เป็นอีกครั้งที่แฟนหนังสือของนักเขียนชื่อดังระดับโลกชาวญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีจากนิยายในปี 1987 อย่าง ‘Norwegian Wood’ ต้องผิดหวัง หลังรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีนี้ตกเป็นของ อับดุลราซัก กูร์นาห์ (Abdulrazak Gurnah) นักเขียนชาวแทนซาเนีย และทำให้เหล่า ‘ฮารุกิสต์’ ยังคงต้องรอวันที่นักเขียนในดวงใจจะคว้ารางวัลโนเบลต่อไป
ย้อนไปเมื่อปี 2007 มูราคามิมีชื่อปรากฏในฐานะนักเขียนที่มีศักยภาพเพียงพอจะคว้ารางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติที่สุดในโลกนี้ครั้งแรก หลังเว็บไซต์การพนันชื่อดัง Ladbrokes วางให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงอันดับต้นๆ นับแต่นั้นมา ชื่อของมูราคามิได้กลายเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะได้รับรางวัลสาขาวรรณกรรมอย่างสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดความคาดหวังจากแฟนผู้อ่าน ถึงขั้นที่การวางเงินพนันในอัตราที่สูงลิ่วเพื่อพนันว่าเขาจะคว้ารางวัลโนเบลได้หรือไม่ กลายเป็นงานประจำปีสำหรับนักพนัน
เช่นเดียวกันกับปีนี้ หนึ่งวันก่อนการประกาศรางวัลเมื่อพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7 ตุลาคม 2021) เว็บไซต์พนัน Ladbrokes ให้อัตราต่อรองการคว้ารางวัลของมูราคามิ ในวัย 72 ปี ที่ 10 ต่อ 1 เป็นอันดับที่สองในกลุ่มเจ้ามือที่รับแทงพนัน ซึ่งเทียบเท่ากับ มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood) นักเขียนชาวแคนาดาผู้โด่งดัง เจ้าของนวนิยายดิสโทเปีย ในปี 1985 เรื่อง ‘The Handmaid’s Tale’
แต่ท้ายที่สุด เป็นอีกครั้งที่ผู้พิจารณารางวัลดังกล่าวอย่าง Swedish Academy มองไปอีกทาง รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจึงยังไม่ตกถึงมือของมูราคามิในปีนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอีกครั้งว่า ทำไมรางวัลวรรณกรรมโนเบลถึงเป็นไปได้ยากนักสำหรับนักเขียนอย่างเขา
หลายปีที่ผ่านมา นักวิจารณ์ได้อ้างถึงเหตุผลที่เป็นไปได้หลายประการ โดยข้อที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ การขาดถ้อยแถลงทางการเมืองในงานของมูราคามิ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการกล่าวกันว่า Swedish Academy ผู้พิจารณารางวัล มักมุ่งความสนใจไปที่นักเขียนที่มีผลงานน่ายกย่องเกี่ยวข้องกับด้านการเมือง และชื่นชอบนักเขียนที่ให้ความสำคัญในการพูดถึงผู้ที่ถูกเหยียบย่ำและผู้ที่ต่อสู้กับการถูกกดขี่จากคนมีอำนาจ หรือผู้ที่ลุกขึ้นมาปะทะกับปัญหาสังคมร่วมสมัยซึ่งๆ หน้า
องค์ประกอบดังกล่าวถูกพูดถึงจากผลงานของผู้ได้รับรางวัลในปีนี้เช่นกัน โดยงานของ อับดุลราซัก กูร์นาห์ ผู้ได้รับรางวัล มีการมุ่งเน้นไปที่ลัทธิล่าอาณานิคมและความบอบช้ำจากประสบการณ์ของผู้ลี้ภัย ซึ่งคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวถึงเหตุผลว่า งานของกูร์นาห์ “เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ มีความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งถึงผลกระทบของลัทธิล่าอาณานิคม และชะตากรรมของผู้ลี้ภัยในอ่าวระหว่างวิถีชีวิตและพรมแดน”
ย้อนไปในปี 2015 นักข่าวสืบสวน นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ชาวเบลารุสอย่าง สเวตลานา อเล็กซีวิช (Svetlana Alexievich) เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โดยถูกให้เหตุผลว่า “งานเขียนของเธอเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนหลายเสียง เป็นอนุสาวรีย์แห่งความทุกข์ทรมาน และความกล้าหาญแห่งยุคสมัย” โดยงานของเธอเป็นรูปแบบการรายงานข่าว ซึ่งครอบคลุมหัวข้อตั้งแต่เรื่องสงครามโซเวียต อัฟกานิสถาน ไปจนถึงภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล
หรือ แพทริก โมดิอาโน (Patrick Modiano) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้คว้ารางวัลนี้ในปี 2014 ซึ่งได้รับการยกย่องจากงานที่เป็น ‘ศิลปะแห่งความทรงจำ ซึ่งทำให้เกิดชะตากรรมของมนุษย์ที่ยากจะเข้าใจได้ และเปิดโปงโลกแห่งชีวิตของนาซี”
“เมื่อผู้เขียนถูกพิจารณาเพื่อรับรางวัลจากภาษาต่างๆ และมาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน สิ่งที่สร้างความแตกต่างในตอนท้ายคือ งานของพวกเขามีนัยสำคัญทางการเมืองที่สะท้อนอยู่หรือไม่” โคอิชิโระ สุเคะงาวะ (Koichiro Sukegawa) ศาสตราจารย์วรรณคดีญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยสตรีกิฟุ ซึ่งศึกษางานของมูราคามิมาเป็นเวลานานระบุ
สุเคะงาวะกล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้นักเขียนอย่าง มาร์กาเร็ต แอตวูด หรือ เอ็นกูกิ วา ทิอองโก (Ngugi Wa Thiong’o) เป็นที่ชื่นชอบของรางวัลโนเบล และมีโอกาสในการคว้ารางวัลเหนือมูราคามิ โดยแอตวูดมักเคลื่อนไหวในเรื่องสตรีนิยม ขณะที่เอ็นกูกิเคยถูกจำคุกในปี 1970 จากการเขียนบทละครต่อต้านระบบ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นภัยคุกคามต่อสภาพที่เป็นอยู่ของเคนยาในขณะนั้น “แต่องค์ประกอบเหล่านี้ค่อนข้างจะขาดหายไปในผลงานของมูราคามิ” สุเคะงาวะสรุป
สุเคะงาวะยังตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวล่าสุดของมูราคามิอาจทำให้ Swedish Academy ผู้พิจารณารางวัล รู้สึกว่าตัวมูราคามิกำลังถอยห่างจากความมุ่งมั่นของเขาต่อความถูกต้องทางการเมืองออกไปอีก โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มูราคามิร่วมมือกับยูนิโคล (Uniqlo) บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ในการออกคอลเลกชันเสื้อยืดจากนวนิยายของเขา ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่า เสื้อเชิ้ตของพวกเขาทำมาจากฝ้ายซินเจียง ซึ่งมีการบังคับใช้แรงงานของชาวอุยกูร์ ขณะที่บริษัทแม่ของยูนิโคลปฏิเสธว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้เชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สุเคะงาวะกล่าวว่า มูราคามิยังต้องเผชิญกับการวิจารณ์ในเรื่องที่ว่า นิยายของเขามักมีการแสดงให้เห็นการพรรณนาถึงเรื่องผู้หญิงและเรื่องเพศ อาทิ ฉากร่วมเพศของตัวเอกเพศชายกับเด็กสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จากนวนิยายไตรภาคชื่อดัง ‘1Q84’ เมื่อปี 2009 โดยนักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า สิ่งดังกล่าวอาจเป็น ‘สัญญาณอันตราย’ สำหรับ Swedish Academy ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัล
“การล่วงละเมิดทางเพศของเด็กสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เช่นเดียวกับการพรรณนาอย่างละเอียดถึงความยั่วยวนของร่างกายเด็กสาว ถือได้ว่าเป็นปัญหาตามบริบททางวรรณกรรมในปัจจุบัน” สุเคงาวะกล่าว
อีกประเด็นที่สุเคะงาวะวิเคราะห์คือ ผลงานของมูราคามิมักแสดงให้เห็นถึงความชื่นชอบในวัฒนธรรมของผู้บริโภคชาวตะวันตก โดยตัวเอกในนิยายมักใช้ชีวิตอย่างมีสไตล์ ฟังเพลงตะวันตก ใส่เสื้อผ้าสวยหรู กินพาสตาและแซนด์วิช ซึ่งสุเคะงาวะกล่าวว่า ปัญญาชนของโลกมักจะมองลัทธิการค้าเหล่านี้อย่างคลางแคลงใจ ในขณะที่มูราคามิกลับกระตือรือร้นที่จะเขียนนิยายที่กระตุ้นให้เกิดการชื่นชมแก่ผู้อ่านชาวเอเชีย
“มูราคามิเริ่มต้นอาชีพในยุคที่การสามารถบริโภคสิ่งเหล่านี้ได้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์สถานะทางสังคมของใครบางคน และเขาก็สร้างความก้าวหน้าให้ชีวิตบนสมมติฐานนั้น” สุเคะงาวะกล่าว “แต่ยุคนั้นกำลังจะผ่านไป ผมคิดว่าตอนนี้อาชีพของมูราคามิกำลังอยู่ในทางแยก เว้นแต่เขาจะทดลองอะไรใหม่ๆ ไม่เช่นนั้น โอกาสที่เขาจะได้รับรางวัลโนเบลก็จะยังคงมีเพียงน้อยนิดต่อไป”
อ้างอิง:
– https://www.japantimes.co.jp/culture/2021/10/08/books/haruki-murakami-elusive-nobel/
– https://www.japantimes.co.jp/culture/2021/10/07/books/literature-nobel-prize-winner/
Tags: Nobel Prize, Haruki Murakami, Literature