หน่วยยามชายฝั่งของบังกลาเทศ เข้าช่วยเหลือเรือหาปลาที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจำนวน 382 คน เข้าเทียบท่าที่ชายหาดเมืองเทคนาร์ฟ ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กที่หิวโหย ร่างกายซูบผอม และบางคนไม่มีเรี่ยวแรงที่จะยืน ทั้งนี้ พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลนานถึง 58 วัน และมีผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้แล้วกว่า 30 คน
นาวาตรี โซเฮลล์ รานาห์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มาตรการชายฝั่งทุกประเทศเข้มงวดขึ้น เรือลำนี้จึงถูกปฏิเสธเมื่อขอเทียบท่าที่มาเลเซียสามครั้ง หลังจากได้เข้าเทียบท่าที่บังกลาเทศ ก็ได้ส่งชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ให้สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ดูแลต่อแล้ว
หลุยส์ โดโนแวน ตัวแทนจาก UNHCR กล่าวว่าจะมีการกักตัวพวกเขา 14 วัน และถ้าไม่มีอาการของโรคโควิด-19 จะส่งพวกเขากลับไปที่ค่ายอพยพของชาวโรฮิงญา ในบังกลาเทศ
ทั้งนี้ ทางการบังกลาเทศจะทำการสืบสวนเพิ่มเติมว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้เดินทางมาจากที่ใดกันแน่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาเดินทางมาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา
ดาการ์ ทริบูล สื่อท้องถิ่นของบังกลาเทศรายงานว่า จำนวนชาวโรฮิงญาที่โดยสารบนเรือ ไม่ใช่ 382 คน แต่มีมากกว่า 500 คน และให้ความเห็นว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้น่าจะเดินทางมาจากค่ายผู้อพยพโรฮิงญา บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ เพื่อมุ่งหน้าไปมาเลเซีย
เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียพบเรือลำหนึ่งลอยอยู่บริเวณน่านน้ำของตน ซึ่งเป็นเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาถึง 200 คน ทั้งนี้ นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่ายังมีเรือของชาวโรฮิงญาที่เทียบท่าไม่ได้อีกหลายลำ เพราะมาตรการตอบโต้โรคโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้สำนักข่าวรอยเตอร์ยังได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียและไทย ซึ่งได้รับรายงานคล้ายกันว่า มีเรือหลายลำลอยอยู่ในทะเล เทียบท่าไม่ได้
รายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2018 ชี้ว่าการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2017 โดยกองทัพเมียนมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน หมู่บ้านถูกเผา 400 หมู่บ้าน ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน ต้องเดินทางข้ามไปบังกลาเทศ ในช่วงต้นปีนี้ แกมเบียได้ฟ้องร้องเมียนมาต่อศาลโลกในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้ล่าสุด ศาลโลกตัดสินให้รัฐบาลเมียนมาต้องใช้ทุกมาตรการเพื่อปกป้องชาวโรฮิงญา และส่งรายงานกลับมาภายใน 6 เดือน
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/world-asia-52305931
https://workpointnews.com/2018/09/21/un-รายงานสถานการณ์ฆ่าล้า/
รูป Suzauddin RUBEL / AFP
Tags: บังกลาเทศ, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, โรฮิงญา