช่วงสงครามเย็นนั้น มันยังมี ‘สงครามตัวแทน’ (Proxy War) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องเข้าใจว่าก่อนเกิด 6 ตุลาคม 2519 เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาที่มาประจำการที่ไทยก็เคยเป็นซีไอเอเก่ามาก่อน แม้ตอนนั้นจะมีการถอนทหารอเมริกันออกไปแล้ว แต่มันก็ยังมีสงครามลับที่ยังทำกันอยู่ และอเมริกาก็ลงทุนในประเทศไทยเยอะมาก
ช่วงสงครามเย็น สหรัฐอเมริกามีบทบาทอะไรในไทยบ้าง
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือการสร้างฐานทัพ เช่น ค่ายรามสูร จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีฐานเรดาร์ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลกไว้ดักฟังความเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้าน ผมอยากตั้งข้อสังเกตนิดเดียวนะว่า ทำไมมันไม่มีการซุ่มโจมตีหรือปะทะกันของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อฐานทัพที่อเมริกาสร้างไว้เลย หรืออาจจะมี แต่ก็น่าจะน้อยมาก ซึ่งจะต้องศึกษาหาข้อมูลหรือถามจากผู้รู้ต่อไป
เราอาจจะมองว่า ในช่วงเวลานั้น ประเทศเพื่อนบ้านเราตกเป็นคอมมิวนิสต์หมดแล้วในปี 2518 ทั้งเวียดนาม ลาว หรือกัมพูชา ทำให้เห็นว่าอินโดนีเซียโมเดลที่ใช้ยับยั้งการรุกคืบของคอมมิวนิสต์มันไม่ได้ผลในประเทศเหล่านั้นหรือไม่ หรืออันที่จริงมันไม่ได้มีการใช้โมเดลดังกล่าว
แต่ก็ต้องอย่าลืมนะว่า ที่สุดแล้วประเทศไทยเรา ไม่ได้ตกเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เป็นโดมิโนที่ล้มไปตามทฤษฎีโดมิโนที่ว่า หากประเทศใดเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นก็จะเป็นคอมมิวนิสต์ตาม ล้มกันเหมือนตัวโดมิโน ซึ่งเราก็ต้องเอามาเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ก็อาจจะเห็นภาพ 6 ตุลาคม 2519 ได้ชัดมากขึ้น
บทบาทของซีไอเอกับความรุนแรงในไทย มีความชัดเจนขนาดนั้นเลยหรือ
ในไทยนั้นยังไม่มีหลักฐาน แต่ในลาตินอเมริกา มันมีหลักฐานที่ชัดแจ้ง เช่น ผมเข้าใจว่าซีไอเอรู้ช่วงเวลาที่จะมีการรัฐประหารวันไหน รู้ว่าจะมีการล้อมปราบเมื่อไร ซึ่งหากเราดูบริบทการเมืองช่วงนั้น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซีไอเออาจมีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องแค่ไหนหรือไม่ อันนี้เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกต เพราะมันยากที่จะปฏิเสธว่ามหาอำนาจโลกไม่มีบทบาทในช่วงนั้นเลย
อย่าลืมว่ารัฐไทยก็ไม่ได้เข้มแข็งพอที่จะต้านทานคอมมิวนิสต์ได้ และ พคท.เองก็สู้ไม่ไหว หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ เพียงแต่ของ พคท. นั้น ทางจีนก็ไม่ได้ให้ลำดับความสำคัญขนาดนั้น ไม่เหมือนกับที่อเมริกาให้ความสำคัญกับไทยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์
สิ่งที่อยากชี้แจง คือในช่วงเวลานั้นไม่ใช่เพียงซีไอเอเท่านั้นที่มาปฏิบัติงาน แต่ของเรายังมีการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์จากหน่วยงาน The United States Information Service หรือ USIS (ยูซิส) อีกด้วย
ทั้งหมดนี้เราอาจจะเห็นปฏิบัติการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่มีรูปแบบคล้ายๆ กันทั่วโลก เมื่อย้อนมอง 6 ตุลาคม 2519 ต้องเข้าใจว่ามันมีการมองว่านักศึกษาไม่ได้เรียกร้องประชาธิปไตยแบบตอนนี้ แต่เป็นพวกฝ่ายซ้าย หากเรามองในบริบทของประเทศที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เราก็จะเห็นบรรยากาศที่หลีกเลี่ยงการใช้กำลังความรุนแรงได้ยาก
อย่างไรก็ดี ด้วยความกลัวผสมกับบริบทอินโดจีนแตก มีโฆษณาชวนเชื่อ มีการสร้างความกลัวในสังคมไทย มันก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมา ซึ่งผมขอย้ำเลยนะว่า การฆ่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
ไม่เพียงซีไอเอหรืออเมริกาเท่านั้น คุณยังสนใจบทบาทของ พคท. ในช่วงเวลานั้นด้วย
ในเรื่องเล่ากระแสหลักของ 6 ตุลาคม 2519 จะบอกว่า พคท. ไม่ได้มีบทบาทในช่วงการตัดสินใจในเหตุการณ์วันนั้น นอกจากแค่ชี้นำทางความคิดต่อนักศึกษา แต่ผมมีข้อสังเกตว่าในเดือนพฤษภาคม 2519 คือห้าเดือนก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น ทาง พคท. มีมติปี 2519 ที่มีผลใช้งานก่อน 6 ตุลาฯ คือให้ยกระดับการต่อสู้ ให้ตัวพรรคมีบทบาทชี้นำแนวร่วมมากขึ้น
เอกสารตรงนี้ ผมต้องการจะไปอ่านตัวต้นฉบับ ที่ผ่านมาก็อ่านผ่านงานคนอื่น หรือการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมตินี้ ซึ่งมักอธิบายว่า มติดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติจริงๆ ก็หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไปแล้ว
ดังนั้นมีความน่าจะเป็นว่า พคท. รู้ดีว่าจะเกิดความรุนแรงหรือการปราบปรามครั้งใหญ่ขึ้นแน่ แต่ไม่รู้วันไหน แต่ผมต้องได้ไปอ่านเอกสารต้นฉบับนี้ก่อน ซึ่งอาจจะทำให้รู้ว่า พคท. มีบทบาทในช่วงก่อน 6 ตุลาฯ ขนาดไหน คืออาจจะมีบทบาทมาก อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุขึ้น ตรงนี้ต้องได้ไปศึกษาดูก่อน
การศึกษาบทบาทของ พคท. ของคุณจะนำไปสู่คำตอบอะไร
บทบาทของ พคท. จะช่วยให้เห็นภาพบทบาทมหาอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งในไทยช่วงเวลานั้นว่ามีมากน้อยแค่ไหน และแน่นอนก็จะได้เห็นอิทธิพลของ พคท. ด้วย ทั้งหมดนี้มันจะทำให้เห็นภาพที่กว้างมากขึ้นในวันที่ 6 ตุลาฯ
คุณกลัวไหมว่า ถ้าทำวิจัยในแนวทางนี้ อาจถูกวิจารณ์หรือถึงขั้น ‘ทัวร์ลง’ ได้ เพราะหลายอย่างดูเป็นแนวคิดแบบสมคบคิด (Conspiracy Theory) เสียเป็นส่วนใหญ่
อาจารย์ไชยันต์ (ไชยันต์ ไชยพร – อาจารย์ที่ปรึกษา) บอกว่า อยากให้ทำงานวิจัยเหมือนมนุษย์ต่างดาวมองมายังโลกในช่วงเวลานั้นว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ให้เราไปดูว่าช่วงสงครามเย็น มันเป็นอย่างไร แล้วค่อยๆ มองเจาะลึกเข้ามา เราก็จะเห็นว่าก่อนจะถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีปฏิบัติการของมหาอำนาจมาเยอะมาก เพราะเราอาจจะเห็นได้ว่า บางที 6 ตุลาคมอาจจะยังไม่ใช่จุดสูงสุดของสงครามเย็นในไทยก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี งานวิจัยของคุณก็อาจถูกวิจารณ์จากคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์วันนั้น หรือคนที่ศึกษาเหตุการณ์นี้มาก่อน และมีมุมมองที่แตกต่างจากคุณ
ผมอยากทำให้ดีที่สุดในเรื่อง 6 ตุลาคม 2519 เพราะเวลาเราพูดถึงการเยียวยานั้น มันมีทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคม ซึ่งมันต้องทำเรื่อยๆ วิธีที่ดีสุดก็คือการคืนความจริง ซึ่งใครจะพอใจหรือไม่พอใจ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่อยากให้มองว่าถ้าผมมอง 6 ตุลาฯ ในมุมกว้าง เราก็อาจจะต่อจิ๊กซอว์ได้มากขึ้น ผมอยากทำความจริงในวันนั้นให้ปรากฏ
ถ้าเราทำได้ก็อาจรู้ว่าใครเป็นคนสั่งลุยในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
อีกอย่าง ข้อมูลบทบาทอเมริกาในอดีตเอง ที่ผ่านมาก็คลุมเครือ พอเวลาผ่านไป ก็มีข้อมูลออกมาใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะได้เห็นสงครามตัวแทน ปฏิบัติการลับ ปฏิบัติการที่เป็นทางการมากขึ้น ก็จะได้เห็นอะไรชัดกว่าเดิม
สุดท้ายงานวิจัยของคุณจะนำไปสู่อะไร
ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลกช่วงนั้น มาเทียบกับ 6 ตุลาฯ ซึ่งต้องไปดูว่าเกิดที่ไหน เกิดกี่ครั้ง แต่อย่างที่บอกช่วงทศวรรษ ’70 นั้น มันมีความรุนแรงเกิดขึ้นถี่มาก ถ้าเราดูระดับการใช้ความรุนแรง ดูจำนวนคนตาย ทั้งหมดนี้มันอาจหาคำตอบได้ว่า มันมีเงื่อนไขหรือปัจจัยอะไรที่ให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น ทำไมในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแบบพุทธ แต่กลับมีความรุนแรงแบบนี้ได้อย่างไร มันมีกระบวการบ่มเพาะ ลดทอนความเป็นคนอย่างไร และทำไมถึงเกิด 6 ตุลาคม 2519 ขึ้น
คำตอบที่คุณหวังจะได้จากการศึกษานี้คืออะไร
ผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก ไม่อยากให้มันซ้ำรอย เราจะได้เห็นว่า อะไรที่ทำให้เป็นแบบนี้ ฟางเส้นสุดท้ายอยู่ตรงไหน ทำไมมันนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เกิดการต่อสู้มีคนเสียชีวิตได้อย่างไร
ทุกอย่างนี้จะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย ให้เราได้พยายามเรียนรู้บทเรียนจากมัน
นี่คือหน้าที่ของนักวิชาการ คือมองหลายๆ มุม มันอาจทำให้เข้าใจ 6 ตุลาฯ ได้ดีขึ้น และจะได้เห็นอะไรชัดเจนกว่าเดิม
เวลาเรานึกถึงบทบาทอเมริกาในประเทศไทย เราจะเห็นว่า ‘พญาอินทรี’ มีอิทธิพลมาก ดังนั้นในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ก็อาจเห็นร่องรอยของมหาอำนาจเยอะกว่าเดิม
ดังนั้น หากศึกษาให้ดี เราอาจะเห็น ‘หลายพญา’ ใน 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นได้
Fact Box
- บดินทร์ สายแสง เกิดที่จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันอายุ 34 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานเป็นนักปฏิบัติการวิจัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สำหรับงานวิจัย 6 ตุลาคม 2519 นั้น บดินทร์กำลังเร่งมือวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้อย่างเต็มที่ โดยอยู่ระหว่างการเขียนโครงร่าง และจะพร้อมเปิดเล่มในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเขามุ่งให้ครอบคลุมทุกเรื่องและสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะเขามองว่า หากทำให้สังคมเข้าใจเหตุการณ์ในวันนั้นได้ ก็อาจทำให้สังคมเข้าใจเรื่องสันติวิธีที่สังคมลดทอนคุณค่าและมองข้ามมาโดยตลอดมากขึ้น