นิติ ภวัครพันธุ์ อ้างถึงคำพูดของ วอล์คเกอร์ คอนเนอร์ (Walker Connor) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ไว้ในหนังสือ ชวนถก ชาติ และชาติพันธุ์ ว่า “การนิยามความหมายของ ‘ชาติ’ มิใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแก่นแท้ของชาติเป็นสิ่งที่จับต้องมิได้ แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นพันธะทางจิตวิทยา (psychological bond) ที่เป็นความเชื่อมั่นร่วมกันในจิตใต้สำนึกของสมาชิกในชาติ ซึ่งในด้านหนึ่งเชื่อมโยงผู้คนทั้งหลายเข้ารวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แยกคนเหล่านี้ออกจากกัน”
องค์ บรรจุน กล่าวไว้ในหนังสือ ต้นธาร วิถีมอญ ว่า “หมู่บ้านของผู้เขียนเป็นหมู่บ้านมอญขนาดเล็กในจังหวัดสมุทรสาคร… แม้หมู่บ้านของผู้เขียนจะไม่ได้อยู่สุดขอบแผนที่ประเทศไทย แต่วัฒนธรรมมอญก็เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานไทย ทั้งที่ผู้คนและวัฒนธรรมเหล่านั้น หากไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นมอญ เขมร ลาว ยวน พวน หรือทวาย พวกเขาต่างก็เป็นคนธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป เพียงแต่มีรากเหง้าประวัติศาสตร์อันเป็นที่มาของความคิดที่แตกต่าง เมื่อวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับ ทุกวันนี้ความเป็นมอญที่ผู้เขียนเคยสัมผัสในวัยเด็กจึงอ่อนล้าราแรงแทบขาดใจ ทั้งที่หากพิจารณาให้ถ้วนถี่ดีแล้วก็จะพบว่า ความไม่ได้มาตรฐานเหล่านั้นล้วนเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาการสู่ความเป็นมาตรฐานไทย” และ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม เขียนไว้ในหนังสือ รากเหง้าเผ่าจีน ว่า “ผมตัดขาดจากภาษาจีนโดยสิ้นเชิง ความรู้ภาษาจีนระดับ ป.๔ ที่เคยมีก็ค่อยๆ คืนครูไปหมด กลายเป็นลูกจีนรุ่นใหม่ที่พูดได้แต่จีนแต้จิ๋ว เขียนหนังสือจีนไม่ได้ ฟังภาษาจีนกลางไม่รู้เรื่อง เหมือนฟังภาษาต่างประเทศ รากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเป็นมาอย่างไรก็ไม่รู้”
ขณะที่ผู้ปกครองกำลังข้อร้อง เรียกร้อง หรืออาจจะบังคับ ให้สมาชิกในชาติอย่าลืมเลือน ‘ความเป็นไทย’ ด้วยการให้นักเรียนเข้าแถวไหว้ครูที่หน้าประตูโรงเรียน และให้ข้าราชการแต่งกายด้วยผ้าไทย ข้อความข้างต้นเหล่านี้กลับชวนให้ตั้งคำถามว่าในความเป็น ‘ชาติไทย’ นั้น มี ‘เชื้อชาติ’ ใดประกอบร่วมอยู่บ้าง และเชื้อชาติต่างๆ เหล่านั้นมีที่ทางอย่างไรภายใต้สิ่งที่เรียกว่ารัฐชาติ และความเป็นไทยที่ชาติไทยพยายามจะธำรงไว้คืออะไร
แม้ว่าจะไม่ได้พูดถึงสิ่งนี้โดยตรง แต่ละครเรื่อง The Voyage ละครประจำปีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีน้ำเสียงคล้ายๆ จะพูดถึงสิ่งนี้ The Voyage เล่าเรื่องราวของคนไทยจำนวนหนึ่งที่บรรพบุรุษของเขาเดินทางมาจากที่ต่างๆ และมาลงหลักปักฐานในดินแดนที่ชื่อว่าประเทศไทย บรรพบุรุษของพวกเขาเหล่านั้นมีทั้งเจ้าหญิงเวียดนามที่ถูกกวาดต้อนลงเรือค้าทาสเพราะวิกฤติการณ์ทางการเมืองจนได้มาขึ้นฝั่งที่ชวาและแต่งงานกับพ่อค้าที่นั่น เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม และในที่สุดก็เดินทางมากับเรือสินค้าของสามีจนถึงสยาม และตั้งรกรากใหม่อยู่แถวตรอกจันทร์ มีเรื่องราวของคนจีนที่หนีภัยสงครามและความยากจนเดินเท้าเข้าสู่พม่า แล้วยังต้องเผชิญกับการสู้รบระหว่างว้าแดงและไทยใหญ่ จนต้องเดินทางอีกครั้งมาสู่ดอยแม่สลอง เรื่องราวของหญิงสาวชาวอาข่าจากดอยแม่สลองที่ต้องเดินทางไปทำงานไกลถึงเบตงและได้แต่งงานกับชาวจีนจากมาเลเซีย เรื่องราวของคนสมุทรสาครที่บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองมอญในประเทศพม่า ฯลฯ และลูกหลานของผู้คนเหล่านี้ก็เกิดและเติบโตขึ้นมาในฐานะ ‘คนไทย’
เรื่องราวเหล่านี้อาจจะไม่ได้ถูกบันทึกในฐานะ ‘ประวัติศาสตร์’ แต่ทุกเรื่องมาจากเรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ถูกมองเห็น เรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดในละครเรื่องนี้คือเรื่องเล่าของนักแสดง ด้วยว่ากระบวนการสร้างตัวบทมาจากการสืบค้นประวัติศาสตร์ส่วนตนของนักแสดงทุกคน ละครเรื่องนี้จึงมีลักษณะละครเชิงสารคดี (documentary theatre) ที่ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงนำมาร้อยเรียงเพื่อบอกเล่าถึง ‘การเดินทาง’ ของผู้คนที่ประกอบร่วมอยู่ในสังคมไทย
ข้อความที่ดูจะสะท้อนสิ่งที่ละครเรื่องนี้พยายามนำเสนอได้ดีก็คือข้อความจากหนังสือ ลูกจีน หลานมอญ ในกรุงสยาม ที่ว่า “แม้ว่าอาจมีเป้าประสงค์และภารกิจที่แตกต่างกัน บ้างมีจุดหมายเพื่อแสวงหาแหล่งทำกินใหม่ บ้างมุ่งมาเพื่อหากำไรจากการค้าขาย บ้างอพยพหลบหนีภัยจากการเบียดเบียนของคนต่างเผ่าพันธุ์ และบ้างอาจมาโดยมิเต็มใจ ถูกกวาดครัวเป็นเชลยสงคราม แต่กระนั้นเมื่อมาลงหลักปักฐานแล้วในกรุงสยาม ต่างก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชาวสยามที่ร่วมขับเคลื่อนสร้างชาติในบทบาทต่างๆ กัน”
นอกเหนือไปกว่านั้น แม้ละครจะไม่ได้พูดออกมา แต่ผู้เขียนเห็นว่าละครเรื่องนี้ได้นำพาไปสู่การตั้งคำถามว่าด้วยความเป็นชาติ ในห้วงเวลาที่ความเป็นชาติถูกเชิดชูให้สูงส่ง และความเป็นชาติถูกนิยามโดยผู้ปกครองที่ให้ความหมายต่อความเป็นชาติแบบหนึ่งเดียว ใครคิดต่างจากมวลชนผู้รักชาติก็จะถูกไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น เหล่านี้คือมายาคติที่ถูกสร้างขึ้น โดยที่ทั้งผู้สร้างและผู้รับอาจจะไม่เคยรู้เลยว่า “รัฐชาติไทยที่เรารู้จักในปัจจุบัน ก่อตัวขึ้นเมื่อในช่วง 200 กว่าปีมานี้ ชื่อประเทศ เขตแดน เมืองหลวง ความเป็นไทย ในฐานะเป็นชาติหนึ่ง และรูปแบบของรัฐบาล ล้วนเป็นสิ่งใหม่ทั้งสิ้น เพิ่งคิดประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว ชื่อ ‘ประเทศไทย’ ก็ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2482 นี้เอง” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย)
ละครเรื่อง The Voyage จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2560 สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/thevoyage.fatu/
Tags: The Voyage, ชาติ, ศิลปกรรมศาสตร์, ธรรมศาสตร์, ละครเชิงสารคดี