วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยได้รับความสนใจล้นหลาม
เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น?
แม้บางคนอาจผ่านเลยวันดังกล่าวไปอย่างไม่ได้จดจำอะไร บางคนอาจรู้สึกสะพรึงใจเมื่อได้รับรู้ ‘ข่าว’ แต่เรื่องราวเหล่านั้นก็อาจจะค่อยๆ จางหายไปแล้วจากความทรงจำ
แต่เชื่อว่ายังมีอีกไม่น้อยคนที่ยังคงจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ชัดเจน เหตุการณ์ในรัฐสภาที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายเรื่อง ‘การค้ามนุษย์’ บรรยายถึงความน่าสะอิดสะเอียนของการค้าขายคน คนที่มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึก — เหมือนกับพวกเราทุกคน แต่คนเหล่านี้กลับถูกจับยัดทะนานลงในเรือลำเล็กที่แออัด มีเพียงข้าวเปล่าหนึ่งกำมือกับพริกป่นประทังความหิวโหยในแต่ละมื้อ เบียดเสียดกันอย่างลำบากลำบน และต้องทนฟังเสียงกรีดร้องของเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ถูกกลุ้มรุมทำร้ายและทรมาน เมื่อพวกเขาขึ้นฝั่งเพื่อถูกคุมขังที่ค่ายกักกันอีกทอดหนึ่ง
การอภิปรายในวันนั้น รังสิมันต์เล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดในปี 2558 จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบค่ายกักกันโรฮีนจา บนเทือกเขาแก้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ระหว่างการนำตัว ‘เหยื่อ’ จำนวนมากมาคุมขังที่ค่ายกักกัน มีทั้งการทำร้ายร่างกาย ข่มขืน และปล่อยให้ผู้คนล้มตายโดยไม่แยแส เพราะขบวนการค้ามนุษย์มองคนเหล่านี้เป็นเพียง ‘สินค้า’ ที่สร้างรายได้ มองแค่ผลประโยชน์คือเงินจำนวนมหาศาลที่จะได้กลับมา มิหนำซ้ำยังเป็นขบวนการที่ได้รับการ ‘อนุเคราะห์’ จากตำรวจ ทหาร นักการเมือง นักธุรกิจ ในประเทศไทย การขนถ่ายคนอย่างทารุณเพื่อนำไป ‘ขาย’ เช่นนี้จึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และไม่เป็นที่เปิดเผย
“การค้ามนุษย์ไม่ได้มีแค่การบังคับไปขายบริการทางเพศ ไปเป็นแรงงานประมง เป็นขอทานอย่างที่เราคุ้นกันเท่านั้น แต่ในกรณีของชาวโรฮีนจาที่ถูกกดขี่ในประเทศเมียนมา พวกเขาต้องการอพยพไปประเทศมาเลเซีย และต้องใช้เส้นทางไทย
“จึงเป็นที่มาของขบวนการหากินกับเลือดเนื้อคน การเรียกเก็บเงินชาวโรฮีนจาหัวละหลายหมื่น จับยัดใส่เรือประมงที่ดัดแปลงไว้ ขนคนแล่นเข้าน่านน้ำไทย พอขึ้นฝั่งมาก็นำไปขังไว้ที่ค่ายลับกลางป่าเขา
“บางคนเป็นผู้หญิงก็ถูกข่มขืน สามีต้องทนดูภรรยาถูกกระทำ พ่อต้องทนดูลูกถูกชำเรา แต่ละคนถูกซ้อมทรมาน เปิดโทรศัพท์แล้วเฆี่ยนตีให้ญาติที่อยู่ปลายทางฟัง จะได้หาเงินเอามาจ่ายค่าไถ่ ถ้าไม่มีจ่ายให้ก็ปล่อยทิ้งไว้ในคอกให้อดอยาก จะป่วยจะตายไม่เป็นไร ไม่ต้องสน”
คำบอกเล่าชวนสะเทือนใจจากปากรังสิมันต์ คือส่วนสำคัญที่ทำให้เราและอีกมากมายหลายคนไม่สามารถลืมเรื่องราวน่าสลดหดหู่ที่ได้รับฟังในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นั้นได้
จาก ‘ตั๋วช้าง’ สู่ ‘ขบวนการค้ามนุษย์’
“ผมทำเรื่องค้ามนุษย์ได้เร็วเพราะผมเคยทำเรื่องตั๋วช้างกับป่ารอยต่อมาก่อน ได้รู้เลยว่าตำรวจแต่ละคนเกี่ยวพันกันอย่างไร เรื่องของตั๋วช้างจะเกี่ยวกับตำรวจที่ใช้วิชามารเพื่อให้ตัวเองได้รับการโปรโมต เพื่อให้มีตำแหน่งสูงๆ แล้วการที่จะได้ตำแหน่งเหล่านั้นบางทีก็ต้องซื้อ ต้องใช้เงิน และธุรกิจหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญคือการซื้อขายมนุษย์”
นั่นคือเหตุผลที่รังสิมันต์ขุดคุ้ยเรื่องการค้ามนุษย์ เพราะประเด็น ‘ตั๋วช้าง’ หรือ ‘ป่ารอยต่อ’ ที่เขาเคยอภิปรายไปก่อนหน้านี้ ล้วนมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหรือผลประโยชน์ และเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอมาแล้วหลายวาระ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่
“ผมอยากให้ประชาชนได้เห็นว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ถ้าสังคมไทยอยากจะเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ เราไม่สามารถลืมสิ่งเหล่านี้ได้”
เมื่อตัดสินใจที่จะทำเรื่องนี้ รังสิมันต์เริ่มพูดคุยกับ พรรณิการ์ วาณิช ผู้ที่เคยติดตามเรื่องค้ามนุษย์มาก่อน คุยกับ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อร่วมพรรค ที่เคยอภิปรายเรื่องค้ามนุษย์ในปี 2563 และนำฐานข้อมูลที่มีอยู่มาประกอบกับข้อมูลที่สืบหาเพิ่มเติม”
เป็นเวลาตลอดหนึ่งเดือนที่เขาและทีมงานหมกมุ่นกับเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ ทุกคนต้องมารวมตัวกันตั้งแต่เก้าโมงเช้า และเลิกงานตอนสองทุ่ม เป็นเช่นนี้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นการไล่ตรวจสอบเอกสาร ย้อนดูข่าวการค้ามนุษย์หลังจากปี 2558 ทั้งจากสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ ไปจนถึงการตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดที่เป็นกุญแจสำคัญของประเด็นเหล่านี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและข้อมูลที่แม่นยำสำหรับการอภิปราย
เมื่อค้นพบตัวละครมากขึ้น รังสิมันต์และทีมก็สืบค้นถึงประวัติความเป็นมาของแต่ละบุคคล พฤติการณ์ต่างๆ และความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง เหมือนการประกอบชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่จะทำให้เห็นภาพรวมของขบวนการค้ามนุษย์ได้ชัดเจนขึ้น และเขาก็พบว่า หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ขาดไม่ได้ในรื่องนี้ คือตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าสืบสวนคดีค้ามนุษย์
พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในช่วงปี 2558 คือหนึ่งในตัวละครสำคัญผู้นั้น เขาเป็นตำรวจน้ำดีที่นำทีมสืบสวนเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ แต่ในระหว่างทางการปฏิบัติหน้าที่ เขากลับพบเจอกับเรื่องราวพิสดาร เช่น การไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจหลายคนที่รับผิดชอบคดีร่วมกัน ถูกปฏิเสธเวลาขอข้อมูลประกอบคดี ถูกขัดขวางการทำงานทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
เมื่อพลตำรวจตรีปวีณจับกุมนายทหารยศพลโทผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ได้ เขากลับได้รับโทรศัพท์จาก ‘ผู้ที่อ้างว่าเป็นคนสนิทที่ทำงานให้คนใหญ่คนโต’ สั่งให้ปล่อยผู้กระทำผิดออกจากคุก ซ้ำเขายังได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับวงการสีกากีแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่า คำสั่งนั้นเปรียบเสมือน ‘ใบสั่งตาย’ และเมื่อพลตำรวจตรีปวีณตัดสินใจลาออกจากราชการตำรวจ เขาก็ได้รับโทรศัพท์จาก ‘ผู้ใหญ่’ ท่านหนึ่งที่แนะนำให้เขาถอนใบลาออก ยุติการสืบสวนเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ และกลับเข้ามารับราชการในหน่วยงานพิเศษที่ชื่อว่า สนง.นรป.904
เงื่อนงำชวนสงสัยหลายประการที่เกิดขึ้น ทำให้ท้ายที่สุด พลตำรวจตรีปวีณตัดสินใจทำเรื่องขอลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย
ระหว่างการเก็บข้อมูลการค้ามนุษย์ รังสิมันต์มีโอกาสสนทนากับนายตำรวจผู้นี้อยู่หลายครั้ง
“เราทำเรื่องนี้มาประมาณหนึ่งเดือน เพื่อที่จะนำเสนอต่อสังคมสองประเด็น อย่างแรก การค้ามนุษย์ยังไม่จบ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายคน อย่างที่สอง เราต้องการหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้คุณปวีณซึ่งเป็นตำรวจยศใหญ่ถึงพลตรี เป็นตำรวจที่ได้รับรางวัลดีเด่น สามปีซ้อน จู่ๆ ถึงตัดสินใจลี้ภัย
“ผมได้ติดต่อกับคุณปวีณเพื่อสอบถามหลายอย่าง ตั้งแต่เอกสารที่เป็นเหมือนใบสมัครเข้าสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ ไปจนถึง statutory declaration (เอกสารคำให้การเพื่อขอลี้ภัย) ซึ่งเป็นคำให้การของคุณปวีณที่สาบานต่อรัฐบาลออสเตรเลียว่า ข้อมูลทั้งหมดในเอกสารคือความจริง
“เราได้ทำให้เห็นแล้วว่าในหลายๆ โอกาส ถ้าเราคิดว่าเรื่องไหนเป็นปัญหาจริงๆ แล้วคิดว่าหลักฐานเพียงพอ ต่อให้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพียงใด เราก็จะพยายามนำเสนอต่อสังคม แม้อาจจะไม่สามารถนำเสนอแบบพูดเอ่ยชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเราพยายามบอกว่าเคยเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็เชื่อว่าภายใต้การศึกษาข้อมูลต่างๆ สังคมจะรู้ว่าเวลาเราเอ่ยเป็นรหัส เอ่ยเป็นตัวย่อ เรากำลังหมายถึงใคร”
พลตำรวจตรี ‘ปวีณ พงศ์สิรินทร์’ จากตำรวจอนาคตไกล สู่ผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย
เราถามรังสิมันต์ว่า ใช้เวลานานไหมกว่าพลตำรวจตรีปวีณจะเชื่อใจและเปิดเผยข้อมูล
เขาตอบกลับมาว่า พลตำรวจตรีปวีณอาจไม่ได้เชื่อใจในตัวเขา เพราะเขาไม่ใช่คนแรกที่ทำเรื่องค้ามนุษย์ แต่พลตำรวจตรีปวีณเชื่อใจและเชื่อมั่นในพรรคก้าวไกล
“ถ้าดูในเฟซบุ๊กวันที่กำลังจะอภิปราย ผมโพสต์รูปที่ตัวเองกำลังถือโทรศัพท์แล้วบอกว่า ‘นี่เป็นการคุยสายสำคัญครั้งสุดท้ายก่อนที่ผมจะอภิปราย’ คนก็เดากันว่าผมคงคุยกับภรรยา ซึ่งไม่ใช่ ผมคุยกับคุณปวีณเพื่อถามว่า ‘พี่รู้สึกอย่างไร’ เราไม่ได้คุยกันแค่เรื่องข้อมูล แต่เราจะวิดีโอคอลเพื่อให้เห็นหน้า เห็นแววตา เห็นว่าคุณปวีณรู้สึกอย่างไร แล้วผมกำลังรู้สึกอย่างไร และผมก็ถามเขาว่า ‘พี่กังวลไหม พี่ตื่นเต้นไหม ผมกำลังจะพูดแล้ว’
“พอผมอภิปรายเสร็จ ผมก็วิดีโอคอลหาคุณปวีณอีกครั้ง ถามเขาซ้ำเดิมว่ารู้สึกอย่างไร คุณปวีณยิ้มให้ผม บอกว่า 6 ปีที่เขาเก็บเอาไว้ได้ถูกพูดแล้ว อย่างน้อยความจริงที่เก็บเอาไว้เป็นเวลานานได้ถูกพูดถึงแล้ว เขาได้ระบายเรื่องนี้ออกไป ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น แล้วผมก็ถามต่อว่า ‘พี่กังวลเรื่องครอบครัวไหม ครอบครัวจะรู้สึกอย่างไร’ คุณปวีณตอบกลับมาว่าครอบครัวรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นผมอภิปรายเรื่องนี้”
รังสิมันต์บอกอีกว่า ตอนนั้นเขาครุ่นคิดหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการทำอย่างไรก็ได้ให้สังคมจดจำ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อย่างถูกต้อง
การที่สังคมจะจดจำนายอดีตนายตำรวจผู้นี้อย่างถูกต้อง คือการสร้างความเป็นได้ว่า วันหนึ่งความยุติธรรมจะคืนกลับสู่ผู้ถูกกดขี่ รังสิมันต์เชื่อว่าหากสังคมยังสนับสนุนพลตำรวจตรีปวีณเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนี้ สักวันหนึ่ง เขาย่อมได้รับความยุติธรรม แม้อาจจะต้องใช้เวลานาน แต่อย่างน้อยที่สุด เรื่องราวของเขาจะไม่สูญหายไปในกระแสธารประวัติศาสตร์
“ผมคิดว่าเวลา 6 ปี นานพอที่จะทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกไม่อยากจะอยู่กับความกลัวแบบนั้นอีกแล้ว เขาอยู่กับความกลัวนี้มานานเกินไปแล้ว และพอ 6 ปีผ่านไป ก็ยังรู้สึกกลัวเหมือนเดิม เผลอๆ กลัวมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะว่าสักวันหนึ่งข้อมูลเหล่านี้จะยังคงไม่เคยถูกเปิดเผย แล้วผู้คนก็จะไม่ได้จดจำคุณอย่างถูกต้องอีกต่อไป
“แต่ตอนนี้มันจะไม่สูญหายไป คนคนนี้จะไม่ถูกลืม ข้อมูลทั้งหลายจะไม่ตายไปกับเขา ตอนนี้สังคมได้รู้ว่าจริงๆ แล้วในองค์กรตำรวจก็ยังมีตำรวจน้ำดีที่พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ผมใช้เวทีในสภาฯ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า ถ้าเราอยากจะเติบโต อยากจะก้าวไปข้างหน้า เราจะจัดการกับความจริงตรงนี้อย่างไร”
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับพลตำรวจตรีปวีณ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต รังสิมันต์ตอบทันทีว่า “ต้องเปลี่ยนรัฐบาล” เพราะหากยังมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ร่วมอยู่ในรัฐบาล ความยุติธรรมยากที่จะเกิดขึ้น และปัญหาการค้ามนุษย์ก็คงจะไม่มีวันได้รับการแก้ไขแน่นอน
“กรณีที่จะทำให้คุณปวีณกลับบ้านได้มีอย่างเดียวคือ ทำให้เขามั่นใจว่าตัวเองจะปลอดภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับการที่ต้องทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ ถ้าเราทลายเครือข่ายได้ คุณปวีณก็สามารถจะกลับมาบ้านได้อย่างปลอดภัย
“เราจำเป็นต้องปราบอย่างจริงจัง ขยายผลจากสิ่งที่คุณปวีณทำ แล้วไปดูว่าคนอย่างพลโทมนัส (พลโท มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก หนึ่งในผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์ที่เสียชีวิตในเรือนจำ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564) ที่เป็นคนหนึ่งที่ได้เงิน เขาจะส่งต่อเงินไปที่ไหน แต่พอจะปราบอย่างจริงจังคนก็ถามว่า ‘แล้วรัฐบาลนี้จะปราบได้หรือ’ ผมจึงบอกว่าการเปลี่ยนรัฐบาลอาจจะเป็นวิธีแรกที่จะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพราะถ้าคุณได้รัฐบาลเดิม ก็เหมือนเอาเครือข่ายค้ามนุษย์มานั่งเป็นรัฐบาล ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้
“กรณีของคุณปวีณ ไม่ใช่คุณปวีณเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับตำรวจหลายแสนคน กับครอบครัวตำรวจนับล้าน เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่ไม่ใช่แค่มิติของการค้ามนุษย์โรฮีนจา แต่เป็นการค้ามนุษย์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับชาวเมียนมาคนอื่นๆ รวมถึงอาจจะคนไทยด้วยกัน ที่ผมก็ไม่ฝันว่าจะมาได้ไกลขนาดนั้น”
โปรดอย่าเพิ่งหมดหวังกับประเทศนี้
หลายปีมาแล้วที่คนในสังคมไทยเคยโจมตีประเด็นโรฮีนจาอย่างรุนแรง โดยกล่าวโทษคนที่เห็นใจ ปกป้อง หรือรายงานข่าวการลี้ภัยของโรฮีนจา ในช่วงเวลานั้นเราน่าจะจดจำได้ถึง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามที่เดินทางไปถึงเรืออพยพโรฮีนจาที่ลอยค้างอยู่กลางทะเล ตอนนั้นเธอถูกสังคมประณามสาปส่ง เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงต้องให้ความช่วยหรือแสดงความเห็นใจกับชาวโรฮีนจา ไปจนถึงความเห็นจำนวนมหาศาลตามโซเชียลมีเดียที่โจมตีใครก็ตามที่ปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮีนจา ด้วยวลียอดนิยม “ถ้าเห็นใจมากก็เอาไปเลี้ยงที่บ้านสักคนไหม”
รังสิมันต์ยังคงจำเรื่องราวในช่วงเวลานั้นได้ ทำให้ก่อนการอภิปรายเรื่องค้ามนุษย์โรฮีนจา เขาไม่วายกังวลว่าสังคมไทยจะเข้าใจสิ่งที่เขาพยายามสื่อสารมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับความสนใจเรื่องการเมืองของผู้คนในสังคมแผ่วลงจากปีที่ผ่านมา ด้วยสภาพเศรษฐกิจและโรคระบาดที่รุมเร้า ประเด็นอภิปรายในสภาฯ ส่วนใหญ่จึงมักจำกัดความสนใจอยู่แต่ในวงสนทนาของคอการเมือง ไหนจะเรื่องโรฮีนจาที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน และเคยเห็นกันมาแล้วว่า หากใครพูดถึงในเชิงมนุษยธรรม ก็ไม่พ้นจะถูก ‘ทัวร์ลง’
รังสิมันต์ยอมรับว่า แม้รู้ว่านี้เป็นประเด็นที่สมควรต่อการอภิปราย แต่เขาก็ไม่ได้มั่นใจนักว่า เมื่ออภิปรายไปแล้วจะได้รับความสนใจหรือการขานรับจากสังคม
“แต่พอพูดเสร็จ คืนนั้นในทวิตเตอร์ก็มีการติดแฮชแท็ก #ค้ามนุษย์ จนขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่ง มีการขุดคุ้ยข้อมูลที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คนกลับไปพูดถึงคุณฐปณีย์อีกครั้ง หลังจากที่เคยโดนถล่มเละเพราะพูดเรื่องโรฮีนจา การจดจำของสังคมที่มีต่อคุณฐปณีย์ในประเด็นนี้ก็เปลี่ยนไปจากเดิม
“หลายคนเปลี่ยนท่าที บางคนแชร์สิ่งที่ผมพูด แล้วเขาก็พูดเลยว่า ‘ไม่นึกว่าเป็นแบบนี้’ เพราะตอนนั้นเขาได้ข้อมูลอีกแบบหนึ่งเลยทำให้คิดแบบนั้น แต่ตอนนี้เขาได้รับข้อมูลที่ผมอธิบาย เขาก็ไม่คิดแบบเดิมอีกต่อไป ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด เราเห็นความเปลี่ยนแปลง และนี่คือสิ่งที่เกิดความคาดหมาย
“ผมรู้สึกเห็นถึงการเติบโตของสังคมไทย คนส่วนใหญ่เริ่มยอมรับว่าบางอย่างที่เคยทำมันผิดพลาด การที่คุณยอมรับว่าเคยทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ เพราะเราจะเรียนรู้ในสิ่งที่เราทำผิด แล้วเราก็จะไม่ผิดพลาดซ้ำอีก”
รังสิมันต์เชื่อว่า นอกจากสังคมไทยจะได้ข้อมูลของขบวนการค้ามนุษย์ชัดเจนขึ้น ที่ชัดเจนไม่แพ้กันก็คือการได้เห็นภาพของวงการตำรวจไทย ได้เห็นว่าตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาสะสมมากขนาดไหน นั่นทำให้เขามั่นใจกับบทบาทหน้าที่ในการขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ของรัฐบาลออกมาตรวจสอบ เขาเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลได้ก่อปัญหาหมักหมมไว้ แต่ประชาชนยังไม่รู้ และหากมีเรื่องอื่นๆ ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป ผู้คนพร้อมที่จะรับฟัง
“การขจัดรัฐบาลนี้ออกไปไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยตอนนี้เราเห็นตรงกันแล้วว่ารัฐบาลทหารคือปัญหา การรัฐประหารนำไปสู่การสร้างปัญหาอีกนับไม่ถ้วนที่กำลังกัดกินสังคมไทย ที่ผ่านมาความแตกแยกของประชาชนมีส่วนสร้างพื้นที่ให้กับรัฐบาลแบบนี้ จนเขาฝังรากลึกพร้อมสร้างกลไกต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนอำนาจตัวเอง
“แต่ในเวลาเดียวกัน ผมเชื่อว่าการตื่นตัวของประชาชนคนไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว มีหลายเรื่องที่พิสูจน์ว่าประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจริงๆ หลายคนพยายามไม่เงียบ พยายามทำอะไรบางอย่าง สังคมของเราเห็นปัญหาร่วมกันมากขึ้น แน่นอนว่ายังมีการเห็นต่างกันบ้าง แต่อย่างน้อยก็เหมือนกับว่าเรายังอยู่โลกเดียวกันมากกว่าแต่ก่อน ไม่เหมือนกับที่ผ่านๆ มา ที่เป็นแบบ — กูกับมึงแม่งอยู่กันคนละโลกหรือเปล่า ดังนั้นข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมเรียนรู้ว่าพวกเรากำลังเดินไปในทิศทางไหน
“ผมอภิปรายเรื่องตั๋วช้าง ป่ารอยต่อ เรื่องค้ามนุษย์ ถ้าไม่มีใครฟังมันก็เท่านั้น สิ่งที่พูดไปจะไม่มีความหมายเลยถ้าผู้คนไม่ช่วยกันพูดซ้ำ แต่เป็นเพราะประชาชนทุกคนช่วยกันผลักดันให้ประเด็นต่างๆ ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ช่วยกันส่งเสียงให้ดังขึ้น สิ่งเหล่านี้คือส่วนสำคัญอย่างมากในการทำลายรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชน”
ว่าด้วย ‘ความกลัว’ และ ‘ปลาตัวใหญ่’
หลังจากการอภิปรายเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ของ รังสิมันต์ โรม จบลงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นั้น นอกจากการรับรู้ข่าวสารเบื้องลึก อีกสิ่งที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียคือความเห็นมากมายที่วิตกกังวลถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของรังสิมันต์ ที่อาจต้องเผชิญอันตรายจากการข่มขู่ ปองร้าย ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย
เมื่อเราเท้าความถึงความห่วงใยจากผู้คนในสังคมที่มีต่อเขา รังสิมันต์ยิ้มรับ
และเมื่อถามเขาว่ากลัวไหม?
“ยอมรับว่ากลัว แต่ว่าต้องมีใครสักคนทำ ผมไม่ได้คิดว่าถ้าเราไม่ทำสักวันเดี๋ยวก็มีคนทำ เวลาอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก็มักต้องเริ่มจากเราก่อน บางทีอาจต้องเริ่มจากคำสั้นๆ ว่า ‘โอเค เดี๋ยวเราทำเอง’ มันฟังดูโรแมนติก ดูไม่ได้คิดเชิงระบบ แต่ตอนนี้มันไม่มีระบบไง มีแต่ปัญหาเต็มไปหมดเลย แล้วถ้าไม่ใช่เรามันจะเป็นใครอีก ผมก็คิดถึงสิ่งที่ผมทำได้แล้วถ้าพยายามจะทำให้ดีที่สุดได้แค่ไหน
“ส่วนคนอื่นจะทำตามเรา ทำไปกับเรา เขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องตัดสินใจ แต่ก็ยอมรับว่ากลัว มีความรู้สึกกังวลเล็กๆ เพราะตอนแรกผมไม่คิดว่าประเด็นการค้ามนุษย์จะทำให้เราต้องเจอกับอันตราย แต่พอผมพูดออกไปหลายคนก็แสดงความเป็นห่วง จนทำให้เริ่มคิดตามว่าต้องเป็นห่วงตัวเองใช่ไหม สงสัยเรื่องนี้มันน่ากลัวจริงๆ ว่ะ แต่สุดท้ายก็วนกลับไปตอนต้น ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ”
ใช่ — ถ้าทุกคนกลัวแล้วเลือกที่จะเงียบ ประเทศนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป นั่นคือสิ่งที่รังสิมันต์ชวนให้เราคิดตาม
แต่สิ่งที่รบกวนจิตใจรังสิมันต์ที่สุดหลังจบการอภิปราย ไม่ใช่ความปลอดภัยของตัวเอง แต่เป็นความปลอดภัยของพลตำรวจตรีปวีณที่อยู่ต่างแดน เขาบอกว่ามีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าการอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้รับประกันว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นแล้วว่า…บางสิ่งบางอย่างก็อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้
“ความเป็นห่วงของหลายคนที่มีต่อเรา เกิดจากเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ เขาอยากให้เรามีชีวิตต่อไป แต่ผมคิดเหมือนกับคุณปวีณว่าถ้ามีสิ่งไหนที่ทำให้เรารู้สึกกลัว หรือคิดว่าสิ่งไหนเป็นอันตรายต่อเรา บางทีเราอาจต้องทำให้เรื่องที่ดูน่ากลัวกลายเป็นเรื่องที่พูดกันเป็นปกติให้ได้
“ทุกคืนของคุณปวีณมันคงเป็นเหมือนฝันร้าย แต่วันนี้ฝันร้ายไม่ได้อยู่ที่เขาแล้ว ฝันร้ายถูกโยนกลับไปยังคนที่ต้องตอบคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
เช่นกันที่ ‘ความกลัว’ อาจเกิดขึ้นกับบรรดาบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ก็เป็นได้…
รังสิมันต์เล่าต่อด้วยน้ำเสียงแกมขันถึงท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ตอบคำถามเขาเรื่องค้ามนุษย์
“ผมได้อภิปรายหลายครั้ง เจอหน้าคุณประยุทธ์หลายครั้ง อย่างน้อยเขาก็พยายามตอบอะไรบางอย่าง พยายามตอบคำถามถึงแม้จะตอบได้ห่วย หรือบางทีก็มีการแซะกลับ แต่พอเป็นเรื่องนี้ เขาเดินหนีผม
“วันนั้นผมรอ ผมอยู่ไม่ไกลจากคุณประยุทธ์ นั่งจ้องหน้าเขาเพื่อรอฟังว่าเขาจะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร แต่เขาไม่พูดถึงเรื่องการค้ามนุษย์เลย ผมเลยลุกขึ้นถาม ขอให้ชี้แจง ตอนที่ผมพูดว่าเขาใจดำอำมหิต เขาก็กำลังก้มหัวโค้งคำนับประธานฯ เขาได้ยิน แต่เขาเดินหนี
“เรามาถึงจุดที่อดีตนักเคลื่อนไหวที่เคยถูกคนแบบมึงคุมตัว วันนี้มึงไม่กล้าที่จะสู้หน้ากูแล้ว — ขออนุญาตพูดคำหยาบ แต่ถึงจุดนั้นแล้ว ถึงจุดที่คุณไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงอีกต่อไป”
แม้วันนั้นที่รัฐสภา เขาจะไม่ได้คำตอบจากนายกฯ แต่หลังจากวันอภิปราย รังสิมันต์ได้ฟังพลเอกประยุทธ์อธิบายและกล่าวถึงพลตำรวจตรีปวีณ แต่สุดท้ายก็ไม่มีคำชี้แจงอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ นายกรัฐมนตรียังคงตอบคำถามเรื่องนี้ไม่ได้ รวมถึงท่าทีของบุคคลต่างๆ ที่ถูกเอ่ยชื่อในระหว่างการอภิปรายนั้น ต่างก็พากันเดินหนีนักข่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน
“แต่การไม่ตอบบางทีก็เท่ากับตอบ การไม่ตอบทำให้สังคมเห็นภาพบางอย่างชัดเจนแล้วว่า วันนี้เราอยู่ในยุคค้าทาสหรือไม่ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในศตวรรษที่ 21 เราอยู่ในยุคศตวรรษที่ 17 เป็นยุคค้าทาสที่โดยกฎหมายห้ามทำ แต่ก็ทำกันได้เหมือนไม่มีกฎหมาย”
แม้เวลานี้ข่าวเรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาจะสร่างซาลงไปบ้าง ด้วยกระแสข่าวต่างๆ ที่ไหลบ่าเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน นั่นอาจทำให้บรรดา ‘คนในขบวนการ’ พอจะกลับมายิ้มออกแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวเช่นเคย แต่ถึงกระแสจะเลือนลาง รังสิมันต์ก็ได้ทำ ‘ความจริงให้ปรากฎ’ แล้วต่อสังคมไทย แม้ขบวนการค้ามนุษย์คงไม่ได้ยุติลงในเร็ววัน แต่อย่างน้อยที่สุด เชื่อว่าก็คงไม่ได้ทำกันง่ายดายดังเดิม
รังสิมันต์บอกว่า เขาหวังว่าสักวันหนึ่ง สังคมไทยจะได้เห็นคนในขบวนการ ‘ค้าคน’ อย่างเลือดเย็นได้รับโทษ ทั้งบรรดา ‘ปลาซิวปลาสร้อย’ ปลายแถว หรือแม้กระทั่งจะได้รู้กันว่า ‘ปลาตัวใหญ่’ ที่อยู่ต้นสายขบวนการมีชื่อว่าอะไร ก่อนถูกพิพากษาตามกฎหมายให้สาสมกับสิ่งที่ทำต่อชาวโรฮีนจาและผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ อีกมากมาย
“ผมคิดว่าหมดยุคที่คุณคิดว่าจะฝังกลบสิ่งต่างๆ แล้วทุกคนก็จะลืมมันไป วันหนึ่งสังคมจะรู้ว่าปลาตัวใหญ่ชื่อว่าอะไร สังคมจะจดจำว่าคุณทำอะไร ก่อกรรมทำเข็ญอะไรไว้กับสังคมไทยบ้าง ผมเชื่อว่าวันเวลาอยู่ข้างพวกเรา อยู่ข้างความเปลี่ยนแปลง อยู่ข้างคนรุ่นใหม่ และเมื่อวันนั้นมาถึง ก็จะถึงเวลาที่คุณต้องชดใช้ในสิ่งที่ได้ทำเอาไว้กับมนุษยชาติ
บทสนทนาของเราจบลงด้วยสารที่เขาอยากส่งไปถึง ‘ปลาตัวใหญ่’
หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565
Tags: Close-Up, โรม, ตั๋วช้าง, ตรีนุช อิงคุทานนท์, Interview, ค้ามนุษย์, โรฮิงญา, ปวีณ พงศ์สิรินทร์, รังสิมันต์ โรม, ป่ารอยต่อ, เมียนมา, ขบวนการค้ามนุษย์, พรรคก้าวไกล, โรฮีนจา, สัมภาษณ์