โศกนาฏกรรมวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 หรือเหตุการณ์ May18 เกิดขึ้นจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนที่กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีนักศึกษาประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน ภายหลังการต่อสู้ครั้งนี้ถูกเรียกว่า ‘การลุกฮือของประชาชนกวางจู’ (Gwangju Democratic Uprising) เพื่อรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลของนายพล ชุน ดู-ฮวาน (Chun Doo-hwan) ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกและเรียกร้องการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

เผด็จการและกฎอัยการศึก

ย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหารของนายพลชุน ดู-ฮวาน ก่อนหน้านี้ปาร์ก จุง-ฮี (Park Chung-hee) ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1961-1979 เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 18 ปี ภายใต้ระบบยูชิน พร้อมกับยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธาธิบดีอีกด้วย ภายหลัง ปาร์ก จุง-ฮี ถูกลอบสังหาร แต่ระบบที่เขาสร้างไว้กลับไม่ล่มสลายตาม เกาหลีใต้ยังปกครองด้วยระบอบเผด็จการ มิหนำซ้ำการตายของเขายังนำไปสู่การประกาศใช้กฎอัยการศึกอีกด้วย จนภายหลังเกิดการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจอีกครั้งโดย ชุน ดู-ฮวาน หัวหน้ากองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร กระแสการต่อต้านเผด็จการและกฎอัยการศึกกลับลุกฮือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

10 วันแห่งการล้อมปราบฆ่าประชาชน

วันที่ 16 พฤษภาคม 1980 คืนก่อนวันล้อมปราบที่รัฐบาลเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า ‘การปราบจลาจลซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง’ มีการบันทึกว่ามีนักศึกษา นักเรียน และประชาชนเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านมากถึง 5 หมื่นคน แต่การชุมนุมครั้งนี้กลับถูกสลายโดยรัฐบาล จนผลลัพธ์เต็มไปด้วยความรุนแรงและความสูญเสีย โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้สั่งการให้กองทหาร (Paratroopers) ที่ถูกฝึกฝนให้ทำสงครามโดยเฉพาะมาสลายการชุมนุมของประชาชนเป็นระยะเวลาถึง 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980

อาวุธ แก๊สน้ำตา และประชาชนมือเปล่า

การปราบปรามประชาชนยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายประชาชนที่ไม่มีอาวุธ การใช้แก๊สน้ำตา การใช้กระบอง หรือดาบปลายปืนแทงประชาชน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มจับอาวุธและใช้ความรุนแรงโต้ตอบ จนวันที่ 27 พฤษภาคม รัฐบาลส่งทหารจำนวนสองหมื่นนายเข้าล้อมปราบประชาชนครั้งใหญ่

– ชายหูหนวกอายุ 29 ปี ที่บังเอิญเดินผ่านไปบริเวณนั้นถูกกระบองของเจ้าหน้าที่ตีจนเสียชีวิต และถูกคาดการณ์ว่าเป็นผู้เสียชีวิตคนแรกในเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่กวางจู

– เด็กชายเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถูกยิงเสียชีวิต ขณะกลับไปหารองเท้าข้างหนึ่งที่หลุดหายตอนวิ่งหนีเหตุการณ์ล้อมปราบ

– ชายชราอายุ 70 ปีหลบอยู่ในบ้านอย่างเงียบๆ แต่ถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปยิงเสียชีวิต

– ผู้หญิงอายุ 19 ปี ถูกแทงที่อกและยิงซ้ำที่ท้อง

– หญิงตั้งครรภ์ 8 เดือนถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังหลบในซอยเพื่อรอสามี

ฯลฯ

จากเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนกวางจู มีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 150 ราย สูญหาย 81 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมกว่า 5,500 ราย และยังมีผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความรุนแรงทั้งร่างกายและทางจิตใจอีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริง และมีผู้สูญหายอีกจำนวนมากที่ยังไม่พบศพจนถึงทุกวันนี้

Tags: , , , ,