ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในเดือนนี้ หนีไม่พ้นกรณีที่พีต้า’ (PETA:  People for the Ethical Treatment of Animals) องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ระดับนานาชาติ เปิดข่าวเจาะและแคมเปญ Monkeys Chained, Abused for Coconut Milk ของพีต้าเอเชีย เปิดเผยกรณีการใช้แรงงานลิงเพื่อเก็บมะพร้าวในประเทศไทยว่ามีลักษณะเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในประเทศอังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี  รวมกันกว่า 17,000 สาขา ประกาศหยุดขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว อาทิ กะทิ น้ำมัน ยี่ห้อที่ปรากฏในข่าว หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวทุกยี่ห้อจากประเทศไทยชั่วคราว

ปฏิกิริยาในโลกออนไลน์สะท้อนว่า คนไทยจำนวนมาก (และผู้เขียนสังเกตว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ IO มาผสมโรงด้วยไม่น้อย) เมื่อเห็นข่าวนี้ครั้งแรกก็มองเป็นเรื่องตลก จากนั้นหลายคนก็แสดงความโกรธแค้นพีต้าแทน ความเห็นส่วนใหญ่ดูจะมีอยู่ 5 ข้อใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

1.เป็นการกีดกันการค้าของรัฐบาลอังกฤษ (บางคนไพล่ไปมองถึงขั้นว่านี่เป็นการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ พวกฝรั่งบ้าอำนาจ ฯลฯ

2.ฝรั่งหาเรื่องว่าคนไทยใช้แรงงานลิง ทั้งที่ตัวเองก็ใช้แรงงานสัตว์ เช่น ใช้หมูดมหาเห็ดทรัฟเฟิล ใช้สุนัขลากเลื่อน ฯลฯ ทำไมพีต้าไม่ประณามบ้าง

3.การฝึกลิงขึ้นมะพร้าวในไทยเป็นวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานานแล้ว ไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์แต่อย่างใด

4.ลิงขึ้นมะพร้าวสมัยนี้ทำเพื่อโชว์นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ไม่ใช่ส่งมะพร้าวเข้าอุตสาหกรรมส่งออก ลิงขึ้นมะพร้าวที่โยงกับอุตสาหกรรมนั้นถ้ามีก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น

5.พีต้าไม่มีความน่าเชื่อถือ ในอดีตเคยบิดเบือนข้อเท็จจริงบางเรื่อง เลือกแต่มุมลบมาเสนอให้คนเข้าใจผิด

ผู้เขียนเห็นว่าความเห็นข้างต้นเหล่านี้บางข้ออาจมีมูลความจริง อย่างข้อ 3. เพราะเราก็รับรู้กันอยู่ว่า ลิงขึ้นมะพร้าวเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นบ้านมานานในหลายจังหวัด (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนดูแลลิงอย่างดี) หรือข้อ 5. เพราะก็เป็นความจริงที่พีต้าเองมีเรื่องอื้อฉาวในอดีตมาแล้วไม่น้อย (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่พีต้ากล่าวหาในกรณีนี้เป็นเรื่องเท็จ)

อย่างไรก็ตาม ความเห็นทำนองข้อ 1. 2. และ 4. สะท้อนความเข้าใจผิดพื้นฐานเกี่ยวกับหลักสวัสดิภาพสัตว์และนโยบายความยั่งยืน (ความรับผิดชอบต่อสังคม) ของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งก็ถูกกำหนดโดยความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้าของเขาอีกทอดหนึ่ง

ตราบใดที่ความเข้าใจผิดเหล่านี้ยังดำรงอยู่ ในอนาคตเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกก็ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของไทย เพราะทุกวันนี้สำหรับบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไปไกลกว่าการทำกิจกรรม CSR มานานแล้ว แต่หมายรวมถึงนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่ยอมรับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดหลักสวัสดิภาพสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง

ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้มี 3 ประเด็นที่เราควรทำความเข้าใจและช่วยกันคิด เพื่อไปให้พ้นจากดราม่าทั้งมวลในโลกออนไลน์ และผลักดันให้ธุรกิจและรายย่อยอยู่ได้อย่างสง่างามในห่วงโซ่อุปทานศตวรรษที่ 21

1. กรณีนี้ไม่ใช่การกีดกันทางการค้าของรัฐบาลต่างชาติ แต่เป็นการทำตามนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทค้าปลีกต่างชาติ และปมปัญหาไม่ได้อยู่ที่การใช้แรงงานสัตว์แต่อยู่ที่การทารุณกรรมสัตว์ซึ่งขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์

หลายคนเข้าใจผิดว่า การแบนสินค้าไทยชั่วคราวในกรณีนี้เป็นผลมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลอังกฤษและประเทศอื่นๆ แต่ในความเป็นจริง เรื่องนี้รัฐบาลไม่เกี่ยวอะไรด้วย เป็นการตัดสินใจของบริษัทค้าปลีกใหญ่ๆ ที่มีนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภค (ลูกค้าของบริษัท) ในหลายประเทศให้ความสำคัญโดยเฉพาะยุโรป ถ้าเราไปดูเว็บไซต์ของบริษัทไทยขนาดใหญ่ที่ส่งออกอาหารไปยังประเทศเหล่านี้ ก็จะพบนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ที่คล้ายกันเช่นกัน อาทิ ซีพีเอฟ (ในเครือซีพี) เบทาโกร ฯลฯ

พีต้าและองค์กรพิทักษ์สัตว์อื่นๆ ทั่วโลกที่รณรงค์เรื่องสิทธิสัตว์ย่อมตระหนักดีว่า บริษัทเหล่านี้ประกาศนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ (หลักสวัสดิภาพสัตว์สากลส่วนหนึ่งก็พัฒนามาจากการเรียกร้องเคลื่อนไหวขององค์กรเหล่านี้ และก็มีการหารือถกเถียงพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง) และรู้ดีว่าลูกค้าของบริษัทเหล่านี้จำนวนมากให้ความสำคัญ

แล้วหลักสวัสดิภาพสัตว์สากลมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนคิดว่าตัวอย่างจากเว็บไซต์เทสโก้ บริษัทหนึ่งที่ประกาศเอาสินค้าที่ทำจากมะพร้าวไทยลงชั่วคราว อธิบายได้ค่อนข้างชัดเจน ผู้เขียนจะยกมาบางส่วนดังนี้

แนวทางการปฏิบัติด้านสวัสดิภาพสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม สัตว์เลี้ยง และสัตว์มีชีวิตอื่น ของเรานั้นครอบคลุมถึงเรื่องการผสมพันธ์ุ การเลี้ยง การขนส่ง และ (หากเกี่ยวข้อง) การเชือด โดยแนวทางการปฏิบัตินี้กำหนดขึ้นตามหลักอิสระ 5 ประการของ Farm Animal Welfare Council (FAWC) (สภาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม ประเทศอังกฤษ) อันได้แก่

อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst)

อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort)

อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย (Freedom from pain, injury and disease)

อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior)

อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress)

เราทำงานร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ทำประมงของเราอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรลุเป้าหมายของหลักการเหล่านี้ รวมถึงการร่วมงานกับนักวิจัย สัตวแพทย์ และองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) ด้านสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อหาวิธีการรักษามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้อยู่ระดับสูงเท่าที่เราจะทำได้ในห่วงโซ่อุปทานของเรา เราทำการทบทวนและปรับปรุงกรอบการทำงาน กระบวนการ และแนวทางปฏิบัติงานต่าง อยู่เสมอเพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ และเพื่อสนับสนุนคู่ค้าที่เป็นผู้เลี้ยงสัตว์และคู่ค้าที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของเราด้วย

ในรายงานเรื่องลิงขึ้นมะพร้าวของพีต้า ซึ่งมีทั้งภาพและคลิปวิดีโอ พีต้าอ้างว่าลิงเหล่านี้ถูกพรากจากครอบครัวตั้งแต่แบเบาะ นำมาใส่ปลอกคอเหล็ก ถูกบังคับให้ขึ้นต้นมะพร้าวราวกับว่าเป็นเครื่องจักรและขังในกรงแคบๆ ลิงหลายตัวเครียดจนกลายเป็นบ้า มะพร้าวที่ลิงเก็บอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรายใหญ่สองแห่ง ทั้งหมดนี้พีต้าบอกว่านักสืบได้ข้อมูลจากการลงพื้นที่สวนมะพร้าวแปดสวน โรงเรียนสอนลิงขึ้นมะพร้าวมากกว่าหนึ่งแห่ง และงานประกวดลิงขึ้นมะพร้าว

ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การใช้แรงงานสัตว์ แต่อยู่ที่การใช้แรงงานสัตว์ในทางที่ขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์สากล

ในเมื่อทั้งคลิปวิดีโอและเนื้อหาในรายงานของพีต้ามีมูลว่าอาจละเมิดนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ของผู้รับซื้อสินค้า บริษัทค้าปลีกอย่างเทสโก้ที่มีนโยบายด้านนี้จึงต้องทำตามนโยบายของตัวเองโดยเอาสินค้าที่อาจมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมนี้ลงจากหิ้งชั่วคราว จนกว่าคู่ค้า (บริษัทไทยผู้ส่งออก) จะชี้แจงได้ว่าสินค้าของตัวเองไม่ได้มาจากสวนแบบนี้ และไม่สนับสนุนการกระทำเช่นนี้

ถ้าบริษัทค้าปลีกไม่เอาสินค้าลงจากหิ้ง ก็เท่ากับว่าละเลยนโยบายของตัวเอง ผู้บริโภคก็จะไม่พอใจและมาเรียกร้อง ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงไทยหลายปีก่อนหน้า

2.การยืนยันว่ามีส่วนน้อยมากที่เป็นปัญหา ไม่ช่วยอะไร สิ่งที่ช่วยได้คือการวางระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) และรายงานความคืบหน้ารายปี

ย้อนไปราวปี .. 2558 ตอนที่บริษัทอาหารทะเลไทยหลายเจ้าเผชิญกับการนำสินค้าลงจากหิ้งของเทสโก้และห้างใหญ่อีกหลายเจ้าในยุโรป เพราะมีรายงานข่าวว่ามีการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงไทย ผู้เขียนจำได้ว่าผู้ประกอบการบางรายพยายามตอบโต้เรื่องนี้ด้วยการอธิบายว่า เรือที่ใช้แรงงานทาสคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของเรือประมงทั้งหมด คล้ายกับวันนี้ที่หลายคนบอกว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยนั้นวันนี้ใช้ลิงคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของมะพร้าวทั้งหมดที่ส่งเข้าอุตสาหกรรม 

ต่อให้คำอธิบายเช่นนี้เป็นจริง ก็ไม่ทำให้ลูกค้าสบายใจ เพราะเขาไม่มั่นใจอยู่ดีว่าผลิตภัณฑ์กล่องที่หยิบมาดูจากหิ้งนั้นมาจากเรือประมงหรือสวนที่มีปัญหาหรือไม่ (ต่อให้เป็นส่วนน้อยของเรือประมงหรือสวนทั้งหมดก็ตาม)

ลองคิดดูว่า ถ้าเราไม่อยากสนับสนุนบริษัทที่มีส่วนสร้างมลพิษ อาทิ ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เรามองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เวลาเราเดินเข้าห้างแล้วเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ ถ้าบริษัทอ้างว่าวัตถุดิบจากไร่ที่มีการเผานั้นคิดเป็นส่วนน้อยมากๆ ของไร่ทั้งหมดที่เรารับซื้อ ไร่ส่วนใหญ่ที่ขายให้เราไม่มีการเผาเราก็คงจะยังไม่สบายใจ ไม่อยากอุดหนุนอยู่ดี (นี่เป็นกรณีสมมติเท่านั้น ในความเป็นจริงผู้บริโภคไทยยังไม่ตื่นตัวกับประเด็นนี้เท่าที่ควร ยังไม่มองพลังของตัวเองในฐานะผู้บริโภคว่าทำอะไรได้บ้าง

ในเมื่อประเด็นสวัสดิภาพสัตว์เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคหลายประเทศให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะยุโรป ถ้าเราอยากจะขายของให้เขาอยากซื้อต่อไป การอ้างปากเปล่าว่าสวนที่มีปัญหาคิดเป็นส่วนน้อยย่อมไม่เพียงพอ สิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามากกว่าก็คือ การวางระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์กล่องที่ผู้บริโภคกำลังตัดสินใจซื้อนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจุดที่มีปัญหา

ล่าสุด หลังจากที่หารือกับบริษัทผู้ส่งออกและองค์กรพิทักษ์สัตว์ กระทรวงพาณิชย์ก็ประกาศว่าจากนี้ไป[บริษัทผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว]จะมีการกำหนดมาตรการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน ที่ผลิตภัณฑ์กล่องหรือบรรจุภัณฑ์ว่าผลิตจากมะพร้าวมาจากสวนไหน มีการใช้แรงงานลิงหรือไม่ โดยใส่รหัสลงบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดลงไปเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

นี่คือทิศทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และเมื่อดูแนวโน้มที่การเรียกร้องเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน (ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน) น่าจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ในฐานะจริยธรรมสากลของการค้าสมัยใหม่ การคิดเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ มาตรฐานความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ส่งออกในไทยต้องเตรียมพร้อมและประสานงานกับภาครัฐเพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เราย่อมอยากพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในทางที่ไม่ละเลยเกษตรกรรายย่อย ชาวสวนรายย่อย ชาวประมงรายย่อย และคู่ค้ารายย่อยอื่นๆ หรือทำให้พวกเขาเดือดร้อนหรือต้องแบกต้นทุนที่สูงเกินควร จากการต้องพัฒนาตัวเองให้ทำตามมาตรฐานความยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ 

3.ความสำคัญของการแบ่งความรับผิดชอบตลอดสายโซ่อุปทาน เพื่อให้ทุกฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในเมื่อเราคงไม่อยากยกระดับการผลิตในทางที่ทำให้ชาวสวนหรือคู่ค้ารายย่อยเดือดร้อนจนหมดหนทางทำกิน (เช่น ตั้งมาตรฐานความยั่งยืนไว้สูงลิบจนไม่มีใครทำตามได้) เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการหาวิธีแบ่งความรับผิดชอบตลอดสายโซ่อุปทาน เช่น ผู้ผลิตรายใหญ่หรือบริษัทส่งออกเสนอแรงจูงใจเพิ่มเติมในแง่พรีเมียม (premium) ให้คู่ค้ารายย่อยอย่างชาวสวนเพื่อยกระดับการผลิต รายใหญ่ที่สายป่านยาวกว่าควรรับผิดชอบมากกว่ารายเล็ก (ดังเช่นตัวอย่างมาตรฐานความยั่งยืนชื่อ C.A.F.E ของสตาร์บัคส์

ภาครัฐเองก็ควรมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมการผลิตที่ตรงตามหลักสากล ในกรณีนี้หมายถึง การเลี้ยงลิงขึ้นมะพร้าวในทางที่สอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ สัตวแพทย์ รวมถึงชมรมผู้เลี้ยงลิงและโรงเรียนฝึกลิง นอกจากนี้ก็ควรให้ข้อมูลกับชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องถึงวิธีเลี้ยงลิงของชาวสวน ความรักความผูกพันที่มีต่อลิง

การวางแนวปฏิบัติการเลี้ยงลิงที่มีกลไกตรวจสอบกันเอง (self-regulation) ในบรรดาผู้เลี้ยงนั้น ถ้าทำได้จริงก็น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แก้ปัญหาที่รากสาเหตุ ลูกค้าก็จะสบายใจว่าไม่มีการทรมานลิงและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ มากกว่าการประกาศว่าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวจะไม่ใช้แรงงานลิงในทุกกรณี

ถ้าเรารักชาติจริงๆ เราควรจะอยากให้ผู้ประกอบการในชาติเราพัฒนาการทำธุรกิจ คู่ค้ารายย่อยรักษาวิถีชีวิตประเพณีดั้งเดิมในทางที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า (และไม่ต้องไปเที่ยวหาลูกค้ารายใหม่ที่ไม่สนใจเรื่องนี้) ไม่ใช่การก่นด่าลูกค้าอย่างคลั่งชาติว่าเขาโง่ ไม่เข้าใจวัฒนธรรม กุเรื่องเท็จ ธุรกิจกับวัฒนธรรมของเราดีงามแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น

เพราะเราก็น่าจะอยากเห็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่น่ารักและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทยดำรงอยู่ต่อไป ในทางที่สอดคล้องและไปด้วยกันได้กับจริตของผู้บริโภคในศตวรรษที่ 21

Tags: ,